ถาม:  จะบวชที่วัดสระเกศ
      ตอบ :  ดี ทำให้ดี จำไว้ว่าสถานที่ที่ดี ผู้นำสถานที่ดี แต่บุคคลในสถานที่นั้นไม่แน่ว่าทั้งหมดจะดี อย่าตั้งความหวังไว้สูง ถ้าตั้งความหวังไว้สูงเข้า ไปเจออะไรไม่ชอบมาพากลจะฝ่อตายเอง จำไว้เลยว่าอย่ายุ่งเรื่องของคนอื่น ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด บวชทั้งทีให้ได้บุญได้กุศลให้มากที่สุด การบวชไม่ได้อยู่ที่เวลา อยู่ที่การปฏิบัติ อานิสงส์ของการบวชทันทีที่ญัตติเสร็จ คู่สวดประกาศ อุปสัมปันโน สังเฆนะ" บัดนี้บวชเป็นสงฆ์เรียบร้อยแล้ว อานิสงส์เต็มแล้ว สึกตอนนั้นได้บุญเต็มแล้ว คราวนี้สำคัญตรงอยู่ต่อ อยู่ต่อทำดีก็กำไร ถ้าอยู่ต่อทำชั่วก็กินไปเรื่อย ถ้าหากกาว่าความชั่วมากมันกินทุกวัน หมดก็เจ๊งเลย ตอนนี้ท่องคำขานนาคอะไรหรือยัง นวโกวาท ศีลพระใหม่มีไหม ? ไม่มีรีบไปหามาอ่านเข้าไว้ คุณจะเป็นหรือจะตายอยู่ตรงนั้นแหละ สองร้อยกว่าข้อ โดยเฉพาะสิบเจ็ดข้อแรกพลาดเมื่อไร เจ๊งเมื่อนั้น สี่ข้อแรกถ้าพลาดขาดความเป็นพระเลย บวชอยู่ก็ไม่ใช่พระ สึกไปบวชใหม่ก็ไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านห้ามเลย แล้วอีกสิบสามข้อถัดมา ถ้าโดนขาดความเป็นพระชั่วคราว จนกว่าจะได้รับการลงโทษแล้วสงฆ์ ๒๐ รูปขึ้นไปสวดคืนความเป็นพระให้ ถึงจะกลับมาเป็นพระอีกครั้งหนึ่ง
              เพราะฉะนั้น...๑๗ ข้อแรกระวังให้หนัก อย่าให้โดน ที่เหลือรอง ๆ ลงไปโอกาสพลาดมี แต่อย่าปล่อยให้ค้างคืน ถ้าพลาดรีบแสดงอาบัติเสีย อย่าให้ค้าง ถ้ากลางคืนตายเสียก่อนแล้วจะยุ่ง ถ้าตายไปอาบัติคาตัวซวยแหง ๆ อยู่แล้ว ทวนไว้ทุกวัน ๆ อันไหนอ่านแล้วไม่เข้าใจ ถามพระที่ท่านรู้ เพราะว่าภาษาในนวโกวาทเป็นประเภทต้องแปลไทยเป็นไทย ภิกษุแกล้งฆ่ามนุษย์ให้ตาย ต้องอาบัติปาราชิก "แกล้งฆ่า" ฟังแล้วมึนไหม ตั้งใจฆ่านั่นแหละ แกล้งฆ่าแกล้งทำ เพราะฉะนั้น...อ่านแล้วไม่เข้าใจ ไม่มั่นใจ ตีความแล้วจะถูกหรือไม่ถูกถามอาจารย์ แต่ว่ารีบ ๆ อ่านเอาไว้ รีบ ๆ ทวนเอาไว้
      ถาม :  ..................
      ตอบ :  คนเราจะได้เกิดเป็นมนุษย์ก็แสนยาก เกิดเป็นมนุษย์แล้วจะได้พบพระพุทธศาสนาก็แสนยาก พบพระพุทธศาสนาแล้วจะมีโอกาสฟังธรรมก็แสนยาก ฟังธรรมแล้วจะเลื่อมใสก็แสนยาก เลื่อมใสแล้วจะตั้งใจบวชก็แสนยาก ตั้งใจบวชจะมีคุณสมบัติให้ครบบวชก็แสนยาก อย่างน้อย ๆ คุณต้องมีอายุ ๒๐ ปี ถึงจะบวชได้ ๒๐ ปีนี่สมมติแค่มีโอกาสตายวันละครั้งล่อเข้าไปเท่าไรแล้ว เจ็ดแปดพันครั้งเข้าไปแล้ว รอดมาจนอายุครบบวชได้ก็สุดยอดแล้ว ยังต้องมีอวัยวะสมบูรณ์ครบถ้วนไม่บกพร่องพิการอีกล่ะ สรุปแล้วแหม...หลายแสนเหลือเกินกว่าจะบวชได้ แล้วอย่าไปล็อกตัวเอง ประเภทผมบวชแล้วจะไม่สึก โอ้โฮ...กิเลสชอบ มันกัดตายเลย ตั้งใจไว้เลยว่า "ถ้าอยู่ไม่ได้ กูจะสึก" นั่นน่ะสบายใจ อยู่ไปเรื่อย ๆ ยังสบายใจก็อยู่ ถ้าหากว่าไม่สบายใจแล้วค่อยไป ถ้าเราไม่ปิดช่องตัวเองอย่างนั้น ทำอะไรเรายาก ประเภทตั้งใจแล้วจะไม่สึก ตายเลย
              วัดท่าซุงเกือบจะเพี้ยนไปองค์หนึ่งแล้ว ไอ้นั่นเป็นรุ่นน้องหลายพรรษา ห่างกันประมาณ ๔-๕ พรรษา คราวนี้พอใกล้ออกพรรษาจะมีการถ่ายรูปเป็นที่ระลึก เขาจะนิมนต์หลวงพ่อลงมาถ่ายรูปร่วมกัน คราวนี้ก็จะรูปสองรูปเท่านั้น เพราะว่าถ่ายเผื่อกันเสียอยย่างเก่งก็ไม่เกินสามรูปใช่ไหม ฟิล์มก็เหลือเยอะ พระใหม่แต่ละปีนั้นจะเป็นเจ้าภาพรุ่นก็ถ่ายรูกันเอง เจ้านั่นไปถ่ายรูปหน้ารูปหล่อหลวงปู่ปาน อธิษฐานว่า "ถ้ามีปาฏิหาริย์เกิดขึ้นในภาพ จะไม่สึก" โอ้โฮ...เจ้าประคุณเอ๋ย ดวงแสงดวงเบ้อเริ่มคลุมไปตั้งครึ่งค่อนภาพ คราวนี้อยากสึกคิดมาจนประสาทกินเลย โบราณเขาบอกแล้ว ฝนจะตก แดดจะออก พระจะสึก ขี้จะแตก ห้ามกันไม่ได้ คราวนี้ใจไปแล้ว ดันไปติดคำปฏิญาณว่ากูจะไม่สึก ซวยไหมล่ะ เกือบบ้า
              เพราะฉะนั้น...อย่าไปล็อกตัวเองแบบนั้น ตั้งใจก็ตั้งใจเงียบ ๆ ในใจ อย่าดันไปประกาศให้มีพยาน เดี๋ยวจะซวย ถ้าไม่มีพยานเราจะแอบสึกเมื่อไรก็ไม่มีใครว่า มีพยาน อ้าว...ไหนมึงว่า ไม่สึก ยุ่งเลย
      ถาม :  .............................
      ตอบ :  หลวงพ่อสมเด็จท่านไม่มีเวลามาสอนพวกเรามากนักหรอก แต่ว่าพระระดับนั้นส่วนใหญ่แล้วท่านจะทำตัวท่านเป็นตัวอย่าง ปฏิปทาใดที่เราเห็นว่าดีว่าเหมาะว่าสม ก็เลียนแบบทำตามไป ไม่เป็นการวัดรอยเท้าครูบาอาจารย์ เพราะรอยเท้าครูบาอาจารย์ถ้าใครไม่วัดเอาดีได้ยาก พระอรหันต์ทุกรูปต้องวัดรอยเท้าพระพุทธเจ้าไม่อย่างนั้นจะหมดกิเลสได้อย่างไร ปฏิปทาอะไรที่เราเห็นแล้วชอบใจก็ทำ พระระดับนั้นท่านไม่มาพร่ำสอนหรอก ส่วนใหญ่ทำองค์ท่านให้เป็นแบบอย่างของเราเท่านั้น
      ถาม :  สุภาพสตรีบวชพระไม่ได้ ทำอย่างไรดีครับ ?
      ตอบ :  เป็นเจ้าภาพบวช เจ้าตัวบวชได้อานิสงส์ ๖๐ กัป พ่อแม่ของคนที่บวชได้อานิสงส์ ๓๐ กัป คนเป็นเจ้าภาพ ๑๕ กัป เป็นเจ้าภาพบวชสัก ๑๐ องค์เยอะกว่าบวชเองอีก ๑๐ องค์ล่อไป ๑๕๐ แล้ว คนบวชเองได้แค่ ๖๐ เอง ไม่ต้องไปน้อยใจหรอก เป็นเจ้าภาพบวชให้เยอะ ๆ ถึงเวลาก็ร่วมไปด้วย ๒๐ บาท ๓๐ บาท ๕๐ บาท ร่วมเป็นเจ้าภาพบวชจ้ะ เสร็จเรา บาชเท่าไรเราอยู่เฉย ๆ คว้าไปซะ ๑๕ กัปแล้ว
      ถาม :  ..............................
      ตอบ :  เป็นพระทำดีทำชั่วคูณด้วยแสนทั้งนั้น ฆราวาสฆ่าปลาวันละตัว สมมติว่ามีอายุยืน ๑๐๐ ปี ฆ่าไปสามหมื่นกว่าตัว ตกอเวจีมหานรก ของพระไม่ต้องขนาดนั้นหรอก ตัวเดียวเรียบร้อยเลย แต่ถ้าทำดีคูณด้วยแสนเหมือนกัน เพราะฉะนั้น...ตอนช่วงนั้น ทาน ศีล ภาวนา ว่าให้เต็มที่ไปเลย ทำตัวเป็นคนหิว หิวบุญ หิวความดี ถึงเวลากอบโกยให้เยอะเข้าไว้ ใครจะว่าติดบุญก็ช่าง ติดในสิ่งที่เป็นมงคล คนเราถ้าไม่มีอะไรให้ยึดให้เกาะ ไม่มีอะไรจะปล่อยจะวางหรอก ต้องมีสิ่งที่ยึดที่เกาะอยู่ ถึงจะปล่อยได้วางได้ คนเราขึ้นบันไดต้องเกาะราวบันได พอถึงเวลาเข้าห้องมีใครแบกราวบันไดเข้าไปบ้าง ปล่อยตั้งแต่ปากทางจะเข้าแล้ วถ้าหากว่าทำเต็มจะปล่อยได้เอง ยังไม่เต็มต้องเกาะไว้ก่อนประกันความเสี่ยง กันหล่นปุ๊ลงไป อย่างไร ๆ เกาะดียังดีกว่าเกาะชั่ว
      ถาม :  .................................
      ตอบ :  การฝึกมโนมยิทธิให้มีแนวทางเสียหน่อยแล้วฝึกเอง มโนมยิทธิพึ่งครูฝึกอย่างเดียไม่ได้ เจอมาเยอะต่อเยอะด้วยกัน อยู่ต่อหน้าครูฝึกทำได้ กลับไปบ้านไม่เป็นมวยเลย นั่นมัวแต่อาศัยเขาอย่างเดียว มโนมยิทธิพอได้แนวทางมาแล้ว เราต้องมาฝึกซ้อมด้วยตัวเอง ต้องซ้อมบ่อย ๆ ทำแล้วทำอีก ย้ำแล้วย้ำอีก พิสูจน์จนกระทั่งมั่นใจว่าอารมณ์ไหนถูกต้อง แล้วใช้ให้คล่องตัวอย่างนั้น
      ถาม :  ตอนกำลังภาวนา ถ้าเกิดเราหลุดคำภาวนาไป เราไม่ต้องดึงกลับมาใช่ไหมครับ ?
      ตอบ :  ถ้าหากว่าครูยังไม่สั่งให้เลิกก็ว่าต่อไป แต่ถ้าตอนสั่งให้เลิกต้องเลิกจริง ๆ ส่วนใหญ่พวกเรามีพื้นฐานการภาวนามาแล้ว ตัวนี้พาให้เสีย ฝึกมโนมยิทธิได้ยาก มโนมยิทธิมีอยู่ ๒ อย่างด้วยกัน อย่างหนึ่งไปด้วยกำลังของอุปจารสมาธิ อย่างหนึ่งไปด้วยกำลังของฌาน ๔ เหมือนกับมีห้องอยู่ ๒ ห้อง ข้างบนกับข้างล่าง ห้องชั้นบนกับห้องชั้นล่างเหมือนกันทุกอย่าง ห้องข้างบนคือฌาน ๔ ห้องชั้นล่างคืออุปจารสมาธิ แต่คราวนี้พอเรามีพื้นฐานของการภาวนาอยู่ พอเริ่มภาวนาจิตจะเริ่มเป็นสมาธิ อาจจะเป็นฌาน ๑ ฌาน ๒ อะไรอย่างนี้ แต่ไม่ถึงฌาน ๔ เท่ากับว่าคุณอยู่ระหว่างทางที่เป็นบันได คุณจะไปเห็นกับแมวอะไร...!
              เพราะฉะนั้น...เวลาท่านบอกให้เลิกภาวนาทำใจให้สบาย ๆ คือเราลดกำลังใจให้อยู่ที่อุปจารสมาธิ ถ้าเราไม่ลด ไม่ได้เห็นหรอก ถ้าอยากจะเห็นชัดจริง ๆ ไม่ลดก็ต้องตะกายเพิ่มให้ได้ฌาน ๔ ไปเลย ส่วนใหญ่พอบอกให้ลดแล้วไม่อยากจะเลิก สบายใจอยู่ก็ภาวนาไปเรื่อย ภาวนาไปเรื่อยแล้วพอเขาถามว่า "รู้ไหม ?" "เห็นไหม ?" ไม่รู้ไม่เห็นทั้งนั้นแหละ
      ถาม :  ปกติที่ฝึกมาคือจะไม่มีคำบริกรรม คืออยู่กับลมหายใจ หรืออยู่กับการเคลื่่อนไหวตลอด แล้วพอเรานั่ง ๆ ไป คำบริกรรมหายไป เราไม่ต้องดึงกลับมา ?
      ตอบ :  ไม่จำเป็น ของเราเอาแค่ความสบายใจเฉพาะหน้าตอนนั้น กำหนดใจเบา ๆ สบาย ๆ เหมือนเราจะคุยกับใครสักคนหนึ่ง ใส่ความตั้งใจไปนิดเดียวแล้วนึกถึงภาพพระเอาไว้ หรือไม่นึกก็กำหนดใจตามครูฝึกที่เขามานั่งข้างหน้าเรา
      ถาม :  ......................
      ตอบ :  มีอยู่จุดหนึ่ง เวลาไปวัดไปวาเห็นไหมว่าเขาวางผ้าเหลืองไว้ให้เช็ดเท้า พยายามเลี่ยงซะ อย่าไปเช็ดเลย หาอย่างอื่นเถอะ ผ้าเหลืองเป็นธงชัยพระอรหันต์ ถ้าเราเอาเช็ดเท้าแสดงว่าจิตของเราหยาบ คือเราไม่เห็นโทษตรงจุดนั้น ในเมื่อจิตของเราหยาบพอที่จะทำอย่างนั้นต่อไป เดี๋ยวก็ทำเรื่องที่น่าเกลียดน่าชังหนักกว่านั้นได้ เลี่ยง ๆ ไปซะ
              อย่างของอาตมา สมัยอยู่เกาะพระฤๅษี เจ้าประคุณเถอะ โยมเห็นนั่งร้องไห้เลย ไม่ใช้ผ้าเหลืองเช็ดเท้า คราวนี้ผ้าอื่นไม่มีเล่นผ้าขนหนู Cotton ใหม่เอี่ยมเลย (หัวเราะ) คืออย่างเราเราก็หลีกเลี่ยงเรื่องผ้าเหลืองไว้ ผ้าขนหนูไม่เป็นไร แต่เป็นผ้าสบงจีวรขอเถอะ คือลักษณะของผ้ากาสาวพัตร์อย่าไปเช็ดเท้าเลย ถ้าเราอ่านในพระไตรปิฎกที่พระอานนท์ท่านบอกว่า "สุดท้ายใช้เป็นผ้าเช็ดเท้า" ถ้าหมดสภาพจริง ๆ ท่านขยำกับดินเพื่อเอาไว้ยาข้างฝา อย่างนั้นที่ท่านเช็ดเท้าได้ เพราะหมดสภาพจริง ๆ ไม่มีสีสันเหลือให้รู้แล้ว แล้วของท่านเป็นผ้าจีวร เอาไว้เป็นผ้าปูนอน เอาไว้เป็นผ้าปูนั่ง เอาไปดาดเพดานกันฝุ่น จนกระทั่งหมดสภาพจริง ๆ ก็กลายเป็นผ้าขี้ริ้ว พอกลายเป็นผ้าขี้ริ้วหมดสภาพอีก ทำอะไรไม่ได้แล้วขยำกับดินแปะข้างฝา เพราะส่วนใหญ่กระต๊อบสมัยก่อนที่ท่านทำกุฏิก็มีร่องมีรูอยู่ ถึงเวลาอากาศร้อนอากาศหนาวมันเข้าได้ ท่านก็ยาด้วยดินเพื่อป้องกันอากาศ ใช้วิธีขยำเศษผ้าลงไปด้วย
              ของเรานี่แหม...ใหม่เอี่ยมเลย บางอันยังไม่ได้ซังลงแป้งแข็งเป๊๊กเลย เอาไว้เช็ดเท้ากันแล้ว พระพุทธเจ้าวางรูปแบบไว้ให้พวกเราเป็นภิกษุ คือผู้ขอ หมายความว่าเราเป็นขอทาน ในเมื่อเป็นขอทาน ทุกอย่างที่ได้มาด้วยศรัทธาของคนที่ให้ ต้องอยู่ในลักษณะนุ่งเจียมห่มเจียม หมายความว่า ประหยัดที่สุดเท่าที่จะประหยัดได้ โดยระลึกอยู่เสมอว่า เราขอย่อมเป็นผู้ที่ถูกรังเกียจ ถ้าผู้ให้จะเป็นผู้ที่รัก ผู้ที่ได้รับความรัก คราวนี้ในเมื่อคนอื่นเขาอาจจะรังเกียจแล้ว ไม่สงเคราะห์เราเมื่อไรก็ได้
              เพราะฉะนั้น...ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้มาต้องใช้อย่างทะนุถนอม ใช้แบบประเภทกลัวจะไม่ได้อีก ไม่ใช่สมัยนี้ผ้าหาง่าย กูทิ้งมันรอบวัดเลย สมัยก่อนอยู่วัดท่าซุงบางองค์มี ๔-๕ ชุด ในกุฏิชุดหนึ่ง หอฉันชุดหนึ่ง ห้องกรรมฐานชุดหนึ่งอย่างนี้ ของเราบางครั้งเห็นวางเกะกะรำคาญตา เก็บซะเรียบเลย จะดัดสันดานให้รู้ ปรากฏว่าไม่รู้หรอก วิ่งไปคว้าชุดใหม่เพราะมีเยอะ กลายเป็นยิ่งดัดยิ่งเละ
              สมัยนี้ทุกอย่างหาง่ายสะดวกสบายแต่ไม่ได้หมายความว่าให้เราฟุ่มเฟือยนะ พระที่วัดมีอยู่องค์หนึ่ง หลวงตาปรีชาท่านบวชตอนอายุมากแล้ว ท่านบอกอยู่ครั้งหนึ่งว่า "อาจารย์ครับ ถึงระดับนี้แล้วอาจารย์ต้องการอะไรก็ได้อย่างนั้น ทำไมจึงทำเหมือนเจียมตัวมากเลยครับ" บอกว่า "หลวงตาครับ เราเป็นขอทานนะครับ ขอทานถ้าทำตัวรวยมันทุเรศไหมล่ะ" เพราะฉะนั้น...ต้องระวังให้ดีทุกอย่าง อย่าให้เผลอกลายเป็นการบำรุงบำเรอความสุขของตัวเรา พวกข้าวของเครื่องใช้อะไรต่าง ๆ ให้จำเป็นจริง ๆ ไม่ใช่ไม่จำเป็นแต่อ้างว่าจำเป็นแล้วก็หามา อย่างพวกเครื่องเสียง วิทยุ โทรทัศน์ ซีดี เทป ไม่จำเป็นหรอก เห็นเมื่อไรฟุ้งซ่านเรื่องทางโลกเมื่อนั้น
              สมัยอยู่เกาะพระฤๅษีประท้วงอยู่เรื่อย "อาจารย์ครับ ลงจานซักใบเถอะครับ" บอกว่า "กูซื้อมา ๑๐ โหลไม่พอใช้หรืออย่างไร" มันจะเอาจานดาวเทียม เราก็แกล้งโง่าจานข้าว สั่งมาตั้ง ๑๒๐ ใบ บอกเขาว่า "ตอนแรกคุณอ้างว่าจะดูข่าว ผมเผลอเมื่อไรคุณก็ดูละคร ดูข่าวดูละครแล้วไม่สะใจ แล้วคุณก็หาวีดีโอมา ดูพวกหนังโน่นหนังนี่ไป สมัยนี้ไม่ค่อยเซ็นเซอร์ซะด้วย เดี๋ยวคุณก็พัง ตัดซะไม่มีหมดเรื่อง"
              ที่วัดท่าซุงสมัยหลวงพ่ออยู่มีโทรทัศน์อยู่ ๖ เครื่อง อยู่ที่หน้าตึกริมน้ำ ๒ เครื่อง อยู่ตรงห้องยามเครื่องหนึ่ง อยู่ในห้องหลวงพ่อเครื่องหนึ่ง อยู่ที่ตึกธรรมวิโมกข์ ๒ เครื่อง ไว้สำหรับสอนกรรมฐาน แล้วก็อยู่ที่วิหาร ๑๐๐ เมตร ๒ เครื่อง แต่พอสิ้นหลวงพ่อแล้วหลังงาน ๑๐๐ วัน อาตมาออกจากวัดไปแปดเดือน ย้อนกลับไปเห็นเสาโด่เด่เกือบทุกกุฏิเลย ตอนสมัยหลวงพ่ออยู่มีแค่นั้น บางครั้งพระท่านมาถึง "หลวงพี่ครับ ผมขออนุาตเปิดโทรทัศน์นะครับ" "เออ...เรานอนภาวนาของเราอยู่อย่างนั้น เออ...เปิดเถอะไม่เป็นไรหรอก" เดี๋ยว ๆ มา "หลวงพี่ครับ ขออนุญาตเปิดโทรทัศน์ครับ" "เออ...เปิดเถอะ" ไป ๆ มา ๆ พระท่านทนไม่ไหว นอนเฝ้าแท้ ๆ ไม่ได้ดู ท่านก็ถาม "หลวงพี่ไม่ดูโทรทัศน์หรือครับ ?" "ที่บ้านจนไม่มีว่ะ...!" ประชดมัน ไม่รู้มันรู้ตัวหรือเปล่าก็ไม่รู้ บอกที่บ้านจนไม่เคยมี...! (หัวเราะ)
      ถาม :  การพิจารณาอาหารทำอย่างไรถึงจะสมบูรณ์แบบครับ ?
      ตอบ :  ถ้าเอาถึงชนาดสมบูรณ์แบบเลยยุ่งนะ คือถ้าหากว่าพิจารณาเอาง่าย ๆ ตั้งใจว่า เ ราจะกินเพื่อยังอัตภาพร่างกายนี้ อยู่เพื่อปฏิบัติธรรมเท่านั้น จะไม่กินเพื่อความอ้วนพีของร่างกาย จะไม่กินเพื่อความผ่องใสของผิวพรรณ จะไม่กินเพื่อยั่วกำหนัดให้เกิดขึ้น เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยง เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด ร่างกายนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ กินไปก็ทุกข์ เพราะว่าอิ่มแค่ชั่วคราว เดี๋ยวหิวก็ทุกข์อีก แล้วในที่สุดก็สลายไปตายไป พังไปยึดถือมั่นหมายไม่ได้ ในเมื่อสภาพร่างกายไม่ดีอย่างนี้ ชาตินี้ถือเป็นชาติสุดท้าย กินก็ถือเป็นมื้อสุดท้าย ตายเมื่อไรเราไปนิพพาน
              แต่ถ้าคุณจะพิจารณาให้ละเอียดจริง ๆ ก็แยกแยะไป นี่เป็นเนื้อสัตว์ เนื้อสัตว์ย่อมประกอบด้วยเลือดด้วยคาว ขณะที่เป็นตัวสัตว์อยู่ก็มีอุจจาระปัสสาวะของมันเป็นปกติอย่างนี้ ถ้าหากว่าเป็นพืช พืชก็มีพื้นฐานมาจากสิ่งสกปรก คือบรรดาพวกปุ๋ย พวกซากพืชซากสัตว์อะไรต่าง ๆ บรรดาผลไม้ต่าง ๆ จริง ๆ คือของเน่า แต่คนเราฉลาดเอาตอนเน่ากำลังดีแล้วมากิน แล้วบอกว่าอร่อย แล้วทุกสิ่งทุกอย่างพอกินลงไปแล้วออกมาเป็นอุจจาระ เป็นปัสสาวะ มีส่วนไหนบ้างที่มันดี มันงามจริง มันสวยจริง มันหอมจริง มันอร่อยจริง ไม่มี...! พอออกจากร่างกายมาแล้วกระทั่งมองยังไม่อยากจะมอง อย่าว่าให้แตะ อย่าว่าให้ไปกินมันใหม่เลย ถ้าพิจารณาอย่างนี้ให้เห็นบ่อย ๆ บางครั้งกินอะไรไม่ลงไปนานเหมือนกัน พอพิจารณาอารมณ์ทรงตัวแล้ว อย่าลืม...ทิ้งตัวภาวนาไม่ได้นะ พอเห็นชัดเจนแล้วก็ภาวนาต่อเลย นิพพานัง สุขัง กูไปนิพพานแน่แล้ว ไม่มากินอีกแล้ว อารมณ์ใจทรงตัวขึ้นเต็มที่ เท่ากับกรรมฐานกองนั้น เราสามารถทำได้ที่สุดแล้ว ถ้าถึงเวลาพิจารณาใหม่ลักษณะเดียวกัน พออารมร์ถอยมาพิจารณาใหม่ พิจารณาเสร็จพออารมณ์ทรงตัว เราก็ภาวนาต่อให้อารมณ์ขึ้นถึงที่สุดไปเลย
      ถาม"ไท้เก๊ก" นับว่าเป็นสติปัฏฐานไหมครับ ?
      ตอบ :  นับว่าเป็นสติปัฏฐานในหัวข้อ "อริยาบถและสัมปชัญญะ" เพราะว่าถ้าเราไม่กำหนดรู้ การเดินลมปราณนัน้จะไม่เป็นไปตามที่ต้องการ กำลังที่ใช้ออกก็ดี อิริยาบถการเคลื่อนไหวก็ดี อาจจะสะดุดติดขัดและผิดพลาดได้
      ถาม :  พระฝึกได้ไหมครับ ?
      ตอบ :  ฝึกได้ แต่อย่าให้โยมเห็น คุณทำอะไรก็ปิดกุฏิเสียก่อน จะออกกำลังก็ปิดกุฏิเสียก่อน เพราะว่าจริง ๆ แล้วถ้าหากว่าร่างกายแข็งแรงจิตใจก็สมบูรณ์ เพราะฉะนั้น...ถ้าหากว่าร่างกายแข็งแรงจิตใจสมบูรณ์มั่นคงสามารถปฏิบัติธรรมได้ง่าย ออกกำลังเป็นปกติได้ แต่ว่าจริง ๆ แล้วถ้าหากว่าพระเดินจงกรมจริง ๆ ยิ่งกว่าออกกำลังอีก อาตมาเคยเดินประมาณตีสาม แล้วไปเลิกเอาทุ่มหนึ่งทุกวัน ๆ ต่อเนื่องกันแค่สองเดือนกว่าเท่านั้น ฝ่าเท้าแตกเดินไม่ได้เลย เดินตีสามไปเลิกเอาทุ่มหนึ่งประมาณวันละ ๑๖ ชั่วโมง ราว ๆ นั้น มีเวลากินอยู่แป๊บเดียว เดินภาวนาไปเรื่อย เพราะว่าตอนนั้นหลวงตาบัวท่านบอกว่า "พ่อ แม่ ครูบาอาจารย์ ท่านเดินจงกรมจนทางเดินจงกรมสึกตั้งครึ่งแข้ง" เราก็สงสัยเดินได้ลึกอะไรได้ขนาดนั้น ของเราเดินแค่สองเดือนกว่าลึกจริง ๆ แต่ไม่ถึงขนาดครึ่งแข้งเท่านั้น อ๋อ...ที่แท้ท่านเดินของท่านทั้งปีแล้วก็หลาย ๆ ปีด้วย จะไม่ได้ครึ่งแข้งอย่างไร เราเดินสองเดือนกว่ายังขนาดนี้แล้ว ตอนแรก ๆ ไม่รู้หรอกว่าฝ่าเท้าแตก มันเจ็บ ๆ คัน ๆ พอพลิกขึ้นมาดู อ้าว...บรรลัยแล้ว แตกตามรอยเส้นเท้าเลย ทนเดินต่อไปเรื่อย ๆ จนเจ็บเดินไม่ได้ เพราะว่าพวกเศษดินเข้าไปอุดด้วยก็ต้องพัก ตอนนั้นไปเน้นอิริยาบถเคลื่อนไหวมาก เน้นมากก็ลองดู
      ถาม :  ถ้าหากว่าปวดเมื่อยร่างกายปิดกุฏิทำกายบริหารโยคะได้ใช่ไหมครับ ?
      ตอบ :  ได้ พูดง่าย ๆ คือยอย่าให้โยมเขาเห็น เพราะว่าน่าเกลียด ถ้าหากว่าเขาวิพากษ์วิจารณ์โดยที่ไม่รู้ จะเป็นโทษกับเขาโดยใช่เหตุ เราเป็นนักบวชแล้วไม่ควรจะเป็นทุกข์เป็นโทษเวรภัยกับใคร ไม่ว่าจะด้วยกายด้วยวาจา ด้วยใจ ทำอะไรเมตตาโยมหน่อย ถ้าโยมเข้าใจเสมอตัว ไม่เข้าใจขาดทุนเลย