๔. ทาน ศีล ภาวนา


              วันนี้เป็นวันพระ วันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนยี่ ปีนี้เดือนยี่มาเร็วมาก เพราะว่าปีหน้ามี ๘ สองหน ในเมื่อเป็นวันพระ ก็ขอพูดเรื่องของพระ คือเรื่องของพวกเรากันเอง อยากจะบอกกับทุกคนว่า ขณะนี้พวกเราอยู่ในสถานภาพใหม่
              ทั้งผู้ที่บวชใหม่และผู้ที่บวชเก่าแล้ว ขอให้นึกว่าตัวเราเป็นผู้ใหม่ไว้เสมอ ไม่เช่น นั้นแล้ว ท่านจะประมาทในการปฏิบัติ หลวงพ่อตอกย้ำเราอยู่เสมอๆ ว่า
              “นิพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คะเหตวา เรารับผ้ากาสาวพัตร์นี้มา เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน”
              อย่าได้ลืมตรงจุดนี้เป็นอันขาดว่า ...เราบวชเพื่อพระนิพพาน...
              ส่วนใหญ่พวกเราพอบวชไปนานๆ แล้ว ด้วยการชักจูงของกิเลสตัณหา อุปาทานและอกุศลกรรมทั้งหมด เราก็จะเบี่ยงเบนไปจากจุดมุ่งหมายของตัว ลืมไปว่าวันแรกที่บวชจะบวชเพื่ออะไร ? ไปติดในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ไปคลุกคลีกับรัก โลภ โกรธ หลง อยู่เป็นปกติอันนั้นลืมตัว
              การที่เราฝึกในศีล ในสมาธิ ในปัญญา จุดที่สำคัญที่สุดก็คือการสร้างสติ สัมปชัญญะ สติ.. ความระลึกได้ สัมปชัญญะ.. รู้ตัวอยู่เสมอว่าเราเป็นอะไร เราทำอะไร
              การที่เราจะเป็นพระหรือไม่เป็นพระ อยู่ที่การปฏิบัติของเราเอง สมัยก่อนบวชเราไหว้พ่อ ไหว้แม่ ไหว้ผู้ใหญ่ พอบวชเข้ามาปุ๊บ พ่อแม่ก็ดี ผู้ใหญ่ก็ดี กราบเราไหว้เรา เรามีอะไรดี ท่านถึงมากราบมาไหว้เรา เลี้ยงท่านก็เลี้ยงเรามา อบรมสั่งสอนเรามา ไม่ว่าวัยวุฒิ คืออายุ คุณวุฒิ คือความรู้ความสามารถ เราสู้ท่านไม่ได้อยู่แล้ว
              ถ้าท่านไม่เลี้ยงดูเรามา เราก็ไม่รอดจนเป็นคน จนเติบโตมากระทั่งบวชอยู่ทุกวันนี้ มีจุดเดียวเท่านั้นที่เราจะดีกว่า ก็คือศีล จะเป็นพระหรือไม่เป็นพระ ขั้นต้นอยู่ที่ศีลนี่เอง
              ดังนั้นให้ทุกคนทบทวนอยู่เสมอในแต่ละวันๆ ว่า..ศีลทุกสิกขาบทของเรา บริสุทธิ์ บริบูรณ์หรือไม่? ถ้ามันบกพร่องให้แสดงคืนอาบัติเสีย ไม่ว่าศีลนั้นจะเล็กน้อยขนาดไหนก็ตาม
              อาบัติใหญ่ คือ ปาราชิก ๔ ข้อ สังฆาทิเสส ๑๓ ข้อ อย่าให้ต้องเป็นอันขาด เพราะมันแก้ไม่ได้ก็มี แก้ได้ยากก็มี เปิดทวนไว้อยู่เสมอๆ ว่า ๑๗ ข้อนี้ห้ามโดนเด็ดขาด
              ส่วนที่เหลือ สติสัมปชัญญะเรายังไม่สมบูรณ์ โอกาสพร่องมันมี ให้รีบแสดงคืนอาบัติเสียทุกวัน จะได้เป็นผู้บริสุทธิ์ ถ้าในคืนนั้นเรานอนอยู่แล้วตายไป บาปกรรมความชั่วจะได้ ไม่ติดตัวเราไป
              การที่เราบวชเข้ามา ชีวิตต้องรับกฎ รับกติกาใหม่ ต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเสียใหม่ ต้องมีความประพฤติปฏิบัติเสียใหม่ เพื่อให้อยู่ในกรอบของภิกษุ เพื่อให้อยู่ในกรอบที่พระพุทธเจ้าท่านวางไว้ ซึ่งมีทั้งข้อที่ห้าม ข้อที่อนุญาต ขอให้ทุกคนตั้งใจทำให้ดี ไม่ว่าจะบวชมากบวชน้อยอย่างไรก็ตาม
              หลวงพ่อเคยสอนไว้ว่า “..การบวชน้อย ถ้าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ก็มีคุณค่ามาก เหมือนกับเพชร แม้จะเม็ดเล็ก แต่ก็ราคาสูง การบวชมาก ถ้าหากว่าทำแต่ความชั่ว ก็เหมือนกับขี้ ยิ่งกองใหญ่ ก็ยิ่งเหม็นมาก..! ”
              คราวนี้ไอ้ความเหม็น ความน่ารังเกียจ ถ้าเราประพฤติปฏิบัตินอกลู่นอกรอยนั้น มันไม่ได้มีโทษแต่ปัจจุบัน คือญาติโยมไม่สงเคราะห์ แต่มันจะมีโทษในอนาคตด้วย คือตายเมื่อไรจะมีอเวจีเป็นที่ไปแห่งเดียว หนักเบาตามโทสานุโทษ
              อาจจะอยู่เป็นกัลป์ตามอายุของอเวจี หรืออยู่น้อยกว่านั้น แต่ว่าท่านก็ต้องผ่านอุสุทนรก ผ่านยมโลกีย์นรก ผ่านมหานรกขุมต่าง ๆ อีก กว่าที่จะหลุดพ้นมาได้นั้นมันเนิ่นนานเหลือเกิน แม้จะได้เห็นปลายได้ว่ามันนานแค่ไหน แต่คนที่ตกอยู่ในความทุกข์ความทรมานนั้น แม้ระยะเวลา นาทีสองนาทีมันก็นานเหมือนเป็นกัลป์เป็นกัลป์แล้ว
              ผมเองมาบวชเอาอายุตอนจวนจะ ๓๐ เพราะผมกลัวนรก ผมเห็นนรกตั้งแต่อายุยังไม่ครบ ๒๐ และเห็นด้วยว่าทุกขุม มีแต่บรรดานักบวชลงไปอยู่กันแน่นขนัด ครั้งแรกที่เห็นผมตกใจ คือเขาแสดงภาพเป็นนักบวชให้เห็นชัดเจน มันแน่นเหมือนอย่างกับเราเปิดกล่องไม้ขีดแล้ว เห็นหัวไม้ขีดยังไงยังงั้นเลย
              ผมจึงสรุปได้ว่าส่วนใหญ่แล้ว ถ้าหากว่าสักแต่ว่าบวชไม่รอดแน่นอน ในเมื่อเราบวชมาแล้ว เราจำเป็นต้องรู้ตัวว่าเราเป็นนักบวช เราต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด หน้าที่ของความเป็นภิกษุ
              ภิกษุ รากศัพท์เดิมคือ ภิกขุ แปลได้ ๒ อย่างคือ ผู้ขออย่างหนึ่ง กับผู้เห็นภัยวัฏฏสงสารอย่างหนึ่ง
              การที่เราเป็นผู้ขอ เดี๋ยวอีกสักครู่เราก็จะไปทำหน้าที่ของการเป็นผู้ขอ การที่เราจะขอเขา อย่าไปขอเฉยๆ ต้องมีผลตอบแทนที่ดีที่สุดให้แก่ผู้รับด้วย
              คือ การชำระศีลของเราทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์ ทรงสมาธิตั้งมั่นให้สูงสุดเท่าที่เราจะทำได้ สร้างปัญญาให้เกิด ให้เห็นว่าร่างกายนี้โลกนี้มีแต่ความทุกข์จริงๆ ถ้าเราชำระใจของเราให้ผ่องใสได้ ชำระศีลของเราให้ผ่องใสได้ ญาติโยมที่ใส่บาตรก็จะมีอานิสงส์สูงมาก
              ผมอยู่ที่นี่มา ๖ เดือนกับอีกนิดหน่อย ผมสังเกตอยู่เสมอว่า โยมใส่บาตรมากขึ้นทุกทีๆ บ้านที่เคยใส่ก็ใส่ประจำไม่งดเว้น บ้านที่ไม่เคยใส่ก็ใส่เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ
              แสดงว่าบุคคลที่ใส่บาตร ทำบุญกับพวกเราที่เป็นนักปฏิบัติ ซึ่งจะได้อานิสงส์สูงกว่าปุถุชนทั่วๆ ไปเป็นแสนๆ เท่า เขาจะต้องได้ผลดีในการทำบุญใส่บาตรของเขา มันจะต้องมีผลตอบแทนอะไรที่เห็นได้ชัด แล้วเขาพูดกันต่อๆ ไป
              ดังนั้นเขาถึงใส่บาตรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่อย่าลืมว่าเราคือ “ภิกษุ” คือผู้ขอ จะไปขอเขาเราต้องนอบน้อมถ่อมตน จะไปขอเขาก็อย่าสักแต่ว่าขออย่างเดียว ให้เรามีสิ่งที่ดีที่สุดไป เพื่อให้ผู้รับได้รับผลตอบแทนที่ดีด้วย
              ต้องพยายามทำตนเป็นเนื้อนาบุญที่ดีที่สุด เท่าที่เราจะพึงทำได้ อย่าไปโดยความหยิ่งผยอง อย่าไปโดยมานะว่าเราเป็นพระ เราเป็นนักปฏิบัติ เรามีศีลทุกสิกขาบทบริสุทธิ์ เรามีสมาธิตั้งมั่น เรามีปัญญา
              ถ้าไปในลักษณะนั้น เราวางกำลังใจผิด สมเด็จพ่อของเรา คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงวางรูปแบบไว้ ให้พระต้องขอเขากิน เพื่อลดทิฐิมานะของตน
              หลายท่าน ฐานะทางบ้านดีมาก พูดง่ายๆ ว่ามีเหลือกินเหลือใช้ ในชีวิตฆราวาสต้องการกินดีอยู่ดีขนาดไหนก็ได้ แต่ตอนนี้ท่านสละมันมา กลับขอเขากิน เราเป็นขอทาน อย่าลืมฐานะของตัว
              ในเมื่อเราเป็นขอทาน สิ่งที่เขาให้คือความเมตตาปราณีของญาติโยมเขา ถ้าเราทำตัวไม่ดี ไม่มีญาติโยมที่ไหนเขาจะสงเคราะห์ คุณก็เห็นอยู่ว่า ใกล้ๆ ของเรานี้เองว่าเป็นอย่างไร? เราต้องทำตัวให้สมกับที่ญาติโยมเขาสงเคราะห์
              ทันทีที่คุณฉันข้าวฉันน้ำ ใช้เครื่องอุปโภคบริโภค ที่ญาติโยมเขาสงเคราะห์มา ชีวิต เลือดเนื้อ ร่างกายนี้ ไม่ใช่ของคุณแล้ว พ่อแม่อาจจะให้เลือดเนื้อร่างกายนี้มา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลวงปู่ หลวงพ่อ ขัดเกลาจิตใจนี้ให้คุณ
              คุณเกิดทางร่างกายมาอายุเกิน ๒๐ ปี คุณเกิดในทางธรรมมา ตามจำนวนระยะเวลาที่คุณตั้งหน้าตั้งตา ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
              แต่ว่าคุณเกิดใหม่อีกวาระหนึ่งแล้ว คือ วาระที่เราฉันข้าวฉันน้ำ ใช้เครื่องอุปโภค บริโภคของญาติโยมเขา เลือดเนื้อร่างกายของเราทุกส่วนไม่ใช่เราอย่างแน่นอนแล้ว เป็นสมบัติของญาติโยมเขาไปแล้ว
              เราอยู่ได้ด้วยการที่คนอื่นเลี้ยง อย่าลืมฐานะของตัวเราเอง ต้องมีความรู้สึกอยู่เสมอ ก้มมองเห็นเรานุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ คลำดูศีรษะ ศีรษะของเราโล้น มันเป็นเครื่องบังคับเครื่องบ่งชี้ให้เรารู้ว่า เราอยู่ในฐานะของนักบวช ต้องทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะพึงทำได้
              ทำให้สมกับที่เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส คือเป็นลูกของพระพุทธเจ้าที่ท่านรักยิ่ง พ่อแม่จะรักลูกก็ต่อเมื่อลูกทำดี ประพฤติดี เราเป็นลูกพระพุทธเจ้าอย่างเดียวยังไม่พอ เรายังเป็นธรรมเสนา เป็นทหารแห่งกองทัพธรรม เป็นทหารในพุทธอาณาจักร
              กำลังใจของเรา ที่ต่อสู้ฟันฝ่ากับกิเลส มีอยู่สักเท่าไหร่ สมควรกับการเป็นทหารกล้า ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วหรือไม่ ? ลำบากนิดหน่อยก็จะไม่ยอมทนเสียแล้ว นั่นใช้ไม่ได้
              เราบวชเข้ามาคนอื่นเขาสงเคราะห์เรา อยากได้เย็นมันอาจจะได้ร้อน อยากได้อ่อนมันอาจจะได้แข็ง จำกัดด้วยปัจจัย ๔ ต้องทนลำบากทางกาย ต้องทนความอึดอัดในกฎระเบียบ ซึ่งเป็นความลำบากทางใจ ต้องทนต่อสู้กับกิเลสที่กระหน่ำตีเราอยู่ทุกวัน
              ในชีวิตฆราวาส ถ้ากิเลสมันเป็นเสือ ปล่อยเสือตัวนั้นอยู่ในป่า เราเดินทั้งปี อาจจะไม่เจอเสือตัวนั้น แต่ในชีวิตนักบวช เขาเอาเสือตัวนั้นใส่กรง แล้วจับเรายัดเข้าไปด้วย เสือมันจะขบกัดเราอยู่ทุกวัน
              ถ้าเราไม่ใช้สติ สมาธิ ปัญญาของเรา ต่อสู้กับมัน กดคอมันเอาไว้ มันก็จะเป็นอันตราย ขบกัดเรา ถึงกดคอมันไว้ได้ก็ยังเป็นอันตรายอยู่ ไม่รู้เราจะหมดแรงเมื่อไหร่ ถ้าหมดแรง มันกัดเราอีกทันที ดังนั้นต้องหาทางฆ่าเสือให้ตายให้ได้
              วิธีฆ่าเสือคือกิเลสของเราให้ตาย ต้องหาเหตุให้เจอ ว่ามันเกิดขึ้นเพราะอะไร ? กิเลสตัณหา อุปาทาน อกุศลกรมต่าง ๆ ที่มันสร้างความลำบากให้กับเราในทุกวันนี้ เพราะเรามีร่างกายนี้ เพราะเราเกิดมา ถ้าเราไม่เกิดอีก ไม่มีร่างกายนี้อีก เราก็ไม่ต้องมาทนทุกข์ยาก ลำบากด้วยอำนาจของพวกกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรม เหล่านี้
              ดังนั้นเราจะพึงปรารถนาการเกิดอีกหรือไม่ ? ตอนนี้ทุกท่านอยู่ในกรอบชีวิตของนักบวช ทุกท่านอยู่ในเขตที่จำกัดด้วยปัจจัย ๔ อยู่ในสนามรบ ที่เราต้องต่อสู้เพื่อรักษาชีวิตของตัวเอง คือต่อสู้กับกิเลส เพื่อไม่ให้ตัวเราตกนรก
              พยายามทำอย่างไร ? จะให้ภูมิจิตภูมิธรรมของเราก้าวหน้าขึ้น สู่ภพภูมิที่สูง ๆ ขึ้นไป จนกระทั่งหลุดพ้นเข้าสู่พระนิพพาน เราต้องใช้ความพยายามของเรา อดทนอดกลั้นต่อทุกสิ่งทุกอย่าง
              เราต้องตื่นแต่เช้ามืด เพื่อที่เราจะได้มาปฏิบัติกัน บางท่านก็สงสัย ผมจะตื่นตี ๒ ประจำ ยกเว้นเจ็บไข้ได้ป่วย ฉันยาเข้าไป ผมจะต้องตั้งนาฬิกาปลุกไว้ ไม่อย่างนั้นโดนยามันน็อค ผมจะลุกไม่ไหว ไม่อย่างนั้นแล้วตี ๒ ผมต้องลุกขึ้นมาแล้ว
              อันดับแรกยังไม่ทันขยับตัว ก็ต้องนึกถึงพระก่อน ควบคุมลมหายใจเข้าออกของตัวเองก่อน จนกระทั่งภาพพระตั้งมั่น สติตั้งมั่น แล้วก็ภาวนาตามที่เคยทำมา ว่าจะภาวนาอย่างไร ยกจิตขึ้นสู่ระดับไหน
              ทำจนครบชุด มันก็ได้เวลาที่จะออกมาล้างหน้า สรงน้ำ แต่งองค์ทรงเครื่อง เตรียมจะทำวัตรเช้าต่อแล้ว เราทำวัตรสวดมนต์ออกเสียงตามสาย ญาติโยมได้ประโยชน์ด้วย ต่อให้ฟังไม่เข้าใจ เขาก็รู้ว่านั่นพระสวดมนต์
              แต่ที่แน่ๆ ก็คือ เราลุกขึ้นมาสู้กับกิเลส ญาติโยมหลายท่านเขาทึ่ง เคยพูดให้ได้ยินว่า พระเจ้าท่านทำได้อย่างไรนะ ? เวลาใกล้รุ่งเป็นเวลาที่น่านอนที่สุด นี่ต้องแหวกกองกิเลสออกมานั่งทำวัตรสวดมนต์กันเลยหรือ ?
              คุณทำแค่นี้ญาติโยมเขาเห็น เขาก็ชื่นชมแล้ว ยิ่งทำดีมากเท่าไหร่ เขาก็ยิ่งชื่นชมมากขึ้น เพราะมันไม่เสียที ไม่เสียแรงที่เขาเลี้ยงมา
              ไม่เสียทีที่เขาเองต้องลำบากด้วยความเป็นอยู่ แต่แบ่งปันปัจจัย ๔ ต่างๆ เพื่ออนุเคราะห์สงเคราะห์แก่เรา อันนี้เป็นความกรุณาของโยมเขา แล้วเราทำดีพอเหมาะพอสมที่จะใช้สอยบริโภคในปัจจัย ๔ ที่โยมเขาสละมาให้แล้วหรือยัง ?
              ในชีวิตของความเป็นพระ เราทำกรรม คือบาป กรรมชั่ว ผลของมันก็คูณด้วย แสน สมมติว่าเราเป็นฆราวาส เกิดมาปุ๊บก็เริ่มฆ่าสัตว์เลย ฆ่าปลาแล้วกัน วันละหนึ่งตัว ๆ ฆ่าไปเรื่อย จนอายุครบ ๑๐๐ ปีแล้วเราตาย เราจะตกอเวจีมหานรก เพราะเราทำ อาจิณกรรม คือกระทำกรรมที่ต่อเนื่อง ที่สม่ำเสมอ ที่ยาวนาน
              แต่ในชีวิตของความเป็นพระ พวกท่านฆ่าปลาตัวเดียว ลงอเวจีมหานรก โทษมันมากกว่ากันมหาศาลขนาดนี้ แต่ในขณะเดียวกัน คุณก็มากกว่ามหาศาล ถ้าปฏิบัติในทาน ในศีล ในภาวนา ผลมันก็คูณด้วยแสนเช่นกัน
              สมัยเป็นฆราวาส ผมทุ่มเทให้แก่การปฏิบัติ ๑๐ กว่าปี ฝึกกรรมฐานตามแบบของหลวงพ่อสอน กองไหนชอบใจผมฝึกกองนั้น ผมพยายามเอากรรมฐานให้ได้ครบ ๔๐ กอง ปล้ำเป็นปล้ำตายอยู่ ๑๑ ปีเต็ม ๆ โดยตั้งใจว่า
              “..ถ้าเราจะเป็นนักบวช เราควรจะเป็นพระอริยเจ้าตั้งแต่ฆราวาส เพื่อที่เวลาบวชแล้ว ญาติโยมจะได้ไหว้เราได้เต็มมือ ทำบุญกับเราแล้วจะได้บุญเต็มที่..”
              ๑๑ ปีผ่านไป ผมทำแบบหัวไม่วางหางไม่เว้น ทำแบบที่คนรอบข้างว่าผมบ้า แต่ว่าจุดมุ่งหมายที่ผมต้องการมันไม่ได้ กรรมฐานหลายกองที่ปลุกปล้ำกันแทบเป็นแทบตาย มันไม่ทรงตัว พอผมตัดสินใจบวชเข้ามา ปรากฏว่าสิ่งที่ผมต้องการในชีวิตฆราวาส มันไหลมาเทมาตอนนั้น
              ไม่ว่าคุณจะปฏิบัติอะไร ? มันก็รู้สึกคล่องแคล่วชำนาญ ไม่ว่าคุณจะภาวนา พิจารณาอย่างไร? มันสะดวกมันง่ายดายไปหมด กรรมฐานที่เคยทำไม่ได้ มันก็ทำได้ทำง่าย ทำก็คล่องตัว
              ผมมีความสงสัยมาก จึงไปกราบเรียนถามหลวงปู่มหาอำพัน ตอนช่วงที่ผมไปดูแลท่านที่ป่วยอยู่ ท่านบอกว่า ก่อนหน้านี้ต้นทุนของผมไม่พอ แต่พอบวชเข้ามาอานิสงส์ใหญ่มันเกิด
              คือกุศลของการที่เราบวช รวมกับความตั้งใจปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีผลมากกว่าชีวิตฆราวาส เป็นแสนแสนเท่า ทำให้ต้นทุนที่ผมไขว่คว้ามา ๑๐ กว่าปี มันเพียงพอ มันถึงได้ในสิ่งที่ต้องการ
              ดังนั้น ตอนนี้พวกท่านทุกคน อยู่ในจุดที่ดีที่สุด ที่จะสร้างบุญสร้างกุศลแล้ว พยายามทบทวนศีลทุกสิกขาบทของเราให้ดี พยายามสร้างสมาธิให้เกิดทุกวัน ๆ วางกำลังใจให้สูงสุด คือเกาะพระนิพพานให้ได้
              แล้วใช้ปัญญาพิจารณาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะประกอบกิจการงานใด ๆ ในหน้าที่ของสงฆ์ก็ดี หรือว่าทำในคันถธุระ ช่วยในการก่อสร้าง ช่วยทำความสะอาดวัดวาอารามก็ดี ให้มีสติเกาะพระอยู่เสมอ ให้มีสติรู้อยู่เสมอว่า เรากำลังดำเนินชีวิตอยู่ในกองทุกข์
              ในเมื่อชีวิตมันมีแต่ความทุกข์เช่นนี้ เราเองยังอยากเกิดมาทุกข์ไหม ? ตอนนี้เราวางชีวิตครอบครัวอยู่ข้างหลัง ย้อนกลับไปเมื่อไร ความทุกข์ใหญ่จะเกิดแก่เรา เราไม่ได้รับผิด ชอบชีวิตของตัวเราคนเดียว แต่ต้องรับผิดชอบชีวิตของอีกหลาย ๆ คน ความทุกข์ ความเหนื่อยยาก ความเครียด รอเราอยู่แล้ว
              ตอนนี้เราต้องกอบโกยความดีให้มากที่สุด เพื่อถึงวาระ ถึงเวลา จะได้มีต้นทุนไว้ต่อสู้กับมัน เราจะใช้โอกาสที่ดีที่สุดนี้ ในการฝึกปฏิบัติตน สร้างกำลังกาย กำลังใจของเราให้ ดีที่สุด เข้มแข็งที่สุด
              เมื่อถึงวาระ ถึงเวลา ต้นทุนของเราเพียงพอ ถ้าเราไปเป็นฆราวาส เราก็จะดำเนินชีวิตอย่างไม่ต้องทุกข์ยากมากนัก เพราะทำใจได้เสียแล้ว หรือในชีวิตของความเป็นพระต่อไปข้างหน้าของเรา ถ้าหากว่าศีล สมาธิ ปัญญาของเราดี เราก็จะมีแต่ความก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป
              พวกท่านทุกคนก็ดี ตัวผมเองก็ดี ตอนนี้แบกภาระที่ใหญ่หลวงมาก สิ่งที่เราแบกอยู่บนบ่านี้ นอกจากภารธุระในพระพุทธศาสนาแล้ว ทำอย่างไรที่เราจะสร้างตนเองให้เป็นพระให้ ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้
              ทำอย่างไรที่เราจะนำพระธรรมคำสอน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เผยแพร่ขจรขจายไป ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อเป็นประโยชน์แก่มหาชนทั้งหลาย และจะทำอย่างไร? ที่จะกอบกู้ชื่อเสียงซึ่งบรรดานักบวชทำให้ตกต่ำอยู่ ให้กลับคืนมาดีดังเดิมได้
              ภาระใหญ่หลวงนี้อยู่บนบ่าของพวกเราทุกคน แล้วทั้งพวกคุณทั้งตัวผมเอง ยังมีภาระใหญ่ คือ แบกป้ายยี่ห้อของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุงอยู่บนบ่า ไปถึงไหนคุณก็บอกกับเขาว่า ผมบวชกับอาจารย์เล็กครับ ผมปฏิบัติตามแนวของหลวงพ่อฤๅษีลิงดำครับ เราพูดได้เต็มปากเต็มคำมั้ย ?
              ครูบาอาจารย์ของเราดีขนาดไหน? ตอนนี้เราทำตัวสมกับเป็นศิษย์ของท่านหรือยัง? หลวงพ่อเคยบอกกับผมเป็นปกติว่า ไปไหนพวกแกก็บอกว่ามาจากวัดท่าซุง แกเอา ซุงดี ๆ หรือว่าซุงผุ ๆ ไปอวดเขา
              ถ้าเอาซุงดี ๆ ไปอวดเขามันก็ยังเป็นซุงอยู่ เราสามารถจะกลึง จะเกลา จะเหลา จะถากมันขึ้นมา เพื่อให้เป็นวัสดุที่พอใช้งานได้นั้น เราทำมันแล้วหรือยัง ? ไม่ต้องวิเศษเลิศลอยถึงขนาดแกะเป็นเรือสุพรรณหงส์หรอก เอาแค่เป็นภาชนะต่าง ๆ ที่มันพอดูได้ พองาม เหมาะ สมกับฐานะของตน เราทำได้ดีเท่าไหร่ ?
              ทั้งภาระของพระศาสนา ทั้งชื่อเสียงเกียรติคุณของครูบาอาจารย์ อยู่กับเราแล้ว เราต้องทำให้ดี ไม่เพียงแต่คนนอกที่มองเรา นักบวชด้วยกันก็มองเรา ทำอย่างไร ? เราจะทำกาย ทำวาจา ทำใจของเราให้ดีกว่านี้
              ต้องระลึกอยู่เสมอว่า วันเวลาล่วงไป ๆ เรากำลังทำอะไรอยู่ ต้องเป็นผู้มีสติอยู่ตลอดเวลา ต้องดูตัวเองอยู่เสมอว่า ตัวเราติเราโดยศีลได้หรือไม่ ? ต้องดูอยู่เสมอว่าผู้อื่นติเราโดยศีลได้หรือไม่ ?
              ต้องพิจารณาอยู่เสมอว่า คุณวิเศษต่าง ๆ ในพระศาสนาของเรามีหรือไม่ ? เพื่อถึงเวลาจะได้ไม่เก้อไม่เขิน เมื่อเพื่อนสหธรรมมิกไต่ถาม ต้องระลึกอยู่เสมอว่าผู้อื่นเลี้ยงเรา เราต้องเป็นผู้เลี้ยงง่าย
              ต้องระลึกอยู่เสมอว่าตอนนี้เราเป็นพระแล้ว กิริยาอาการใด ๆ ที่เป็นของพระ เราต้องทำกิริยาอาการนั้น ๆ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ให้คิดอยู่เสมอ คิดอยู่ในขณะที่ภาพพระอยู่กับเรา คิดอยู่ ปฏิบัติอยู่ ในขณะที่กำลังใจเราเกาะนิพพานเอาไว้
              วันพระ ก็เลยขอพูดเรื่องของพระ ถึงแม้ว่าเวลาจะไม่เพียงพอ ไม่สามารถพูดทั้งหมดได้ แต่ก็คิดว่าสิ่งที่บอกกล่าวพวกเราไป คงจะนำไปปฏิบัติตรวจสอบตัวเอง สร้างกำลังใจให้ดีขึ้น ทำการปฏิบัติของเราให้ดีขึ้นให้มากกว่านี้ ก็ขอฝากเอาไว้เท่านี้ ?

พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
วันอังคารที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๖

๕. สังโยชน์ ๑๐


              ขอให้ทุกคนนั่งตัวตรง การนั่งตัวตรงของเรา ไม่ได้หมายความว่าไปเกร็งร่างกายแต่ว่ายืดตัวขึ้นให้ตรง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อส่วนใหญ่เสีย หลับตาเบาๆ นึกย้อนเข้าไปในศีรษะของเรา เหมือนกับเราเหลือบตาขึ้น มองกะโหลกศีรษะข้างใน
              แล้วมองย้อนลงไป ถึงจุดศูนย์กลางของร่างกายเรา กำหนดใจ ให้นิ่งๆ ไว้ตรงนั้น พร้อมกับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก แม้ว่าจะหายใจเข้า จะหายใจออกอยู่ ให้กำหนดความ รู้สึกไว้นิดเดียวที่ลมหายใจเท่านั้น
              ความรู้สึกส่วนใหญ่ทั้งหมด ให้นิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายของเรา ศูนย์กลางกายของเรา เป็นจุดที่สามารถเข้าถึงความสงบได้ดีที่สุด มีพลังที่จะต่อสู้กับกิเลสได้มากที่สุด วันนี้เรามาดูว่าเราสามารถทำจิตให้นิ่งอยู่อย่างนี้ได้นานเท่าไหร่ ?
              ศูนย์กลางกาย คือ ที่สุดของลมหายใจเข้าออกของเรา กำหนดความรู้สึกไม่ต้องปักแน่นมาก เอาแค่ให้แน่วแน่อยู่ภายใน ไม่ต้องใส่ใจกับภายนอก กำหนดความรู้สึกส่วนหนึ่งรู้สึกอยู่กับลมหายใจเข้าออก
              หายใจเข้าพร้อมกับคำภาวนา ไปสุดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย หายใจออกพร้อมกับคำภาวนา ออกมาสุดที่ปลายจมูก แต่ว่ากำลังใจส่วนใหญ่ ให้ปักนิ่งอยู่ในร่างกายของตัวเอง
              การที่เราส่งใจออกข้างนอก มันเป็นสาเหตุของความทุกข์ทั้งหมด เพราะเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส เรามักกั้นมันไว้ไม่ทัน ถ้าสติ สมาธิ ปัญญาของเรา ไม่ทันกับมัน มันก็จะวิ่งเข้ามาอยู่ในใจของเรา ทำให้เกิดความทุกข์แก่เราได้
              วันนี้เรามากำหนดใจให้อยู่ภายในจริง ๆ อย่าส่งออกนอก นอกจากความรู้สึกส่วนหนึ่ง ที่แบ่งให้กับลมหายใจเข้าออกแล้ว ความรู้สึกส่วนใหญ่ ให้อยู่ข้างในให้หมด การปฏิบัติของเราทุกครั้ง ให้หวังผล สูงสุด คือ “พระนิพพาน”
              เมื่อเริ่มปฏิบัติ ให้ทุกคนตั้งใจว่า ขณะนี้ ศีลของเราทุกสิกขาบทบริสุทธิ์ครบถ้วน การปฏิบัติของเรานี้ ก็เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ถ้ามันตายลงไปตอนนี้ เราปรารถนาที่เดียวคือ พระนิพพาน ให้ตัดสินใจเช่นนี้เสมอ
              ให้คิดอยู่เสมอว่า เราต้องตาย ความตายมาถึงเราได้ทุกเวลา ความตายอยู่แค่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก หายใจเข้าถ้าไม่หายใจออกอีกก็ตาย หายใจออกถ้าไม่หายใจเข้าอีกก็ตาย
              ลมหายใจของเรา เป็นที่รวมของความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายได้ มันหายใจเข้า แล้วมันก็หายใจออก มันหายใจออก แล้วมันก็หายใจเข้า หาความเที่ยงแท้แน่นอนไม่ได้
              เปลี่ยนแปลงดังนี้อยู่ทุกวัน ๆ ทุกเวลาทุกนาที ทุกลมหายใจมีแต่ความไม่เที่ยงเป็นปกติ การที่ต้องหายใจเข้า หายใจออก คือการทำหน้าที่การงานอย่างหนึ่ง
              ถ้าหากว่ากำหนดความรู้สึกตามมันไป ก็จะเห็นว่า ลมหายใจของเรา ประกอบ ด้วยความทุกข์เป็นปกติ ทุกข์ของการที่ต้องหายใจเข้า ทุกข์ของการที่ต้องหายใจออก ถ้าไม่ทำหน้าที่ดังนี้มันตาย
              จึงต้องตะเกียกตะกายหายใจกันต่อไป อยู่ท่ามกลางความทุกข์อย่างนี้ มันไม่มีอะไรทรงตัว ไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายได้ ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา
              ลมหายใจเข้าลมหายใจออก เป็นเพียงธาตุลมที่เป็นสมบัติของโลกเท่านั้น ถึงวาระ ถึงเวลาที่หมดลมหายใจเข้า หมดลมหายใจออก ร่างกายนี้ก็เสื่อมสลายตายพังไป ลมก็กลับคืนไปสู่ธาตุลม
              ดังนั้น ทุกลมหายใจของเรานี้ อยู่กับความไม่เที่ยง อยู่กับความเป็นทุกข์ อยู่กับความไม่มีตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา อยู่กับความตายตลอดเวลา ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กล่าวว่า พระองค์ท่านระลึกถึงความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก คือ ระลึกดังนี้
              รู้อยู่ว่าหายใจเข้า ถ้าไม่หายใจออกมันก็ตาย รู้อยู่ว่าหายใจออก ถ้าไม่หายใจเข้ามันก็ตาย ความตายมันอยู่กับเราตลอดเวลา ถ้าเราเกิดมาอีก มีร่างกายแบบนี้อีก มันก็จะทุกข์แบบนี้อีก อยู่กับความตายแบบนี้อีก
              ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้เราพ้นตาย พ้นเกิดได้ มีแต่แดนพระนิพพานเท่านั้น การที่เราจะไปพระนิพพานได้ จะต้องสร้างกำลังใจให้เข้มแข็ง เพื่อที่จะสลัดตัวเองให้หลุดจากสิ่งร้อยรัดทั้งปวง สิ่งร้อยรัดเราให้ติดอยู่ในวัฎฏสงสาร เรียกว่า สังโยชน์ มันมีอยู่ ๑๐ อย่างด้วยกัน คือ
              ๑. สักกายะทิฐิ คือความเห็นว่า ตัวเราเป็นของเรา อันนี้แก้ด้วยการพิจารณา ในกายคตานุสติกรรมฐาน ในจตุธาตุววัฏฐาน ๔ คือพยายามให้เห็นว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่แท่งทึบ ประกอบด้วยอวัยวะภายนอกภายใน ที่เป็นเครื่องจักรกลต่าง ๆ
              ส่วนใดส่วนหนึ่งเสื่อมสลายไปก็เจ็บป่วย พังไปก็ถึงแก่ความตาย หรือว่าแยกมันออกเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ให้เห็นจริง ๆ ว่าไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นของเรา
              กระจายออกแล้วรวมเข้า รวมเข้าแล้วกระจายออก กระจายออกแล้วรวมเข้า สลับไปสลับมาดังนี้ จนกระทั่งเห็นจริง ๆ ว่าร่างกายไม่ใช่ของเรา มันเป็นเครื่องอาศัยที่ประกอบไปด้วยความทุกข์เท่านั้น
              ๒. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ได้ทุ่มเทจิตใจให้ความเคารพต่อท่าน ด้วยกาย วาจา ใจ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง พวกเราทั้งหมดมีตัววิจิกิจฉานี้น้อยแล้ว
              ถ้าเราไม่เคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เราก็ไม่มาปฏิบัติในทาน ศีล ภาวนาดังนี้ การที่เราเป็นผู้ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติในทาน ในศีล ในภาวนา แปลว่าวิจิกิจฉาเรามีน้อยเหลือเกิน แทบไม่ต้องไปสนใจมันก็ได้
              ๓. สีลัพพตปรามาส ความไม่รักษาศีลอย่างจริงจัง จากภาษาบาลีแปลว่า ลูบคลำในศีล คือจับๆ คลำๆ เท่านั้น ยังไม่เอาจริงเอาจัง เราต้องตั้งหน้าตั้งตา รักษาศีลทุกข้อให้บริสุทธิ์ อย่าทำให้ศีลขาดศีลพร่องด้วยตัวเราเอง อย่ายุยงส่งเสริมให้คนอื่นเขาทำ อย่ายินดีเมื่อเห็นคนอื่นเขาทำ
              ๔. กามฉันทะ ความพอใจใน รูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ อันนี้จะต้องแก้ด้วย กายคตานุกรรมฐาน อสุภกรรมฐาน มรณานุสติ ให้รู้อยู่เสมอว่าเราจะตาย ตัวเราก็ตาย ตัวเขาก็ตาย
              สภาพร่างกายที่แท้จริง เต็มไปด้วยความสกปรก มันประกอบไปด้วยอวัยวะภายในภายนอก มีแต่เหงื่อไคล น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง ถึงเวลาก็ส่งกลิ่นเหม็น มีชีวิตอยู่ ก็ต้องชำระสะสางมันอยู่ทุกวัน สภาพของเราก็ดี ของเขาก็ดี เป็นอย่างนี้ เมื่อถึงเวลาตาย ก็เน่า ก็เปื่อย ก็โทรมไป ไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่ได้ ไม่มีอะไรน่ารักใคร่ น่าชอบใจ น่ายินดี พยายามมองให้เห็นดังนี้
              ๕. ปฏิฆะ การกระทบกระทั่ง อันเป็นสาเหตุของความโกรธ ความโกรธเกลียดอาฆาตแค้นคนอื่นเขา ผูกเอาไว้ในใจ ไม่ยอมละไม่ยอมวาง ให้รู้อยู่เสมอว่าตัวเรานี้อยู่ในกองทุกข์ ตัวบุคคลอื่นก็อยู่ในกองทุกข์
              เราเองจะโกรธเกลียดเขาหรือเปล่า เขาก็ทุกข์อยู่แล้ว เขาเองจะรู้ว่าเราโกรธเราเกลียดหรือเปล่า เขาก็ทุกข์อยู่แล้ว ต่างคนต่างเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น
              ถ้าเขาทำให้เราไม่พอใจ เรื่องที่เขาทำนั้น เราเห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหูก็ดี ให้พิจารณาดูว่า สิ่งที่เขาทำนั้นถูกต้องหรือไม่ ถ้ามันถูกต้อง เขาคือกระจกที่ส่องให้เราเห็นหน้าตัวเอง ว่า เรานั้นน่าเกลียดน่าชังเพียงใด
              เราก็ไม่ควรไปโกรธไปเกลียดเขา เพราะว่าเขาเป็นครู เป็นผู้ที่ทำให้เราเห็นตัวตนที่แท้จริงของเรา แต่ถ้าสิ่งที่เขาทำให้เราเห็น พูดให้เราได้ยิน ไม่เป็นความจริง ก็ยิ่งไม่จำเป็นต้องไปโกรธเขา
              บุคคลที่โง่เขลาเบาปัญญา ขนาดไม่รู้ว่าอะไรเป็นความจริงนั้น เราจะโกรธจะเคืองเขาไปให้เสียเวลาทำไม โกรธเขาไปเราก็ลงนรก ไม่อาจจะหลุดพ้นได้
              ต้องให้อภัยเขาให้ได้ พยายามใช้ตัวเมตตาพรหมวิหาร เห็นเขาเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกัน รักสุข เกลียดทุกข์เหมือนกัน
              เขาไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้น เป็นทุกข์เป็นโทษทั้งกับตัวเอง และคนอื่นขนาดไหน เขาถึงได้ทำไป ในเมื่อเขาไม่รู้ เราก็ควรให้อภัยเขา มองให้เห็นว่า ธรรมดาของคนที่ไม่รู้เขามีการกระทำดังนั้นๆ
              ๖. รูปราคะ ความยินดีในรูปทั้งปวง
              ๗. อรูปราคะ ความยินดีในความไม่มีรูปทั้งปวง
              ทั้ง ๒ ข้อนี้ หมายเอาสิ่งที่เราเห็น และ เราไม่เห็น เป็นส่วนของนามธรรม ที่ละเอียดที่สุดก็คือ การทรงฌานหรือการทรงอรูปฌาน ทั้งสองอย่างนี้จะทำให้จิตเราสงบเยือกเย็น ปราศจากความหวั่นไหวในรัก โลภ โกรธ หลง ตลอดเวลาที่เราทรงได้ จะทำให้เรายินดี เราพอใจ ไปยึดไปเกาะในมัน จนกลายเป็นเครื่องร้อยรัดเราให้ไปติดอยู่ในโลกนี้ต่อไป
              วิธีที่ดีที่สุดก็คือ ใช้กำลังของฌานหรือว่าอรูปฌานที่เราทำได้นั้น ส่งใจไปเกาะพระนิพพานแทน จับภาพพระแทน ตั้งใจว่านี่คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ท่านไม่อยู่ที่ไหน นอกจากอยู่บนพระนิพพาน
              เอากำลังสมาธิ สมาบัตินั้นเกาะท่าน เราอยู่กับท่านคืออยู่บนพระนิพพาน ถ้าอย่างนี้ เป็นการใช้กำลังของฌานและอรูปฌานในทางที่ถูก ไม่ถือว่าเป็นเครื่องร้อยรัดเราให้ติดอยู่กับวัฏฏะ
              ๘. มานะ ความถือตัวถือตน มีทั้งการถือตัวถือตนด้วยความหยิ่งทะนง คือเห็นว่าเราดีกว่าเขา เราเหนือกว่าเขา มีทั้งการถือตัวถือตนในลักษณะที่น้อยเนื้อต่ำใจ คือว่าเราต่ำต้อยกว่าเขา เราสู้เขาไม่ได้
              อันนี้เป็นการยึดถือในมานะทั้งปวงเช่นกัน ต้องพิจารณาให้เห็นความเป็นจริงว่า ไม่ว่าตัวตนคนสัตว์ เราหรือเขาก็ตามล้วนแต่เป็นเช่นนี้ คือสักแต่ว่าประกอบขึ้นมาด้วยธาตุ ๔ สักแต่ว่าเป็นรูปเป็นร่าง สักแต่ว่าเป็นเครื่องใช้ไม้สอย สักแต่ว่าเป็นที่อาศัย
              ล้วนแล้วแต่อยู่แค่ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น ไม่มีใครดีกว่า ไม่มีใครเลวกว่า ทุกคนทุกอย่าง ล้วนแล้วแต่เป็นไปตามกรรมที่ตนสร้างมา มองให้เห็นตรงจุดนี้ จะได้ไม่ไปมานะ ถือตัวถือตน
              ๙. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน อารมณ์ไม่เป็นหนึ่ง พลุกพล่านไปสู่อารมณ์ต่างๆ ให้จับลมหายใจเข้าออก ให้เป็นฌานสมาบัติให้ได้ แล้วเอากำลังนั้นเกาะพระนิพพานแทน ก็จะตัดความฟุ้งซ่านนี้ได้
              ๑๐. อวิชชา ความรู้ไม่ครบ รู้ไม่หมด หรือที่บางท่านแปลว่า ความไม่รู้นั้น ประกอบขึ้นมาจากสองสิ่ง คือฉันทะ รู้สึกพอใจในมัน จึงเกิดราคะ คือ ยินดีอยากมีอยากได้
              ตัวนี้ต้องระวังให้จงหนัก เผลอเมื่อไหร่มันเกาะใจเราเมื่อนั้น ต้องสร้างสติ สมาธิ ปัญญาให้สมบูรณ์จริงๆ ตาเห็นรูปให้สักแต่ว่าเห็น อย่าไปยินดีหรือไม่ยินดีกับมัน ยินดีนั้นเป็นราคะ ไม่ยินดีนั้นเป็นโทสะ พยายามวางใจให้นิ่ง วางใจให้ทรงตัวเป็นอุเบกขา
              สักแต่ว่าเห็นรูปให้หยุดอยู่แค่ตรงนั้น อย่าไปพิจารณาว่าเป็นหญิงเป็นชาย อย่าไปพิจารณาว่าสวยหรือไม่สวย หล่อหรือไม่หล่อ อย่าไปฟุ้งซ่านคิดต่อว่า ถ้าเป็นสามีหรือภรรยาเราแล้วจะเป็นอย่างไร
              หูได้ยินเสียง ให้สักแต่ว่าได้ยินอยู่ตรงนั้น อย่าไปยินดีกับมัน อย่าไปพอใจกับมัน ถ้ายินดีเมื่อไหร่ พอใจเมื่อไหร่ มันก็จะเกิดความอยากมี อยากได้เมื่อนั้น
              จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ใจครุ่นคิด ล้วนแล้วแต่อยู่ในลักษณะเดียวกัน ต้องรู้เท่าทัน ต้องหยุดมันให้ได้
              ถ้าสามารถทำดังนี้ได้ ทันทีที่ตาเห็นรูป ปัญญาจะบอกว่า ถ้าเราคิดมันจะออกไปในแง่ไหน ในเมื่อเห็นทุกข์เห็นโทษของการคิด คือจะพาให้เราติดอยู่ในวัฏฏะ เวียนตายเวียนเกิดไม่รู้จบ
              ต้องเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นมาร เป็นพรหม วนเวียนไม่มีที่สุดดังนี้ เมื่อเห็นทุกข์ เห็นโทษดังนี้ ก็จะหยุดมันเอาไว้แค่นั้น สามารถที่จะระงับมันไว้ได้ไม่ปรุงแต่งต่อ
              ในเมื่อสามารถหยุดมันตรงนั้น ดับมันตรงนั้น มันคือนิโรธ การเข้าถึงความดับ สังโยชน์ต่าง ๆ ก็ไม่สามารถทำอันตรายเราได้ ถ้าเราดับมันได้อย่างสิ้นเชิง เราก็จะพ้นทุกข์ พ้นการเวียนตายเวียนเกิด
              ดังนั้น ให้เราทุกคนพิจารณาอยู่เสมอ ๆ ในสังโยชน์ทั้งสิบข้อ สมัยอาตมาปฏิบัติใหม่ๆ หลวงพ่อให้เขียนติดหัวนอนเอาไว้ ตื่นเช้าขึ้นมาลืมตาดู วันนี้มันมีข้อไหนที่เรายังทำไม่ได้ เราต้องทำให้ได้ วันนี้มันมีข้อไหนที่มันร้อยมันรัด มันยึด มันติดในใจเราอยู่ เราต้องแกะมันออก สลัดมันออก ปลดมันออกให้ได้
              อริยสัจ คือสิ่งที่พระพุทธเจ้ารู้นั้น ที่สำคัญคือรู้ในทุกข์ ดังนั้นว่า สังโยชน์ทุกข้อ ล้วนแล้วแต่พาให้เราเกิดทุกข์ ในเมื่อสาเหตุใหญ่ของการพาให้เกิดทุกข์ คือการมีร่างกายนี้
              ถ้าเราพิจารณาจนเห็นอย่างแท้จริงว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่มีความยินดีในมัน ไม่มีความปรารถนาในมัน ทุกข์นั้นก็จบลง การเวียนตายเวียนเกิดก็สิ้นสุดลง
              ความทุกข์นั้น ท่านบอกว่า ปริญญาตันติ เม คือให้เรากำหนดรู้ รู้แล้ววางลง ไม่จำเป็นต้องไปแบกในมัน รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งนี้เป็นทุกข์ แล้วก็ปล่อยมันอยู่ตรงนั้น
              ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง เป็นสมบัติของร่างกาย การที่เราจะอยู่กับมันต่อไป อย่างไรก็ไม่เกินหนึ่งร้อยปี การที่เราทุกข์ทรมานอยู่หนึ่งร้อยปีมนุษย์ ถ้าเปรียบกับการเวียนตายเวียนเกิดนับกัลป์ไม่ถ้วนแล้วไซร้ มันก็เป็นเวลาชั่วแวบเดียวเท่านั้น เหมือนกับเราหลับตาลงแล้วลืมตาขึ้นเท่านั้น ระยะเวลาแค่นิดเดียวแค่นี้ทำไมเราจะอยู่กับมันไม่ได้
              กำหนดใจให้รู้ให้เห็นในทุกข์นั้น ให้รู้ว่าสิ่งที่มีค่าที่สุดได้เกิดอยู่เบื้องหน้าเราแล้ว สิ่งที่ไม่ว่าจะทุ่มเททรัพย์สินเงินทองเท่าไหร่ก็ตาม ก็ไม่อาจซื้อหามาได้นั้น อยู่ตรงหน้าเราแล้ว
              องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องทนทุกข์ยากลำบาก สร้างบารมีมาอย่าง น้อย สี่อสงไขยกับแสนมหากัลป์ ถึงจะตรัสรู้ ถึงจะมีปัญญาญาณเห็นทุกข์นี้ได้ แต่ขณะนี้สิ่งที่เห็นได้ลำบาก ต้องใช้ปัญญาอย่างมหาศาล ปรากฏให้เห็นเด่นชัดอยู่เบื้องหน้านี้แล้ว
              เราจึงควรจะยินดี ควรจะดีใจว่า ขณะนี้ร่างกายแสดงความทุกข์ให้เราเห็น สิ่งที่เราไม่สามารถ จะซื้อหาด้วยทรัพย์สินเงินทองใดใด ไม่สามารถจะเรียกร้องให้มันปรากฏขึ้นได้ แต่ขณะนี้มันแสดงให้เห็น ปรากฏให้เห็นอยู่แล้ว
              ในเมื่อทุ่มเทเงินทองเท่าไหร่ก็ไม่อาจจะซื้อหาได้ ดังนั้นความทุกข์จึงมีคุณค่ามหาศาล มีคุณค่ายิ่งกว่าทองเท่าภูเขา มีคุณค่ายิ่งกว่าโคตรเพชรเม็ดใหญ่ที่สุดในโลก
              เราก็จะเห็นว่า จริง ๆ แล้วความทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่ดี เพราะคอยกระตุ้นเตือนเราให้เรารู้ตัวอยู่เสมอ จะได้ไม่ไปหลง ไปยึด ไปติดในวัฏฏสงสาร จะได้ไม่ไปหลง ไปยึด ไปติดในร่างกายของเรา จะได้ไม่ไปหลง ไปยึด ไปติดในร่างกายของคนอื่นเขา
              ถ้าหากว่ากำหนดรู้ได้ดังนี้ กำหนดเห็นได้ดังนี้ เราก็จะเป็นผู้ที่มีความสุข เพราะเราปล่อยวางในทุกข์ทั้งปวง เราจะเป็นผู้ที่เข้าถึงนิพพาน เป็นผู้หลุดพ้นจากการเวียนตายเวียนเกิด พยายามพิจารณาสังโยชน์ทั้งหมด ให้รู้ว่าถ้ามันร้อยรัดเรา มันจะดึงเราตกอยู่ในห้วงทุกข์
              แต่ขณะนี้แม้มันดึงเราอยู่ในห้วงทุกข์ แต่เราก็เห็นทุกข์ชัดเจนแล้ว ขึ้นชื่อว่าร่างกายที่เป็นทุกข์นี้ เราไม่ต้องการมันอีก ขึ้นชื่อว่าโลกเราที่เป็นทุกข์นี้ เราไม่ขอมาเกิดอีก จะเป็นเทวดา เป็นพรหม ที่หลุดพ้นทุกข์ชั่วคราว เราก็ไม่เอา เราต้องการที่เดียวคือ พระนิพพาน
              เมื่อมาถึงจุดนี้ ให้ส่งใจเกาะพระนิพพานไว้ การส่งใจออกนอก จะมีคุณค่าที่สุดต่อเมื่อส่งไปเกาะพระนิพพานไว้ ส่งไปเกาะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ ตั้งใจว่าถ้าเราตายวันนี้เราขอมาอยู่ที่นี่แห่งเดียวเท่านั้น
              ทำใจจดจ่อมั่นคงอยู่กับพระนิพพานตรงหน้า ให้รู้ถึงความว่าง ความโปร่งเบา ความใสสะอาด ความเยือกเย็น ของพระนิพพาน ให้อารมณ์พระนิพพานนี้ เต็มอยู่ในจิตในใจของเรา เต็มอยู่ในกายของเรา
              ทุกวัน ทุกเวลา ทุกนาที ทุกวินาที ให้พยายามประคับประคอง รักษาอารมณ์พระนิพพานนี้ ให้อยู่กับเรานานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ยิ่งนานเท่าไหร่กิเลสมันก็ยิ่งตายลงไปมากเท่านั้น ยิ่งลดน้อยลงไปมากเท่านั้น โอกาสที่เราจะเข้าสู่พระนิพพานของเรา ก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น
              จิตของเราจดจ่ออยู่กับภาพพระนิพพาน ที่ใส สะอาด สว่าง สงบ อยู่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เป็นแก้วแพรวพราวผ่องใสอยู่ตรงหน้า อยู่ในวิมานที่เกิดจากบุญบารมีที่เราสร้างสมมา ที่สว่างไสวแพรวพราวอยู่ตรงนี้
              มีสติรู้ตัวเมื่อไหร่ กำหนดใจมาตรงนี้ ทำให้ได้มากที่สุด ทำให้ได้นานที่สุด ในแต่ละวัน ในอิริยาบถไหน ๆ ก็ตามให้กำหนดเอาไว้ดังนี้
              ประคับประคองให้อยู่กับเราให้นานที่สุด เท่าที่จะทำได้ เพื่อความสุขในปัจจุบัน และความสุขในอนาคต คือเมื่อตายแล้วให้ไปอยู่ในนิพพานนี้
              ให้ค่อย ๆ กำหนดสติ ถอนกำลังใจออกมาสู่อารมณ์ปกติ เพื่อที่เราจะได้กลับมาสวดมนต์ทำวัตรของเราต่อไป ?


งานสงกรานต์ ปี ๒๕๔๙

พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
วันพุธที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๖

๖. พุทธานุสติ พรหมวิหาร ๔ ธาตุ ๔


              ทุกคนนั่งตัวตรงแต่ไม่ต้องเกร็งร่างกาย หลับตาลงเบาๆ สบายๆ เหมือนกับเรากำลังนั่งคุยกับใครสักคน เอาตาเรามองย้อนเข้าไปในศีรษะ มองย้อนลงไปในอก มองย้อนลงไปถึงในท้อง
              ให้ความรู้สึกทั้งหมดของเรา อยู่ที่ลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าว่า พุท หายใจออกว่า โธ หายใจเข้าผ่านจมูก ผ่านกึ่งกลางอก ลงไปสุดที่ท้อง หายใจออกจากท้อง ผ่านกลางอก ออกมาที่ปลายจมูก
              เวลาลมกระทบจมูก กระทบกึ่งกลางอก กระทบที่สุดของท้องให้รู้ไว้ เวลาลมออกจากท้อง กระทบกึ่งกลางอก กระทบปลายจมูกให้รู้ไว้ เอาความรู้สึกทั้งหมดของเราอยู่ที่ลมหายใจเข้าออกนี้เท่านั้น
              ถ้ามันคิดเรื่องอื่น ให้ดึงมันกลับมาอยู่กับลมหายใจทันที หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ
              นึกถึงภาพพระไว้องค์หนึ่ง ที่เรารักเราชอบมากที่สุด จะเป็นภาพแบบพระสงฆ์ก็ดี แบบพระพุทธก็ดี แบบพระวิสุทธิเทพก็ดี ให้อยู่ตรงหน้าของเรา ตรงๆ ไปข้างหน้า อย่าใช้สายตามอง อย่าใช้สายตาเพ่ง
              กำหนดใจสบายๆ ว่ามีภาพพระพุทธรูปอยู่ตรงหน้าของเรา จะเห็นหรือไม่เห็นช่างมัน ให้เรารู้สึกและมั่นใจว่ามีพระอยู่ตรงหน้าของเรา หายใจเข้าจดจ่ออยู่ที่ภาพพระนั้น หายใจออกกำลังใจจดจ่ออยู่ที่ภาพพระนั้น
              หายใจเข้าภาพพระสว่างขึ้น หายใจออกภาพพระก็สว่างขึ้น หายใจเข้าภาพพระสว่างขึ้น หายใจออกภาพพระสว่างขึ้น ทำใจเบาๆ สบายๆ นึกว่ามีพระพุทธรูปสว่างๆ องค์หนึ่งอยู่ตรงหน้าของเรา สายตาไม่เห็นไม่เป็นไร เพราะเราหลับตาต้องไม่เห็นอยู่แล้ว
              เอาความรู้สึกทั้งหมดจดจ่ออยู่ตรงหน้านั้น นึกถึงภาพพระนั้นไว้ หายใจเข้านึกว่า พุท หายใจออกนึกว่า โธ หายใจเข้าภาพพระสว่างขึ้น หายใจออกภาพพระสว่างขึ้น จดจ่อให้แน่วแน่อยู่สักครู่หนึ่ง
              คราวนี้กำหนดกำลังใจของเรา ดึงเอาภาพพระนั้นมา อยู่เหนือศีรษะของเรา เท่ากับว่าตอนนี้ เรามีพระพุทธรูปอยู่บนศีรษะ เป็นพระพุทธรูปแก้วใส สว่าง สะอาด อยู่ข้างบน เปล่งรัศมีใสสว่าง ครอบคลุมตัวเราลงมา
              หายใจเข้า พระพุทธรูปก็สว่าง หายใจออก พระพุทธรูปก็สว่าง ความสว่างไสวอยู่เหนือศีรษะของเรานี่เอง ให้พระพุทธรูปหันหน้าไปด้านเดียวกับเรา เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ขนาดที่เรากำหนดความรู้สึก ควบคุมได้แบบสบาย ๆ ต้องการหน้าตักกว้างสักเท่าไหร่ เรากำหนดเอาเอง
              หายใจเข้าพระก็สว่าง หายใจออกพระก็สว่าง ยิ่งเอาใจจดจ่ออยู่กับภาพพระ ยิ่งกำหนดลมหายใจเข้าออกมากเท่าไหร่ พระองค์ท่านก็สว่างมากขึ้นทุกทีๆ ความสว่างนั้นครอบคลุมตัวเราลงมา จนกระทั่งตัวเราก็พลอยสว่างไปทั้งหมดด้วย
              กำหนดใจว่าภาพพระสว่าง ตัวเราก็สว่าง ถ้ามันจะภาวนา ให้มันภาวนา ถ้ามันไม่ต้องการภาวนาก็ปล่อยมัน ไม่ต้องไปยุ่งกับมัน กำหนดลมหายใจเข้าออก พร้อมกับภาพพระที่สว่างอยู่เฉย ๆ
              คราวนี้กำหนดภาพพระ เพิ่มขึ้นมาอีกองค์หนึ่ง องค์แรกสว่างไสวอยู่บนศีรษะของเรา องค์ที่สองนี้เอาท่านเข้ามา อยู่ในกะโหลกศีรษะของเรา เหมือนกับว่าตอนนี้หัวของเราว่างๆ เปล่า ๆ ไม่มีอะไรเลย
              มีพระพุทธรูปแก้วใสๆ สว่างๆ อยู่ในหัวองค์หนึ่ง อยู่บนหัวองค์หนึ่ง พระพุทธรูปองค์แรกอยู่เหนือหัวของเรา องค์ที่สองอยู่ในหัวของเรา
              หายใจเข้าภาพพระทั้งสองก็สว่างขึ้น หายใจออกภาพพระทั้งสององค์ก็สว่างขึ้น หายใจเข้าภาพพระสว่างขึ้น หายใจออกภาพพระสว่างขึ้น
              จากนั้นกำหนดภาพพระองค์หนึ่ง ให้อยู่กึ่งกลางอกของเรา ตรงที่ลมหายใจต้องผ่าน ภาพพระองค์แรก อยู่เหนือศีรษะของเรา องค์ที่สอง อยู่ในหัวของเรานี่เอง องค์ที่สาม อยู่กึ่งกลางอกของเรา
              หายใจเข้าภาพพระทั้งสามองค์ก็สว่างขึ้น หายใจออกภาพพระทั้งสามองค์ก็สว่างขึ้น ใครจะกำหนดให้องค์ไหนใหญ่ แล้วแต่เราชอบ แล้วแต่ถนัด องค์ที่หนึ่งใหญ่ องค์ที่สองเล็ก องค์ที่สามใหญ่ ก็แล้วแต่เราชอบ
              หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ หายใจเข้า ภาพพระทั้งสามองค์สว่างขึ้น หายใจออก ภาพพระทั้งสามองค์สว่างขึ้น
              จากนั้นให้กำหนดภาพพระองค์ที่สี่ ให้อยู่ในท้องของเรา อยู่ตรงที่ลมหายใจเข้าออกไปสุดอยู่ตรงนั้น หายใจเข้าลมจะไปสุดอยู่ตรงนั้น หายใจออกลมจะออกจากตรงนั้น ให้มีภาพพระพุทธรูปองค์ที่สี่อยู่ในท้องของเรา ใสสว่างเหมือนกัน
              องค์ที่หนึ่งอยู่เหนือศีรษะของเรา องค์ที่สองอยู่ในศีรษะของเรา ระดับเดียวกับสายตาของเรา องค์ที่สามอยู่ในอก องค์ที่สี่อยู่ในท้อง ตอนนี้เรามีพระพุทธรูปอยู่ด้วยกับเราสี่องค์ หายใจเข้าพระพุทธรูปก็สว่างขึ้น หายใจออกพระพุทธรูปก็สว่างขึ้น
              เหมือนกับว่าเราหายใจผ่านทางศีรษะของเรา ลมหายใจเข้า ผ่านพระองค์ที่หนึ่ง มาถึงองค์ที่สอง ถึงองค์ที่สาม ไปสิ้นสุดที่องค์ที่สี่ ภาพพระสว่างสดใสขึ้นตามลมหายใจ หายใจออก ลมหายใจกลับพระองค์ที่สี่ มาพระองค์ที่สาม มาที่พระองค์ที่สอง ไปหมดที่พระองค์ที่หนึ่ง ภาพพระยังคงใสสว่างอย่างนั้น
              หายใจเข้า ภาพพระพุทธรูปองค์ที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สี่ สว่าง หายใจออก พระพุทธรูปองค์ที่สี่ ที่สาม ที่สอง ที่หนึ่งก็สว่าง หายใจเข้าหนึ่ง สอง สาม สี่ หายใจออก สี่ สาม สอง หนึ่ง เข้าพระสว่างทุกองค์ ออกพระสว่างทุกองค์
              หายใจเข้า พระพุทธรูปองค์ที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สี่ สว่างขึ้น หายใจออก พระพุทธรูปองค์ที่สี่ ที่สาม ที่สอง ที่หนึ่ง สว่างขึ้น เข้า หนึ่ง สอง สาม สี่ ออก สี่ สาม สอง หนึ่ง เข้า หนึ่ง สอง สาม สี่ ออก สี่ สาม สอง หนึ่ง พระพุทธรูปสว่างไสวไม่มีประมาณ
              จากนั้นกำหนดภาพพระองค์ที่หนึ่ง องค์สอง และองค์สี่ มารวมกันอยู่ในอกของเรา กลายเป็นพระพุทธรูปแก้วใส อยู่ในอกของเราองค์เดียว ภาพพระทั้งสี่องค์ ตอนนี้เหลืออยู่ในอกของเราองค์เดียว
              กำหนดให้ท่านเลื่อนลงไปอยู่ในท้อง เล็กลงไปหน่อยหนึ่ง ตามลมหายใจเข้าไป อยู่ที่ท้องท่านก็เล็กลง เลื่อนออกมาตามลมหายใจออก ท่านก็ค่อย ๆ ใหญ่ขึ้น มาที่อก มาที่ศีรษะ ไปอยู่เหนือหัวโน่น ใหญ่เบ้อเร่อเลย
              หายใจเข้า ท่านก็ไหลเข้ามา จากใหญ่ก็เป็นเล็ก มาอยู่ในศีรษะ มาอยู่ในอก ลงไปที่ท้อง เป็นองค์เล็กจิ๋วอยู่ในท้องโน่น หายใจออก กำหนดภาพท่านใหญ่ขึ้น มาที่หน้าอก มาที่ศีรษะ ไปใหญ่โตมโหฬาร อยู่เหนือศีรษะเราโน่น
              หายใจเข้า พระพุทธรูปแก้วองค์ใหญ่เล็กลง ๆ ๆ ไปอยู่ในท้องของเรา หายใจออก พระพุทธรูปแก้วองค์เล็กใหญ่ขึ้น ๆ ๆ จนไปอยู่บนศีรษะของเรา หายใจเข้า ภาพพระเล็กลง ๆ ๆ ไปอยู่ในท้อง หายใจออก ภาพพระใหญ่ขึ้น ๆ ๆ เลื่อนไปอยู่บนศีรษะ
              คราวนี้กำหนดใจ ให้นิ่งอยู่กับภาพพระบนศีรษะ ตอนนี้เรามีพระพุทธรูปองค์เดียว พระพุทธรูปทุกองค์ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหมด อยู่บนศีรษะของเรา สว่างไสวไปทั่ว ให้กำหนดใจ แผ่เมตตาไปสู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย
              ให้รัศมีขาวสะอาดสว่างไสวของ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แผ่กว้างจากร่างกายของเราออกไป เหมือนอย่างกับเราโยนก้อนหินลงน้ำ แล้วน้ำกระเพื่อมเป็นวงกว้างออกไป ๆ ทุกที กว้างออกไปจากร่างกายของเรา เต็มทั้งห้อง ๆ นี้ ทั้งวัดนี้ ทั้งตลาด ทั้งอำเภอ ทั้งจังหวัด กำหนดใจกว้างออกไปเรื่อย ๆ ตั้งใจว่า
              “...มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ผู้ที่ชีวิตทั้งหลายของท่านเหล่านั้น ตกล่วงไปแล้วในวันหนึ่งคืนหนึ่ง ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้น จงไปเสวยสุขในสุคติภพโดยทั่วหน้ากันเถิด...”
              กำหนดกำลังใจ ให้แผ่กว้างออกไปเรื่อย ๆ จากทั้งจังหวัดก็ไปทั้งประเทศ ไปทั้งทวีป ไปทั้งโลก เหมือนกับภาพพระพุทธรูปและตัวเรา โตเต็มแผ่นดินแผ่นฟ้า โลกเราทั้งโลกเหมือนกับลูกอะไรเล็กๆ ลูกเดียว ที่อยู่ภายใต้ร่างกายของเรา กำหนดใจเอาไว้แผ่เมตตาออกไปให้ตั้งใจเอาไว้ว่า
              “...มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ผู้ที่ชีวิตของท่านทั้งหลายเหล่านั้น ตกอยู่ในความทุกข์ยากเศร้าหมอง เดือดร้อนลำเค็ญ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ เจ็บไข้ได้ป่วย พิกลพิการใดๆ ก็ดี ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้น จงได้ล่วงพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายนั้นเถิด...”
              กำหนดกำลังใจให้แผ่กว้างออกไปเรื่อย ๆ จากโลกนี้ไปสู่โลกอื่น ๆ ดวงดาวดวงอื่น ๆ ไปทั้งจักรวาลนี้ ไปทั้งจักรวาลอื่น ๆ ที่มีดวงดาวนับประมาณไม่ได้
              ไม่ว่าที่ไหนก็ตาม ที่มีมนุษย์ มีสัตว์ ขอให้เขาทั้งหลายเหล่านั้น ได้รับผลแห่งความเมตตา ที่แผ่ออกจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผ่านกายของเราออกไป ขอให้เขาทั้งหลายเหล่านั้น พ้นทุกข์ มีความสุขโดยทั่วหน้ากัน กำหนดใจสบาย ๆ คิดว่า
              “...มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ผู้ที่ท่านทั้งหลายเหล่านั้น มีความสุขความเจริญดีอยู่แล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้น มีความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยเถิด...”
              นึกถึงภาพพระที่ใสสว่าง นึกถึงตัวเราที่ใสสว่าง นึกถึงกระแสเมตตาที่ใสสว่าง ให้แผ่ปรกไปทั่วทั้งทุกภพทุกภูมิ ทุกหมู่ทุกเหล่า เบื้องต่ำสุด ถึงอเวจีมหานรก นรกทุกขุม เปรตทุกจำพวก อสุรกายทุกประเภท สัตว์เดรัจฉานทุกชนิด
              มนุษย์ทุกผู้ทุกนาม ในทุกจักรวาล เทวดาทั้งหมด พรหมทั้งหมด พระในนิพพานทั้งหมด ล้วนแต่อยู่ในกระแสเมตตา ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งสิ้น ให้กำหนดใจว่า
              “...มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น พึงเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กันและกัน เสียสละให้ปัน ช่วยเหลือเกื้อกูล แก่ผู้ที่ตกอยู่ใน ความทุกข์ยากยิ่งกว่าเรา ให้พ้นทุกข์ เพื่อยังสรรพสัตว์ทั้ง หลาย ไปสู่สันติสุขโดยถ้วนหน้าคือพระนิพพาน ด้วยกันทุกท่านทุกคนเทอญ...”
              จากนั้นน้อมจิตน้อมใจ กราบลงที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่สว่างไสว ที่ใหญ่โตหาประมาณไม่ได้ ให้คิดว่าท่านคือพระพุทธเจ้าที่เสด็จมาโปรดเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่อยู่ที่ใดเลยนอกจากพระนิพพาน เราเห็นท่านคือเราอยู่กับท่าน ถ้าเราอยู่กับท่านคือเราอยู่บนพระนิพพาน
              ให้กำหนดใจเบา ๆ สบาย ๆ มีองค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นอันหนึ่งอันเดียวอยู่กับเรา ความใส สะอาด สว่าง สงบ เยือกเย็นของพระนิพพานเป็นอันหนึ่งอันเดียวของเรา
              จากนั้นกำหนดใจดูสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่ตกอยู่ในอำนาจของไตรลักษณ์ คือความเป็นจริง ๓ อย่าง ได้แก่ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตนให้ยึดถือได้
              ดูว่า ไม่ว่าคน ว่าสัตว์ ว่าพืชก็ตาม เมื่อแรกเกิดก็เล็กนิดเดียว แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปเรื่อย ๆ เติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ จนอยู่ในวัยเด็ก จากเด็กเล็กก็เป็นเด็กโต เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นวัยกลางคน เป็นคนแก่ เป็นสัตว์แก่ เป็นต้นไม้ชรา
              ในที่สุดก็เสื่อมสลายตายพังไป มันไม่เที่ยงอย่างนี้ ขณะที่ดำรงชีวิตอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ต้องเจ็บ ต้องป่วย ต้องหนาว ต้องร้อน ต้องหิว ต้องกระหาย ต้องหาให้มันกิน หาให้มันดื่ม เข้าห้องน้ำ เข้าห้องส้วม รักษาพยาบาล ดูแลทำความสะอาดมัน ไม่ให้สกปรก
              ต้นไม้ทั้งหลายก็ต้องหากิน ต้องแผ่ขยายรากลงไปในหิน ในดิน ซึ่งบางที่ก็แข็งกว่าจะเจาะผ่านไปได้ ก็แสนลำบากยากเย็น กว่าจะหาธาตุอาหารได้สักส่วนหนึ่ง กว่าจะหาน้ำได้สักส่วนหนึ่ง มีแต่ความทุกข์อยู่ตลอดเวลา
              ไม่ว่าจะคน จะสัตว์ จะวัตถุธาตุ สิ่งของใดๆ ก็ตาม ตกอยู่ในความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์อย่างนี้ทั้งนั้น จากนั้นก็กำหนดใจดูไปว่า ตัวคนก็ดี ตัวสัตว์ก็ดี ต้นไม้ก็ดี สิ่งของก็ดี มันไม่มีอะไร เป็นส่วนประกอบแท้จริงส่วนเดียว ล้วนเกิดจากสิ่งของหลายอย่าง รวมกันขึ้นมาเป็นตัวเป็นตนทั้งนั้น
              เอาตัวเราเป็นหลักก็แล้วกัน ร่างกายของเรานี้เกิดจากธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ รวมกันขึ้นมาชั่วคราว แล้วเราก็มาอาศัยอยู่ เหมือนคนที่อยู่ในบ้าน เหมือนเต่าที่อยู่ในกระดอง เหมือนหอยที่อยู่ในเปลือก เหมือนคนที่ขับรถยนต์ ธาตุ ๔ นี้เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ เป็นอย่างไร ? ให้กำหนดใจนึกตามไป
              ธาตุดิน คือส่วนที่แข็ง เป็นแท่ง เป็นก้อน เป็นชิ้น เป็นอัน ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก เส้นเอ็น ตับ ไต ไส้ ปอด อวัยวะภายในใหญ่น้อย อวัยวะภายนอกใหญ่น้อย ทั้งปวงที่จับได้ต้องได้ มีความแข็งเรียกว่าธาตุดิน
              ธาตุน้ำ คือส่วนที่เหลว เอิบอาบไหลอยู่ในร่างกายของเรา คือเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำตา น้ำลาย น้ำดี เหงื่อ ไขมันเหลว ปัสสาวะ
              ธาตุลม คือส่วนที่พัดไปมาอยู่ในร่างกายของเรา มีลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมที่ค้างในท้อง ลมที่ค้างในไส้ เรียกว่าแก๊ส ลมที่พัดขึ้นเบื้องสูง พัดลงเบื้องต่ำ พัดไปทั่วร่างกาย เรียกความดันโลหิต
              ธาตุไฟ คือส่วนที่ให้ความอบอุ่น ได้แก่ ไฟธาตุที่กระตุ้นร่างกายให้เจริญเติบโต เผาผลาญร่างกายให้ทรุดโทรมลง ช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยในการรักษาสภาพความสมดุลของร่างกายเราเอาไว้
              ลองแยกทั้งหมดออกเป็น ๔ ส่วนด้วยกัน คือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก เส้นเอ็น ตับ ไต ไส้ ปอด อวัยวะภายในภายนอก รวมไว้กองหนึ่ง
              ส่วนที่เป็นน้ำ คือ เลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำตา น้ำลาย น้ำดี เหงื่อ ไขมันเหลว ปัสสาวะ แยกไว้อีกกองหนึ่ง
              ส่วนที่เป็นลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมในท้อง ลมในไส้ ลมพัดขึ้นเบื้องสูง ลมพัดลงเบื้องต่ำ ลมพัดไปทั่วร่างกาย แยกไว้อีกกองหนึ่ง
              ส่วนที่เป็นความอบอุ่นในร่างกาย ที่ก่อให้เกิดความสมดุล ส่วนที่ช่วยเผาผลาญย่อยอาหาร ส่วนที่กระตุ้นร่างกายให้เจริญเติบโต ทำลายร่างกายให้ทรุดโทรมลง แยกไว้อีกกองหนึ่ง
              จะเห็นว่ากองนี้คือดิน กองนี้คือน้ำ กองนี้คือลม กองนี้คือไฟ ไม่มีอะไรเหลือเป็นเราเลยแม้แต่นิดหนึ่งก็ไม่มี เอาดิน เอาน้ำ เอาลม เอาไฟเหล่านี้มาขยำรวม ๆ กันเข้า ปั้นเป็นตัวเป็นตนขึ้นมา เรามาอาศัยมันอยู่ ก็ไปคิดว่าเป็นตัวกู ของกู
              ตัวเรา ของเรา จริง ๆ แล้วมันไม่มี มันเป็นรถยนต์ที่เราอาศัยขับมันอยู่ มันเป็นกระดองที่เต่าต้องแบกไป มันเป็นเปลือกที่หอยต้องแบกไป มันเป็นบ้านที่เราอาศัยมันอยู่ ถึงเวลาบ้านพังก็ไม่เกี่ยวกับเรา
              ขณะที่อยู่กับมัน ก็มีแต่ความเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยน แปลงในท่ามกลาง สลายตัวไปในที่สุด อยู่กับมันก็มีแต่ความทุกข์ ทุกข์ของการเกิด ทุกข์ของการแก่ ทุกข์ของการเจ็บ ทุกข์ของการตาย
              ทุกข์ของการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ทุกข์ของความปรารถนาไม่สมหวัง ทุกข์ของการกระทบกระทั่งอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ เกิดมาเมื่อไหร่ก็ทุกข์อย่างนี้อีก เกิดมาเมื่อไหร่ ก็มีร่างกายที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราอีก อยู่บนโลกที่ทุกข์ยากแบบนี้อีก มีสถานที่เดียวที่ไม่เกิดไม่ตาย ก็คือ พระนิพพาน
              เมื่อเห็นชัดแล้วว่า ร่างกายนี้หาความดีไม่ได้ มีแต่ความทุกข์ แล้วเรายังจะปรารถนาร่างกาย ที่เต็มไปด้วยความทุกข์อย่างนี้ ปรารถนาโลกที่ทุกข์ยากเร่าร้อนอย่างนี้ไปอีกทำไม ? เพราะเกิดอีกเมื่อไร ก็ทุกข์เมื่อนั้น
              ขึ้นชื่อว่าการเกิดเช่นนี้ เราไม่ต้องการมันอีกแล้ว ขึ้นชื่อว่าร่างกายที่มีแต่ความทุกข์เห็นปานนี้ เราไม่ต้องการมันอีกแล้ว ขึ้นชื่อว่าโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากเร่าร้อนนี้ เราไม่ต้องการมันอีกแล้ว
              เป็นเทวดาหรือพรหม มีความสุขเพียงชั่วคราว หมดบุญเมื่อไหร่ก็ต้องลงมาทุกข์อีก เราไม่ต้องการมันอีกแล้ว ตายลงไปเมื่อไรเราขอมาอยู่ที่นี่ อยู่ที่พระนิพพานกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่ที่พระนิพพานนี้เท่านั้น
              เอาใจเกาะพระนิพพานให้มั่นคง ทรงอารมณ์นี้เอาไว้ ให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ จนกว่าจะได้ยินเสียงบอกหมดเวลา ?

พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
วันพฤหัสบดีที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๗