๗. การปฏิบัติพระกรรมฐาน


              ครั้งนี้เราเท่ากับว่า เริ่มกรรมฐานรอบใหม่ของปีใหม่ ทิ้งกันไปหลายวันให้ทำกันเอง กำลังใจก็ไม่ทรงตัว พวกเราทุกคน จำเป็นที่จะต้องรักษากำลังใจ ให้ทรงตัวให้ได้ เพราะว่าการเกาะในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือเกาะในครูบาอาจารย์ ขอให้เกาะให้ถูกต้อง
              ถ้าตราบใดที่เรายังต้องอาศัยท่านอยู่ โดยเฉพาะครูบาอาจารย์ที่มีกายเนื้อ ตราบนั้นเรายังเอาตัวรอดไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า อตฺตาหิ อตฺตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน ถ้าหากว่าเรายังไม่สามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง
              ต่อไปถ้าหากว่าสิ้นท่านไป เราก็จะเคว้งคว้าง หาที่เกาะไม่ได้ พระพุทธเจ้าถึงได้ตรัสไว้ว่า ขอให้มีตัวเองเป็นเกาะ ขอให้มีตัวเองเป็นฝั่ง เพื่อที่จะให้ข้ามวัฏฏะสงสารนี้ให้ได้ การมีตัวเองเป็นเกาะ คืออย่างน้อย ๆ ต้องสร้างศีล สมาธิ ปัญญา ให้ทรงตัว
              เพื่อว่าเราซึ่งอยู่ท่ามกลางทะเลทุกข์นี้ ถ้าเรามีเกาะเป็นเครื่องอาศัย เราก็จะทุกข์น้อยกว่าคนอื่น หรือว่ามีตนเองเป็นฝั่ง คือเราจะสามารถก้าวล่วงทะเลทุกข์นี้ขึ้นสู่ฝั่งได้ อันนี้ก็ถือว่าประเสริฐที่สุด
              การปฏิบัติทุกครั้งอย่าลืม เริ่มต้นที่ลมหายใจเข้าออก สติทั้งหมดอยู่ที่ลมหายใจ หายใจเข้ารู้อยู่ หายใจออกรู้อยู่ หายใจเข้ากระทบจมูก กระทบกึ่งกลางอก ลงไปสุดที่ท้องให้รู้ตลอดไป หายใจออกจากท้อง ผ่านกึ่งกลางอก มากระทบปลายจมูกให้รู้อยู่ตลอดไป
              สติมันเคลื่อนไปสู่อารมณ์อื่นเมื่อไหร่ ให้ดึงมันกลับมา อยู่กับลมหายใจเข้าออกเมื่อนั้น ถ้าเราหมั่นทำอย่างนี้บ่อย ๆ กำลังใจจะทรงตัวได้ง่าย ก้าวถึงระดับของฌานสมาบัติได้ง่าย
              มันมีอยู่จุดหนึ่งที่อยากจะเตือนคือว่า พวกเราพอก้าวถึงความมั่นคงระดับหนึ่งแล้ว มันผ่านขั้นตอนอะไรมา เรามักจะไปตามดู ตามจี้มันอยู่ตรงนั้น ซึ่งอันนี้ผิด อย่างการทรงปฐมฌาน มันจะผ่านอารมณ์วิตก คือนึกอยู่ว่าภาวนา วิจารณ์คือ รู้อยู่ว่าตอนนี้ภาวนาอยู่
              ลมหายใจแรงหรือเบา ยาวหรือสั้น คำภาวนาว่าอะไรรู้อยู่ ปีติ มีอาการ ต่าง ๆ ๕ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น คือขนลุก น้ำตาไหล ร่างกายโยกโคลง ร่างกายลอยขึ้น หรือว่าตัวพองตัวใหญ่ ตัวรั่วเป็นรูมาก ๆ หรือว่าแตกระเบิดไปเลย
              ถัดไปคือสุข ความเยือกเย็นใจ เนื่องจากกำลังใจทรงตัวอยู่เฉพาะหน้า ทำให้รัก โลภ โกรธ หลง ที่แผดเผาเราอยู่ ต้องดับลงชั่วคราว มันเย็นกายเย็นใจบอกเป็นภาษาคนไม่ถูก อันดับสุดท้ายคือเอกัคตา อารมณ์ตั้งมั่นเป็นหนึ่งเดียว ไม่เคลื่อนคล้อยไปที่อื่น
              พอขั้นตอนต่าง ๆ นี้เกิดขึ้น เราจำมันได้ พอถึงเวลาก็นี่วิตกนะ นี่วิจารณ์นะ นี่ปีตินะ เดี๋ยวมันจะต้องสุข เดี๋ยวมันจะต้องเป็นเอกัคตา ถ้าเราไปตามจี้มันอยู่ในลักษณะนี้ อารมณ์มันจะไม่ทรงตัว
              เพราะอารมณ์ใจนั้น มันประกอบด้วยความอยากมากเกินไป มันเป็นอารมณ์ของอุทธัจจะกุกกุจจะ คือความฟุ้งซ่านของใจเราเอง ความฟุ้งซ่านเป็นนิวรณ์ คือกิเลสที่หยาบ ถ้าตราบใด กิเลสหยาบห้าตัวตัวใดตัวหนึ่งอยู่ในใจของเรา ตราบนั้นกำลังใจจะไม่ทรงตัว
              ดังนั้น ให้เรากำหนดภาวนาเฉย ๆ กำหนดรู้ลมเฉย ๆ เรามีหน้าที่ภาวนา เราภาวนาของเราไป มันจะเป็นฌาน หรือไม่เป็นฌาน เป็นเรื่องของมัน สิ่งที่ต้องระวังอีกจุดหนึ่งก็คือเมื่อก้าวเข้าถึงตัวปีติ อารมณ์ใจมันจะไม่อิ่ม ไม่เบื่อ ไม่หน่ายในการปฏิบัติ ต้องระมัดระวังไว้
              ให้ตั้งเวลาการปฏิบัติไว้ เอาประมาณครึ่งชั่วโมง หรืออย่าให้เกินหนึ่งชั่วโมง เหตุที่ต้องตั้งอารมณ์ปฏิบัติเอาไว้ เพราะว่าถ้าไปทุ่มเทมันมาก ๆ ก็เหมือนกับคนที่โหมทำงานหนัก ถึงเวลามันจะทรงตัวได้แค่ครั้งเดียว รุ่งขึ้นทำงานหนักอย่างเดิมไม่ได้
              ขณะเดียวกัน การปฏิบัตินั้น ถ้าเราไม่ถอนอารมณ์ใจออกมา มันจะข้ามวันข้ามคืน โดยไม่รู้ตัว ร่างกายทนไม่ไหว ประสาทร่างกายมันชำรุดลง อันตรายมันจะเกิดขึ้น คืออยู่ในลักษณะที่เรียกว่ากัมมัฏฐานแตก สติแตก หรือบางคนก็ป้ำ ๆ เป๋อ ๆ ทำให้เป็นบ้าไป
              จริง ๆ แล้วกรรมฐานช่วยให้หายบ้า ที่ทำแล้วเป็นบ้าเพราะว่าทำมากเกินไป ไม่รู้จักประมาณ เมื่อเราตั้งเวลาไว้ครึ่งชั่วโมง หรือหนึ่งชั่วโมงแล้ว เมื่อเลิกจากนั้นให้ประคับประ คอง รักษาอารมณ์ของเราให้อยู่ตลอด เปลี่ยนอิริยาบถอื่น ไปทำการทำงาน จากนั่งเป็นยืน เป็นเดิน เป็นนอน การเปลี่ยนอิริยาบถ ร่างกายจะได้พักผ่อน มันจะได้ไม่ตึงจนเกินไป
              ส่วนอีกจุดหนึ่งก็คือ เมื่ออารมณ์ใจเริ่มก้าวสู่สมาธิที่สูงขึ้น ลมหายใจเข้าออกมันจะเบาลงโดยอัตโนมัติ ละเอียดลงโดยอัตโนมัติ บางทีคำภาวนาก็หายไป บางทีลมหายใจพร้อมกับคำภาวนา ก็หายไปด้วยกัน
              บางคนรู้สึกตกใจว่า เอ๊ะ..เราไม่ได้หายใจ เอ๊ะ..เราไม่ได้ภาวนา แล้วก็รีบตะเกียกตะกายหายใจใหม่ ภาวนาใหม่ อันนั้นทำให้กำลังใจ ถอยกลับมาสู่จุดแรกเริ่ม เขาให้กำหนดรู้ไว้เฉย ๆ ให้รู้ว่าตอนนี้ลมหายใจมันเบา ตอนนี้คำภาวนามันหายไป รู้ไว้เฉย ๆ
              ไม่ต้องไปตกอกตกใจ ไม่ต้องไปอยากมัน ไม่ต้องไปสนใจว่าขั้นตอนต่อไปมันจะเป็นอย่างไร รักษาอารมณ์ให้ทรงตัวให้เป็นปกติ เมื่อถึงเวลามันก็จะก้าวข้ามไป
              เมื่อลมหายใจเบาลง หลังจากนั้น กระทั่งลมหายใจและการภาวนาก็หายไป ร่างกายเหมือนกลายเป็นหินไป ความรู้สึกรวมอยู่จุดเดียว สว่างโพลงเฉพาะหน้าไม่สนใจอารมณ์อื่น
              ให้กำหนดใจว่า เราจะอยู่ในอารมณ์นี้ ประมาณครึ่งชั่วโมงหรือประมาณหนึ่งชั่วโมง แล้วก็ถอยออกมา จิตมันมีสภาพจำ เมื่อถึงเวลา มันจะถอยออกมาของมันเอง จะได้ไม่เผลอ ข้ามคืนข้ามวันไปโดยไม่รู้ตัว
              สมาธิยิ่งลึกเท่าไหร่ เวลาก็ผ่านไปแบบไม่รู้ตัวมากเท่านั้น เรารู้สึกว่าแป๊บเดียวบางทีผ่านไปครึ่งค่อนวัน ข้ามคืนไปแล้วก็มี พวกขั้นตอนเหล่านี้เราต้องจดจำให้ขึ้นใจ ถึงเวลาถึงวาระ อารมณ์ใจอะไรเกิดขึ้น เราจะต้องรับมือมันได้ตามขั้นตอนที่ว่ามา จะได้ไม่เสียประโยชน์ของเราเอง
              ตัวผมเองติดอยู่ในขั้นตอนเหล่านี้ แค่อารมณ์ปฐมฌาน ผมติดอยู่ตั้ง ๓ ปี เพราะว่ารู้ขั้นตอนมันหมด ก็เลยตามดู ตามจี้มันอยู่ตลอด โดยที่ไม่รู้ว่าตัวนั้นเป็นอารมณ์ฟุ้งซ่าน จนกระทั่งวันหนึ่งทำใจไว้ว่า ต่อไปนี้มันจะเป็นหรือไม่เป็นก็ช่างเถอะ เราภาวนาก็แล้วกัน คิดแค่นั้นอารมณ์ทรงตัวทันที
              ดังนั้น พวกเราอย่าก้าวข้ามขั้นตอนไป หรือว่าอย่าไปตามจี้ขั้นตอนของมัน อารมณ์ใจของเราเป็นอย่างไร ให้เราเอาสติกำหนดรู้เท่านั้น อีกอย่างหนึ่งคือตัวเมตตา ตัวพรหมวิหาร ๔ เป็นตัวที่จะหล่อเลี้ยงจิตใจของเราให้เยือกเย็น หล่อเลี้ยงกรรมฐานให้เจริญยั่งยืนได้
              แต่ละวันพยายามแผ่เมตตา โดยให้อารมณ์ใจทรงตัว ในลักษณะที่เคยสอนไปให้มากที่สุด การที่เราแผ่เมตตาออกไป นอกจากจะทำให้คนและสัตว์ทั้งหลาย ตลอดจนกระทั่งสิ่งที่เราไม่เห็นตัว คือเหล่าอทิสมานกายต่าง ๆ เป็นมิตรกับเรา มีความรักใคร่ ให้การสงเคราะห์กับเราแล้ว
              กำลังใจที่ทรงตัว ด้วยอารมณ์ของพรหมวิหารนั้น จะก้าวขึ้นสู่ระดับความเป็นพระอริยเจ้าง่ายมาก เพราะว่าจิตที่มีเมตตา ไม่คิดเบียดเบียนใคร อารมณ์ใจที่ทรงไว้อยู่อย่างนั้น ศีลทุกข้อจะรักษาได้โดยอัตโนมัติ
              เรารักเขา เราสงสารเขา เราก็จะไม่ฆ่าเขา เรารักเขา เราสงสารเขา เราก็ไม่ลักขโมยเขา เรารักเขา เราสงสารเขา เราก็ไม่ละเมิดในคนที่เขารัก เรารักเขา เราสงสารเขา เราอย่าไปโกหกเขา เราอยากมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ อยากเห็นคนอื่นมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เราก็ไม่ดื่มเครื่องดองของเมา และก็ไม่แนะนำให้คนอื่นทำเช่นนั้นด้วย
              ดังนั้น การปฏิบัติของเราทุกครั้ง ลมหายใจเข้าออก เป็นหลักสำคัญประการที่หนึ่ง ประการที่สองก็คือ ต้องแผ่เมตตา จนอารมณ์ใจของเราทรงตัว ประการสุดท้ายก็คือพยายามพิจารณา ให้เห็นสภาพร่างกายของเรานี้
              ให้เห็นว่ามันไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปในท่ามกลาง สลายตัวไปในที่สุด ให้เห็นว่า ถ้าหากเรายึดถือมั่นหมาย ยึดเกาะติดอยู่กับส่วนใดส่วนหนึ่งก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นส่วนหยาบ ส่วนละเอียด มีรูปหรือไม่มีรูป ล้วนแล้วแต่พาให้เราทุกข์
              โดยเฉพาะการอยู่กับร่างกายนี้ มีแต่ความทุกข์ การดำเนินชีวิตอยู่ในโลกนี้มีแต่ความทุกข์ พยายามหลีกหนีมัน ไปให้พ้นให้ได้ อีกอย่างหนึ่ง ที่ต้องดูให้เห็นชัดเจนก็คือ ร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
              มันเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประกอบขึ้นมาให้เราอาศัยอยู่เท่านั้น เมื่อถึงวาระ ถึงเวลา มันพังสลายลงไป เราก็ต้องแยกจากมันไป ต้องดูให้เห็นให้ชัดเจน เพื่อที่จิตจะได้ไม่ยึดมั่นถือมั่นในร่างกายของเราเอง จะได้ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นในร่างกายของคนอื่นเขา
              เห็นทุกอย่างให้ไม่เที่ยง เห็นทุกอย่างให้เป็นทุกข์ เห็นทุกอย่างว่าไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา โดยเฉพาะอารมณ์กระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ต้องระมัดระวังให้จงหนัก สิ่งที่ตาเห็น หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัส ต้องหยุดมันไว้ให้ทัน ให้มันอยู่แค่ตรงที่สัมผัสนั้น อย่าให้มันเข้ามาในใจ พอมันเข้ามาในใจ จิตสังขารก็เริ่มนึกคิดปรุงแต่ง ชอบหรือไม่ชอบเป็นโทษทั้งสิ้น ชอบเป็นราคะ ไม่ชอบเป็นโทสะ ทันทีที่เราปรุงแต่ง ราคะ โทสะ โมหะ มันจะเจริญงอกงามทันที ต้องระวังมันไว้ให้ทัน หยุดมันไว้ให้ทัน
              ถ้าสติของเรา อยู่กับลมหายใจเข้าออก สติจะแหลมคม ปัญญาจะกระจ่าง จะสามารถรู้เท่าทัน และหยุดมันเอาไว้ได้ ดังนั้น เราทิ้งลมหายใจเข้าออกไม่ได้ ไม่ว่าการปฏิบัติในระดับไหนก็ตาม ลมหายใจสำคัญที่สุด
              ตามมาด้วยเครื่องหล่อเลี้ยง คือเมตตาพรหมวิหารทั้ง ๔ ข้อ และการพิจารณาให้เห็น สภาพความเป็นจริงของร่างกาย โดยเฉพาะจุดสุดท้าย ให้ทุกคนส่งกำลังใจเกาะพระนิพพานเอาไว้ เกาะพระนิพพานตามกำลังของมโนมยิทธิก็ดี ตามกำลังของอภิญญาสมาบัติก็ดี
              หรือกำหนดภาพพระขึ้นตรงหน้า ตั้งใจว่านั่นเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่เฉพาะพระนิพพานเท่านั้น เราเห็นท่านคือเราอยู่กับท่าน เราอยู่กับท่านคือเราอยู่บนพระนิพพาน
              ให้ตั้งใจรู้อยู่เสมอว่าเราต้องตาย ตายเมื่อไหร่ เราต้องไปพระนิพพานให้ได้ ไม่อย่างนั้นทุกข์โทษเวรภัยต่าง ๆ ที่เราทำสร้างเอาไว้ในอดีต มันจะลงโทษเรา ให้ตกนรก ลำบากอย่างไม่รู้จบ แทบจะไม่เห็นว่ามันจะสิ้นสุดลงตรงไหน
              จะต้องเกิดเป็นเปรต อดอยากหิวโหย อยู่ในระยะเวลาอันเนิ่นนานเหลือเกิน จะต้องเกิดเป็นอสุรกายหลบ ๆ ซ่อน ๆ หากินไม่เต็มปากเต็มท้อง จะต้องเป็นสัตว์เดรัจฉาน ลำบากด้วยการหากินไม่ได้อย่างใจ ปรารถนาอย่างหนึ่งอาจจะได้อย่างหนึ่ง ตกอยู่ในภัยอันตรายตลอดเวลา
              สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ จะต้องพิจารณาให้เห็น ถ้าเราไปนิพพานไม่ได้ เราต้องพบกับมันแน่ ๆ ดังนั้น มีเวลาว่างเมื่อไหร่ ส่งกำลังใจเกาะนิพพานไว้ให้เป็นปกติ ตั้งใจแผ่เมตตา เห็นหมู หมา กา ไก่ ก็ดี เห็นคนก็ดี ให้มีจิตประกอบไปด้วย เมตตาพรหมวิหารอยู่เสมอ เห็นเขาเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งสิ้น
              การปฏิบัติของเรา จะโดนทดสอบอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะสิ่งที่กระทบแล้ว ให้เกิดรักเกิดชอบใจ สิ่งที่กระทบแล้ว ให้เกิดโทสะจริตขึ้นมา ต้องดูต้องรู้เท่าทันมัน ถ้าเราเห็นสภาพความเป็นจริงของร่างกายนี้ เห็นสภาพความเป็นจริงของร่างกายคนอื่น ตัวราคะกับโลภะก็กำเริบไม่ได้ เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ล้วนแล้วแต่สลายตายพังไปหมด ไม่มีสิ่งใดทรงตัว ยึดถือมั่นหมายไปก็ทุกข์ มีกายหนึ่งก็ทุกข์ห้า มีสองกายก็ทุกข์สิบ มีสามกายก็ทุกข์สิบห้า มีแต่เพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ
              อีกประการหนึ่งก็คือ สภาพร่างกายเรานี้ ถ้าหากเรายึดถือมั่นหมายมัน นอก จากอารมณ์ราคะ โลภะ เกิดแล้ว โทสะยังเกิดอีก โทสะส่วนใหญ่มี พื้นฐานมาจากมานะ การถือตัวถือตน พอกระทบเข้า ความถือตัวบังเกิดขึ้น ได้ยินแล้วหูร้อน ได้เห็นแล้วตาร้อน ส่วนใหญ่เอาตัวเองเข้าไปเปรียบ เอาตัวเองเข้าไปวัด แล้วกำหนดมาตรฐานขึ้นมาเอง
              ดังนั้นเราจะต้องรู้เท่าทันมัน ต้องคิดให้เป็นปล่อยให้เป็น วางให้เป็น ทันทีที่ตาเห็นแล้วไม่ชอบใจ ทันทีที่หูได้ยินแล้วไม่ชอบใจ ทันทีที่จมูกได้กลิ่นแล้วไม่ชอบใจ ทันทีที่ลิ้นได้รสแล้วไม่ชอบใจ ทันทีที่กายสัมผัสไม่ชอบใจ ก็อย่าให้มันเข้ามาในใจเลย
              มันจะได้ไม่กระทบ ชอบหรือไม่ชอบจะได้จบลงตรงนั้น ถ้ากระทบแล้วอารมณ์โทสะมันเกิด ให้พิจารณาดู โดยเฉพาะสิ่งที่คนอื่นเขาทำให้เห็น สิ่งที่คนอื่นเขาพูดให้ได้ยิน ต้องแยกแยะ ต้องพิจารณาให้เป็น
              อันดับแรกให้ดูว่า สิ่งที่เขาทำนั้นเป็นจริงมั้ย ? สิ่งที่เค้าพูดนั้นเป็นจริงมั้ย ? ถ้ามันเป็นความจริง เราไม่ควรจะไปโกรธ ไปเกลียดเขา เขาอุตสาห์ลงทุนยอม เป็นกระจกส่องให้เห็นหน้า อันน่าเกลียดน่าชังของเราเอง เราจะได้แก้ไขเพื่อที่มันจะได้ดีขึ้น
              เราควรจะโกรธกระจกหรือไม่ ? คนที่ทำให้เราเห็นตัวของเราเอง ก็จัดว่าเขาเป็นครู นักเรียนคนไหนเกลียดครู นักเรียนคนนั้นเอาดีไม่ได้ หาความก้าวหน้าไม่ได้ ดังนั้นถ้าว่ามันเป็นจริง ควรจะรับไว้ด้วยความขอบคุณ แล้วพยายามแก้ไขตัวเราไป
              ถ้ามันไม่มีความเป็นจริง บุคคลที่โง่เขลาเบาปัญญา กระทั่งความจริงเป็นอย่างไร เขาก็ยังไม่รู้ คนแบบนี้น่าสงสารมากกว่าน่าโกรธ ให้อภัยเขาเถอะ สงสารเขาเถอะ คนที่อารมณ์ใจเป็นแบบนี้ กายวาจาใจเป็นแบบนี้ เขายังต้องเกิดอีกนาน ยังต้องทุกข์ยากลำบากอีกนาน เราจะโกรธเขาไม่โกรธเขา เบียดเบียนไม่เบียดเบียนเขาก็ทุกข์อยู่แล้ว
              ถ้าเรารู้จักคิดดังนี้ อารมณ์โกรธ มันจะไม่สะสมอยู่ในจิตของเรา ถ้าคิดไม่เป็นมันสะสมไปเรื่อย ๆ ทีละเล็กทีละน้อย ท้ายที่สุด คนสุดท้ายนั้นจะโชคร้าย พอเขากระทบนิดเดียว เราก็ระเบิดตูมใส่หน้าเขา
              บางคนก็จะสงสัยว่า เอ๊ะ..ทำนิดเดียวแค่นี้โกรธขนาดนี้เชียวหรือ ? บางคนแทบจะฆ่าให้ตายไปเลยก็มี เพราะว่าคิดไม่เป็น ปล่อยวางอารมณ์ไม่เป็น ตัดอารมณ์ทิ้งไม่เป็น ต้องรู้จักวิเคราะห์ รู้จักวิจัย รู้จักดูความก้าวหน้าของตนเอง
              วันนี้รัก โลภ โกรธ หลงของเรา ลดลงหรือไม่ ? มีโอกาสให้รัก ให้ชอบใจ มีโอกาสให้อยากได้ใคร่ดี เราตัดมันได้หรือไม่ ? อารมณ์รัก ตัดได้ด้วยอสุภกรรมฐาน กายคตานุสติกรรมฐาน
              ความโลภตัดได้ด้วยจาคานุสติ และทานบารมี คือการเสียสละให้ปันเขา มีโอกาสให้ เราละเว้นโอกาสนั้นหรือเปล่า ? มีความตระหนี่ถี่เหนียวอยู่ในใจหรือเปล่า ? อารมณ์โทสะ แก้ไขได้ด้วยพรหมวิหาร ๔ รักเขาเสมอตัวเรา ก็อย่าไปโกรธไปเคืองเขา สงสารอยากให้เขาพ้นทุกข์ ก็อย่าไปเบียดเบียนเขา แม้แต่ด้วยกาย วาจา หรือใจ เห็นเขาได้ดี อย่าไปอิจฉาริษยาเขา
              ความอิจฉาริษยา มันทำให้ใจของเราเศร้าหมอง มันทำให้ตัวของเราตกต่ำเอง พยายามยินดีกับความดีของเขา เขาต้องสร้างบุญไว้ดีในอดีต ปัจจุบันเขาถึงได้รับความดีอย่างนั้น
              ถ้าเราอยากได้ดีแบบนั้น เราต้องสร้างปัจจุบันนี้ให้ดี อนาคตข้างหน้าเราก็จะดีเช่นเขา หรือดีกว่าเขา ถ้าทุกสิ่งทุกอย่าง เราพยายามสงเคราะห์ พยายามช่วยเหลือแล้ว ไม่อาจสงเคราะห์ ไม่อาจช่วยเหลือได้ เราต้องหยุด รักษากำลังใจของเราให้ดี จะได้ไม่ไปเศร้าหมอง ไม่ไปคิดมากอยู่กับมัน และที่สำคัญก็คือ ถ้าหากว่าเราปล่อยไม่ได้ วางไม่ได้ เราก็หลุดพ้นไม่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าหยุดลงเป็น มันจะเป็น สังขารุเปกขาญาณ สักแต่ว่าอยู่ สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าทำ
              รู้ว่าดีก็ทำ รู้ว่าชั่วก็ละ ใจไม่เกาะทั้งดีทั้งชั่วไม่เกาะแม้ร่างกายตัวเอง ไม่เกาะทั้งร่างกายคนอื่น ไม่เกาะโลกไหน ๆ ที่ไม่ใช่พระนิพพาน จิตใจทั้งหมดปล่อยวาง อารมณ์พระนิพพาน จะเต็มอยู่ในใจเอง
              แรก ๆ เราก็ต้องเกาะ แต่ถ้าดำเนินมาถึงจุดนี้ไม่ต้องเกาะแล้ว อารมณ์พระนิพพานที่เต็มอยู่ในใจ จะทำให้เรารู้ว่า ตายตอนนี้เราก็นิพพานตอนนี้ นั่นแหละที่ภาษาพระท่านบอกว่า ญาณคือเครื่องรู้ มันเกิดขึ้น
              แต่ถึงเครื่องรู้มันเกิดขึ้น เราก็ประมาทไม่ได้ ต้องพยายามประคับประคอง รักษาอารมณ์พระนิพพาน ให้อยู่กับเรา แรก ๆ เราต้องส่งใจขึ้นไปก่อน แต่พออารมณ์นิพพานเต็มอยู่ในใจ มันไม่ต้องเกาะอะไรแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างปล่อยหมด วางหมด
              มันจะเป็นไปเฉพาะหน้าของมันเท่านั้น คือร่างกายก็ทำหน้าที่ของตนไป อะไรเกิดขึ้นกับมัน ก็รับรู้แก้ไขไปพลาง แก้ไขได้ตกก็ไม่ยินดี แก้ไขไม่ตกก็ไม่ยินร้าย รู้อยู่ว่าการเกิดของร่างกายมันเป็นแบบนี้ อารมณ์จิตมันจะปล่อยวางทั้งหมด
              ทุกข์ทั้งหลายที่ส่วนใหญ่แล้ว คนเขาแบกเอาไว้ เมื่อถึงตอนนั้น ถึงวาระนั้น ทุกข์เป็นเรื่องที่เรากำหนดรู้เท่านั้น รู้แล้วก็ปล่อยมันเอาไว้ตรงนั้น วางไว้ตรงนั้น จิตใจก็เบา สบายแต่มีความสุข
              เรื่องทุกข์ต่างๆ เป็นเรื่องของร่างกาย เราจะเห็นอย่างชัดเจนว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด มีแต่บารมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งของเรา มีแต่พระนิพพานเต็มอยู่ในใจของเราเท่านั้น
              อารมณ์ใจสุดท้าย ให้เกาะพระนิพพานไว้ในลักษณะอย่างนี้ ถ้าไม่ต้องเกาะ มีพระนิพพานอยู่ในจิตในใจเลย ตรึงอยู่ในจิตในใจเลย ยิ่งเป็นการดี ดังนั้น เรายิ่งต้องทบทวนตัวเอง ยิ่งต้องฝึกฝนตัวเองให้มากเข้าไว้
              เมื่อถึงวาระ ถึงเวลาจะได้ยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรแน่นอน ครูบาอาจารย์ไม่ได้อยู่กับเราตลอด ถึงเวลาต่างคนก็ต่างไป ต่างคนต่างตาย เกาะความดีก็ไปดี เกาะความชั่วก็ไปชั่ว ไม่เกาะอะไรเลยก็ไปนิพพาน ขอให้ทุกคนนึกถึงขั้นตอนต่าง ๆ อีกครั้งหนึ่งว่า ลมหายใจเข้าออก ทิ้งไม่ได้ เมตตาพรหมวิหาร ต้องให้ทรงตัว การพิจารณาวิปัสสนาญาณก็ต้องมี และจิตสุดท้ายให้เกาะที่พระนิพพาน
              กำหนดสติ สมาธิ ปัญญา รู้เท่าทันสิ่งต่าง ๆ ที่มากระทบ กระทบแล้วก็วางมันลง อย่าไปนึก ไปคิด ไปปรุง ไปแต่ง ถ้าคิดปรุงแต่งเมื่อไหร่ ก็ชอบหรือไม่ชอบเมื่อนั้น แต่ละวันรักษาอารมณ์ใจเราให้ได้อย่านี้ทุกวัน ๆ
              อย่าลืมใช้ฝึกฝนใจไปเกาะนิพพานให้ได้ ขั้นตอนการปฏิบัติ ให้ทบทวนแบบนี้ทุกวัน ๆ ทำแบบนี้ทุกวัน ย้ำแล้วย้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก ต่อให้มั่นใจขนาดไหน ก็ต้องทวนเอาไว้เพื่อความสุขทั้งปัจจุบัน และอนาคตของเรา อย่าลืมว่าคลายอารมณ์ออกมาแล้ว รักษามันให้อยู่กับเราให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ?

พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
วันพุธที่ ๗ มกราคม ๒๕๔๗


งานสรงน้ำพระ ที่วัดท่าขนุน ๑๕ เมษายน ๒๕๔๙

๘. พุทธานุสติ


              ขอให้ทุกคนนั่งในท่าที่สบาย จริงๆ แล้วท่าที่สบายที่สุด คือแล้วแต่ความถนัดของเรา เพียงแต่ว่าตอนนี้ เราปฏิบัติภาวนากันอย่างเป็นทางการ ถ้าหากว่าเรานั่งขัดสมาธิก็จะดูเรียบร้อยหน่อย เป็นงานเป็นการหน่อย
              อย่างที่หลวงพ่อเคยบอกว่า ตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น อันนี้มาจากในมหาสติปัฏฐานสูตร ว่า อุชุ กายัง ตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตเอาไว้เฉพาะหน้า คือให้ความรู้สึกทั้งหมด อยู่กับลมหายใจเข้าออก หายใจเข้ากำหนดตามเข้าไป หายใจออกกำหนดตามออกมา ความรู้สึกทั้งหมด ตามดูตามรู้อยู่แค่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
              นึกถึงเรื่องอื่นเรื่องใดเมื่อไร ให้ดึงความรู้สึกมันกลับมา คราวนี้ทำไมเราต้องนั่งตัวตรง ก็เพื่อที่ว่า ลมหายใจเข้าลมหายใจออกของเรา จะได้เดินสะดวก และที่แน่ๆ ก็คือต้องใช้สติประกอบไปด้วย
              ถ้าสติมันขาด มันอาจจะนั่งหลังโกง อาจจะมีการวูบลงไป ลักษณะเหมือนคนสัปหงก เป็นต้น การนั่งเราไม่ต้องเกร็งตัวของเรา นั่งสบายๆ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อเสียให้หมด หลับตาลงเบา ๆ
              นึกย้อนขึ้นไปในศีรษะของเรา เหมือนกับเราเหลือบตา มองขึ้นไปบนหัวของเรา แล้วก็นึกย้อนเข้าไปในอก ย้อนเข้าไปในท้อง กำหนดความรู้สึกง่าย ๆ อย่างนี้ จากนั้นเริ่มนึกถึงลมหายใจเข้าออก ปากของเราก็ปิดลงเบา ๆ ปลายลิ้นแตะเพดานนิดหนึ่ง
              ทุกส่วนของร่างกายผ่อนคลาย ดูลมหายใจเข้า ดูลมหายใจออก หายใจเข้าผ่านจมูก ผ่านกึ่งกลางอก มาสุดที่ท้อง ตามดูเข้าไป หายใจออก ออกจากท้อง ผ่านกึ่งกลางอก มาสุดที่ปลายจมูก ให้ความรู้สึกไหลเข้า ไหลออกตามลมหายใจดังนี้
              เข้ารู้อยู่ ออกรู้อยู่ หายใจเข้านึกว่า พุท หายใจออกนึกว่า โธ หรือว่าจะเอาคำภาวนาอันใดอันหนึ่งที่เราถนัด จะเป็นนะ มะ พะ ธะ ก็ได้ พองหนอ ยุบหนอ ก็ได้ หรือว่าสัมมาอรหัง ก็ได้ อิติปิโส ก็ได้ คาถาเงินล้าน ก็ได้
              ถ้ารู้สึกว่ากำลังใจของเราไม่ทรงตัว มันฟุ้งซ่าน ดึงเข้ามาสู่อารมณ์ภาวนาได้ยาก ให้ใช้คาถาที่พระพุทธเจ้าท่านให้มา เป็นคาถาที่รวมใจของเราให้ทรงตัว ให้ภาวนาว่า อิติ สัมมาสัมพุทธัสสะ มะมะ จิตตัง ใช้คำภาวนานี้แทนคำภาวนาทุกอย่าง
              อิติ สัมมาสัมพุทธัสสะ มะมะ จิตตัง นี่เป็นคาถาที่สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้ามอบให้ ถ้าเราฟุ้งซ่าน รักษาอารมณ์ใจให้ทรงตัวไม่ได้ ก็นึกถึงคาถา อิติ สัมมาสัมพุทธัสสะ มะมะ จิตตังนี้
              ให้ใช้แทนคำภาวนาอื่น ๆ ชั่วขณะหนึ่ง อาจเป็นห้านาที สิบนาที หรือครึ่งชั่วโมง แต่จากที่เคยลองมา ไม่เคยเกินสามนาที กำลังใจที่ฟุ้งซ่านมันจะนิ่ง มันจะลงตัว ดังนั้น วันไหน ถ้ากำลังใจของเราฟุ้งซ่าน ไปรัก โลภ โกรธ หลง ตามปกติของมัน ไม่สามารถจะดึงเข้าหาคำภาวนาได้
              ให้นึกขอบารมีของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้โปรดเมตตาสงเคราะห์ รวบ รวมกำลังใจของเรา ให้ทรงตัวโดยเร็ว แล้วภาวนาว่า อิติ สัมมาสัมพุทธัสสะ มะมะ จิตตังสักครู่หนึ่ง พอกำลังใจทรงตัวแล้ว เราค่อยใช้คำภาวนาที่เราถนัดต่อไป
              คาถานี้เป็นสิ่งที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานให้ ดังนั้น ถ้าเราใช้คาถานี้ ก็เท่ากับเราทรงพุทธานุสติอยู่ ขอให้นึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นปกติเท่านั้น เรานับว่าโชคดี ที่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมตตา คอยอนุเคราะห์สงเคราะห์อยู่ตลอดเวลา
              แม้กระทั่งเรื่องยาก ๆ ที่ปกติสมัยหลวงพ่อ หลวงปู่ของเรา จะต้องสู้กันชนิดเอาเป็นเอาตายไปข้างหนึ่ง กว่าจะหากลอุบายใด ๆ มาปรับมาปราบความฟุ้งซ่านของจิต มาปรับลมหายใจเข้าออกให้มันทรงตัว บางทีเสียเวลาเป็นเดือนเป็นปี
              แต่ของเรามีองค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเมตตาให้การสงเคราะห์อยู่ ภาวนาคาถาง่าย ๆ แค่นี้ อารมณ์ใจก็ทรงตัวได้ง่ายเช่นกัน สิ่งที่เราจะลืมไม่ได้คือภาพพระ ต้องเอาใจเกาะพระอยู่เสมอ
              อันดับแรก กำหนดภาพพระขึ้นมาตรงหน้า เป็นพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง ที่เรารักเราชอบมากที่สุด จะเป็นพระพุทธรูป นั่ง ยืน นอน ก็ได้ เป็นพระพุทธรูปที่เราชอบองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ เป็นภาพพระพุทธเจ้าในลักษณะพระสงฆ์ก็ได้ หรือเป็นภาพพระวิสุทธิเทพก็ได้
              เอาใจจดจ่ออยู่ตรงหน้า หายใจเข้าก็นึกถึงภาพพระนั้น หายใจออกก็นึกถึงภาพพระนั้น กำหนดความรู้สึก ให้ภาพพระนั้นสว่างขึ้นไปเรื่อย ๆ หายใจเข้าภาพพระก็สว่าง หายใจออกภาพพระก็สว่าง กำลังใจให้จดจ่อแน่วนิ่งอยู่กับภาพพระตรงหน้า
              ไม่ต้องทุ่มเทความรู้สึกให้มาก ไม่จำเป็นต้องเห็นชัดเจน ให้มั่นใจว่าขณะนี้ตรงหน้าของเรา มีภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ตรงหน้าเราก็พอใจแล้ว อย่าอยากเห็นโดยใช้สายตา มันจะพาให้เสีย กำหนดความรู้สึกเบา ๆ สบายๆ พุท เข้า โธ ออก ภาพพระสว่างขึ้นไปเรื่อย ๆ
              เมื่อภาพพระเริ่มทรงตัว กำลังใจเริ่มนิ่ง ให้ดึงภาพพระเข้ามา ให้มาอยู่ในศีรษะของเรา เหมือนกับศีรษะมันว่าง ๆ เปล่า ๆ ไม่มีอะไร ให้พระพุทธรูปเข้ามาอยู่ในศีรษะของเรา หันหน้าไปด้านเดียวกับเรา
              หายใจเข้าผ่านภาพพระที่สว่างไสว ลงไปที่อก ลงไปที่ท้อง หายใจออก ผ่านท้อง ผ่านอก ผ่านภาพพระที่สว่างไสวอยู่ ลงไปสุดที่ปลายจมูก พุท เข้า พระสว่างขึ้น โธ ออก พระสว่างขึ้น พุท เข้า พระสว่างขึ้น โธ ออก พระสว่างขึ้น กำหนดใจเบา ๆ สบาย ๆ
              นึกถึงภาพขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สว่างไสวอยู่ในศีรษะของเรา ครอบคลุมกายของเราลงมา ความสว่างจากศีรษะลงมาที่คอ ลงมาที่ไหล่ ลงมาที่อก ลงมาที่เอว ลงมาที่สะโพก ลงไปถึงส่วนเท้าทั้งหมด หายใจเข้าภาพพระสว่าง ตัวเราก็สว่างด้วย
              หายใจออกภาพพระสว่าง ตัวเราก็สว่างด้วย แล้วกำหนดเลื่อนภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขึ้นไปอยู่บนศีรษะหันหน้าไปทางด้านเดียวกับเรา สว่างไสวลอยสูงจากศีรษะของเราขึ้นไปประมาณครึ่งคืบ
              หายใจเข้าก็ดึงเอาความสว่างขององค์พระ ผ่านอก ลงไปสุดที่ท้อง หายใจออกลมหายใจจากท้อง ผ่านอก ตรงไปยังภาพพระซึ่งสว่างอยู่อย่างนั้น หายใจเข้า ภาพพระก็สว่าง หายใจออก ภาพพระก็สว่าง
              กำหนดใจให้นิ่ง ๆ อยู่ตรงศูนย์กลางขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะจับภาพท่านทั้งองค์ก็ได้ จับส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ เหมือนกับลมหายใจ ไหลจากองค์พระ ผ่าน อก ลงไปที่ท้อง ลมหายใจออกจากท้อง ผ่านอก ขึ้นไปสุดที่องค์พระท่าน
              เมื่อกำลังใจทรงตัวแล้ว ก็ให้ค่อย ๆ กำหนดภาพพระให้ใหญ่ขึ้น หายใจเข้า ภาพพระก็ค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นสว่างขึ้น หายใจออก ภาพพระค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นสว่างขึ้น
              กำหนดให้ความขาวสะอาด สว่างไสวขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น คือกระแสแห่งพระเมตตาบารมี ที่ประทานลงมาสู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ทุกภพทุกภูมิ ทุกหมู่ทุกเหล่า เพื่อปรารถนาให้เขาเหล่านั้น ล่วงพ้นจากความทุกข์ มีความสุขโดยเสมอหน้ากัน
              กำหนดให้กระแสแห่งพระเมตตานั้น ผ่านจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ลงมาที่ตัวเรา กระจายออกไปรอบด้าน ให้กระจายสีขาวสว่างนั้น กว้างออกจากตัวเรา ค่อย ๆ แผ่ออกไปให้เต็มหมดทั้งห้องนี้ กว้างออกไปทั้งวัด ทั้งตลาด ทั้งตำบล ทั้งอำเภอ ทั้งจังหวัด
              กว้างออกไปเรื่อย ๆ เหมือนกับเราหย่อนหินลงไปในน้ำ กระแสน้ำจะเคลื่อนเป็นวง ๆ กว้างออกไปทุกที ทุกที กำหนดใจว่า
              "...มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จงอย่าได้มีเวรมีกรรม และเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย ขอให้ทุกท่านจงล่วงพ้นจากความทุกข์ มีความสุขโดยเสมอหน้ากันเถิด..." ให้กระแสใจที่เยือกเย็นสว่างไสวของเรานั้น แผ่กว้างออกไป กว้างออกไป ด้วยกำลังขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งใจว่า
              "...มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ผู้ที่ชีวิตของท่านทั้งหลายเหล่านั้น ได้ตกล่วงไปแล้วในวันหนึ่งคืนหนึ่ง ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้น จงไปเสวยสุขในสุคติภพโดยถ้วนหน้ากันเถิด..."
              ให้กระแสกำลังใจของเรา แผ่กว้างออกไปอีก กว้างออกไปอีก ทั้งจังหวัด ทั้งภาค ทั้งประเทศ ทั้งทวีป ทั้งโลก กำหนดกำลังใจ กว้างออกไป กว้างออกไป จนรู้ว่าโลกของเรานั้น เหลือเพียงลูกเล็ก ๆ ลูกเดียว
              องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและตัวเรา สว่างไสวโตเต็มแผ่นดินแผ่นฟ้าไปหมด กระแสพระเมตตา ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลั่งไหลผ่านกายของเรา ไปสู่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีจุดใดที่ว่างเว้น ไม่มีจุดใดที่ไปไม่ถึง ให้กำหนดใจว่า
              “...มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ผู้ที่ชีวิตของท่านทั้งหลายเหล่านั้น ตกอยู่ในความทุกข์ยาก เศร้าหมอง เดือดร้อน ลำเค็ญ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ เจ็บไข้ได้ป่วย พิกลพิการใด ๆ ก็ดี ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้น จงได้ล่วงพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายนั้นเถิด...”
              ให้กระแสพระเมตตา ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แผ่กว้างไกลออกไป จากโลกของเรา ไปสู่ดวงดาวอื่น ๆ ไปสู่จักรวาลอื่น ๆ ทั่วทั้งอนันตจักรวาล ไม่ว่าจะเป็น ที่ใดก็ตาม ที่มีสัตว์อาศัยอยู่ มีคนอาศัยอยู่ ขอให้ได้รับกระแสแห่งพระเมตตา ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขอให้เขาเหล่านั้นพ้นทุกข์ ขอให้มีความสุขโดยทั่วหน้ากัน ให้ตั้งใจว่า
              “...มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ผู้ที่ชีวิตของท่านทั้งหลายเหล่านั้น มีความสุขความเจริญดีอยู่แล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้น จงมีความสุขความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยเถิด...”
              กระแสแห่งความสว่าง สะอาด เยือกเย็นนี้ จงปรากฏ แก่สรรพสัตว์ ทุกหมู่ทุกเหล่า ทุกจักรวาล ไม่ว่าจะกี่แสนโกฏิจักรวาล ก็ให้ปรากฏโดยถ้วนทั่วกัน ความหวังดี ปรารถนาดีของเรานั้น มุ่งตรงไป
              ต่ำสุดตั้งแต่นรกทุกขุม ขึ้นมาเปรตทุกจำพวก อสุรกายทุกจำพวก สัตว์เดรัจฉาน ทุกชีวิต มนุษย์ทุกรูปทุกนาม ภุมเทวดาทุก ๆ ท่าน รุกขเทวดาทุก ๆ ท่าน อากาศเทวดา ไม่ว่าจะเป็นสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น รูปพรหมทั้ง ๑๖ ชั้น อรูปพรหมทั้ง ๔ ชั้น ตลอดจนถึงพระทั้งหลายในพระนิพพานนั้น
              กระแสแห่งพระเมตตา ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แผ่ไปสงเคราะห์ ทุกภพทุกภูมิ ทุกหมู่ทุกเหล่า ผู้ที่มีทุกข์อยู่ ขอให้พ้นจากความทุกข์ ผู้ที่มีสุขอยู่ ขอให้สุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป ผู้ใดตั้งความปรารถนาในสิ่งใด ขอให้ความปรารถนานั้น จงสำเร็จด้วยเถิด ให้ตั้งใจว่า
              “...มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น พึงเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กันและกัน เสียสละให้ปัน ช่วยเหลือเกื้อกูล แก่ผู้ที่ตกอยู่ในความทุกข์ยากยิ่งกว่าตน ให้พ้นทุกข์ เพื่อยังสรรพสัตว์ทั้งหลาย ให้ไปสู่สันติสุขอันสมบูรณ์ โดยถ้วนหน้ากันเถิด...”
              กำหนดภาพพระให้โดดเด่นเต็มทั้งจักรวาล กระแสแห่งพระเมตตาที่แผ่ปรกลงไป ไม่ว่าจะเป็นสรรพสัตว์ทั้งหลาย ในภพใดภูมิใดก็ตาม ขอให้ได้รับความสุข ความเยือกเย็นโดยเสมอหน้ากัน
              หลังจากนั้น ให้กำหนดใจ ดึงภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ค่อย ๆ เล็กลง ตามลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ภาพพระที่สว่างไสว ค่อย ๆ เล็กลงมา เล็กลงมา จนกระทั่งปรากฏอยู่ เฉพาะบนศีรษะของเราอีกวาระหนึ่ง
              คราวนี้หายใจเข้า ให้ภาพพระเลื่อนจากศีรษะ ลงไปที่อก ลงไปที่ท้อง โดยที่เล็กลงไปเรื่อย ๆ จนเป็นภาพพระองค์เล็ก ๆ ใส ๆ สว่างไสวอยู่ในท้องของเรา หายใจออก ให้ภาพพระเลื่อนจากท้อง ขึ้นมาถึงอก ขึ้นไปบนศีรษะ
              โดยภาพพระขยายใหญ่ขึ้นไป เป็นภาพพระองค์โต ขนาดที่เรากำหนดใจได้อย่างสบาย ๆ อยู่บนศีรษะของเรา ไปสว่างไสวอยู่บนนั้น หายใจเข้า ภาพพระเล็กลง ไหลตามลมหายใจเข้าไป หายใจออก ภาพพระใหญ่ขึ้น ไหลตามลมหายใจขึ้นไป
              ความรู้สึกเหมือนกับลมหายใจเข้าออก ไหลเข้าทางศีรษะไปสุดที่ท้อง ไหลออกจากท้อง ออกไปเหนือศีรษะที่ภาพพระนั้น หายใจเข้า ภาพพระเล็กลง หายใจออก ภาพพระนั้นใหญ่ขึ้น หายใจเข้า ภาพพระเล็กลงไปอยู่ที่ท้อง หายใจออก ภาพพระใหญ่ขึ้นไปอยู่เหนือศีรษะ
              จุดที่สำคัญที่สุดคือ อย่าลืมว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นร่างกายของเรา วัตถุธาตุใด ๆ ก็ตาม สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีสภาพที่แท้จริงคือ เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปในท่ามกลาง แล้วสลายตัวไปในที่สุด
              วันนี้อารมณ์ใจของเราทรงตัว ภาพพระอาจจะชัดเจนแจ่มใส แต่ต่อจากนี้ไปอีกไม่นาน อารมณ์ใจของเราที่ไม่เที่ยง ก็จะไม่ทรงตัว ภาพพระอาจจะหายไป ความฟุ้งซ่านอาจจะเข้ามาแทน
              ดังนั้น ให้กำหนดใจ ให้รู้เท่าทันมันว่า กระทั่งผู้ปฏิบัติที่หวังความพ้นทุกข์ อย่างพวกเราทั้งหลาย ยังประกอบไปด้วยความไม่เที่ยงถึงขนาดนี้ ถ้าเราไปยึดถือมั่นหมายในสิ่งที่ไม่เที่ยง ต้องการให้มันเที่ยง ต้องการให้มันทรงตัว ถ้ามันเปลี่ยนแปลงไป เราก็จะทุกข์
              ดูให้เห็นสภาพที่แท้จริง ของร่างกายเรา ว่ามันประกอบขึ้นจากดิน จากน้ำ จากลม จากไฟ ให้เป็นเรือนร่างที่เราอาศัยอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว ถึงวาระ มันก็ตาย มันก็พังไป ดูเด็กที่เพิ่งเกิดมา ตอนแรกก็นอนหงาย
              จากนั้นหัดพลิกคว่ำ หัดคลาน หัดยืน หัดเดิน ในที่สุดก็วิ่งได้ จากเด็กเล็กกลายเป็นเด็กโต เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นวัยกลางคน เป็นคนชรา ในที่สุดก็ตายไป ไม่มีใครทรงตัวอยู่ได้ สรรพสัตว์ทั้งหลาย เกิดเท่าไหร่ ตายหมดเท่านั้น
              ท้ายที่สุด ร่างกายนี้ก็เสื่อมสลาย วัตถุธาตุทั้งหลายก็เสื่อมไป ไม่มีอะไรทรงตัว ทุกสิ่งทุกอย่างพังหมด สลายตัวหมด กลายเป็นฝุ่น กลายเป็นผง กลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจักรวาล ทุกสิ่งทุกอย่างหมดสิ้น ไม่มีอะไรเหลือเป็นเรา เป็นของเรา
              คนที่เรารัก ของที่เรารัก ทรัพย์สมบัติทั้งปวงที่เราหามา ท้ายสุดก็เสื่อมสลายไปสิ้น ยึดถือมั่นหมายเมื่อไร ก็มีแต่ความทุกข์ เพราะไม่มีอะไรที่ทรงตัว เป็นเรา เป็นของเราเลย กระทั่งร่างกายนี้ก็ไม่ทรงตัว ไม่มีอะไรเป็นของเรา แล้วร่างกายของคนอื่น จะเป็นของเราได้อย่างไร ?
              ทุกวันที่จับภาพพระอย่างนี้ ให้กำหนดใจนึกถึงความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา ไม่มีสาระ ไม่มีแก่นสาร มีแต่ความทุกข์ยาก ร่างกายนี้เป็นก้อนทุกข์ เกิดอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยความทุกข์ยากเร่าร้อน เกิดเมื่อไหร่ก็ทุกข์อย่างนี้อีก เราไม่พึงปรารถนามันแล้ว
              ถ้าหากว่าเกิดใหม่แล้วทุกข์อีก การไม่เกิดที่พาให้พ้นทุกข์ นั่นก็คือพระนิพพาน ให้ส่งกำลังใจเกาะพระนิพพานเอาไว้ นึกถึงภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งใจว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่อยู่ที่ใด นอกจากพระนิพพานที่เดียว เราเห็นท่านคือ เราอยู่กับท่าน เราอยู่กับท่านคือเราอยู่บนพระนิพพาน
              เอากำลังใจเกาะภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นึกง่าย ๆ สบาย ๆ ว่าตอนนี้เรานั่งอยู่ ตรงเบื้องพระพักตร์ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตอนนี้เรานั่งอยู่บนพระนิพพาน
              ตอนนี้เราเป็นผู้ล่วงพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง ด้วยพระบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กิจต่าง ๆ ที่จะทำเพื่อความพ้นทุกข์นั้นไม่มี สถานที่นี้ใส สะอาด สว่าง สงบ ปราศจากความทุกข์ มีแต่ความสุขโดยส่วนเดียว ให้กำหนดใจให้แน่วนิ่งเอาไว้
              รักษาอารมณ์ใจของพระนิพพาน ให้อยู่กับเราให้นานที่สุด ถึงเลิกไปแล้ว ก็ให้แบ่งกำลังใจส่วนหนึ่ง นึกถึงตรงนี้ไว้ตลอดเวลา ความรู้สึกส่วนหนึ่งของเรา ต้องเกาะภาพพระ เกาะพระนิพพานไว้ตลอดเวลา เพื่อความอยู่สุขของเรา
              การสวดมนต์ทำวัตร เป็นกิจที่สำคัญ ถ้าเรารู้จักรักษาอารมณ์ใจ แม้จะไปพระนิพพานก็ไปได้ การสวดมนต์ทั่วไปได้สมาธิ ถ้ากำหนดนึกถึงตัวอักษรคำสวดขึ้นมาเป็นตัว ๆ ก็จะได้ทิพจักขุญาณ
              ถ้ากำหนดใจ จับภาพพระไว้ตลอดเวลา ตั้งใจว่าเราสวดเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา อยู่เฉพาะเบื้องพระพักตร์ ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนพระนิพพาน ถ้าอย่างนั้นเราตายลงเมื่อไร เราจะอยู่บนนั้น เราจะอยู่บนพระนิพพาน
              ถ้าเราทำจนชิน นานไปเราก็จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระนิพพาน คราวนี้ให้กำหนดสติ คลายอารมณ์ใจออกมาอย่างช้า ๆ และระมัดระวัง เพื่อเราจะได้ทำหน้าที่ของเราต่อไป ?

พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
วันพฤหัสบดีที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๗


งานฉลองพระปัจเจกพุทธเจ้าทองคำ วัดเขาวง(ถ้ำนารายณ์)
๑ พฤษภาคม ๒๕๔๙

๙. ธัมมานุสติ


              มาว่าเรื่องของการปฏิบัติกันต่อไป ตอนนี้ทุกคนกำลังใจก็เริ่มจะทรงตัว อย่าลืมการปฏิบัติตามที่ย้ำไว้ทุกวัน เราจะทิ้งลมหายใจไปไม่ได้ ลมหายใจเข้าออกเป็นเครื่องยึด เป็นเครื่องประคับประคองสติของเรา ให้ทรงตัวอยู่และมั่นคง
              ถ้าเราลืมลมหายใจเข้าออก การปฏิบัติในกรรมฐานทุกกองจะไม่ทรงตัว จะมีผลน้อยมาก การจับลมหายใจเข้าออกของเรา ให้กำหนดความรู้สึกทั้งหมด ไหลตามลมหายใจเข้า ไหลตามลมหายใจออก
              ถ้ามันไปนึกถึงเรื่องอื่นเมื่อไร ให้ดึงมันกลับมาหาลมหายใจเข้าออกเมื่อนั้น ถ้าเรามีความชำนาญ พอนึกความรู้สึกมันจะอยู่กับลมหายใจเข้าออก ตามระดับที่เราเคยทำได้ เราจะได้กสิณก็ดี ฌานหนึ่ง ฌานสอง ฌานสาม ฌานสี่ อรูปฌานที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สี่ ก็ดี
              ถ้ามันมีความคล่องตัว เรานึกถึงลมหายใจเข้าออก กำลังใจมันก็จะไปจับอยู่ตรงระดับนั้นก่อน แล้วหลังจากนั้นเราค่อยลดกำลังใจลง หรือว่าเคลื่อนกำลังใจขึ้นไป สลับกันไปสลับกันมา จนเกิดความคล่องตัว
              เรื่องของการทรงฌานสำคัญมาก เพราะว่าทันทีที่กำลังใจทรงเป็นฌานนั้น รัก โลภ โกรธ หลงจะกินใจของเราไม่ได้ ไฟใหญ่สี่กองได้แก่ ราคัคคิ ไฟคือราคะ โลภัคคิ ไฟคือโลภะ โทสัคคิ ไฟคือโทสะ โมหัคคิ ไฟคือโมหะ
              ไฟใหญ่สี่กองจากรัก โลภ โกรธ หลง เผาเราอยู่ตลอดเวลา ทันทีที่กำลังใจของเราทรงเป็นฌานได้ ไฟทั้งสี่กองนี้จะดับลงชั่วคราว เราจะมีความสุข ดังนั้น ต้องพยายามกำหนดใจของเรา ให้ทรงเป็นฌานให้ได้
              ถ้ายังทรงฌานระดับใดระดับหนึ่งไม่ได้ เราก็ยังไม่สามารถที่จะหนีความทุกข์ได้ การจะหนีความทุกข์นั้น ถ้าเราหลุดพ้นเป็นพระอรหันต์ไปเลย เข้าสู่พระนิพพานไปเลย ก็จบเรื่องกันไป
              แต่ถ้าเรายังเข้าไม่ถึง การทรงกำลังใจในลักษณะทรงฌานนี้ เป็นเรื่องสำคัญมาก แม้กระทั่งพระอริยะเจ้า ท่านจะเป็นพระโสดาบันก็ดี พระสกทาคามีก็ดี พระอนาคามีก็ดี จนถึงพระอรหันต์ ถ้าทำได้ ไม่มีใครทิ้งฌานสมาบัติเหล่านี้
              ท่านจะพยายามทำกำลังใจ ให้ทรงตัวอยู่เสมอ ด้วยความไม่ประมาท เพื่อที่จะรักษาอารมณ์จิตให้ผ่องใส เพื่อที่จะสร้างสติให้มั่นคง ทำให้ปัญญาเฉียบแหลมคมกล้า ถึงเวลาจะได้ตัดกิเลสได้ตามที่ต้องการ
              การทรงฌานเป็นการเพาะสร้างกำลัง วิปัสสนาญาณเปรียบเหมือนอาวุธ
ถ้าเรามีทั้งกำลัง มีทั้งอาวุธ เราก็สามารถจะตัดจะฟันสิ่งต่าง ๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะการตัดกิเลส กำลังฌานแม้เพียงปฐมฌาน ก็สามารถตัดกิเลสได้แล้ว
              ปฐมฌานขั้นหยาบก็ดี ขั้นกลางก็ดี ขั้นละเอียดก็ดี ถ้าท่านทรงไว้ได้คล่องตัวจริง ๆ อารมณ์พระอริยเจ้าขั้นโสดาบัน ก็อยู่ในมือของท่านแล้ว
พระโสดาบัน มีสามระดับ ระดับต้นเรียกว่า สัตตะขัตตุปรมะ คือ เกิดอีกเจ็ดครั้งเป็นอย่างยิ่ง
              ลำดับต่อไปเรียกว่าโกลังโกละ หมายถึงว่าจากตระกูลสู่ตระกูล คือเกิดเป็นคน ตายไปเป็นเทวดา กลับมาเป็นคนอีกที กลายเป็นพระอรหันต์ คือจากตระกูลของมนุษย์เข้าสู่ตระกูลของมนุษย์อีกคราหนึ่งก็จบ
              ระดับสุดท้ายเอกะพิชี แปลว่า ผู้มีพืชอันเดียว คือเกิดอีกครั้งเดียวเท่านั้น ถ้าเราทำกำลังใจทรงฌานได้ แม้เพียงปฐมฌาน ความเป็นพระอริยะเจ้าจะอยู่ในมือของเราแล้ว เหตุที่อยู่ในมือของเราก็เพราะว่า
              ทันทีที่เราทรงฌานได้ ไฟรัก ไฟโลภ ไฟโกรธ ไฟหลง ไฟใหญ่สี่กองนี้จะโดนกำลังของฌานกดให้ดับลงชั่วคราว เราจะสุข เยือกเย็นใจ อย่างไม่เคยปรากฏเป็นมาก่อน
              คราวนี้ถ้าหากว่าเราทรงปฐมฌานได้เท่านั้น ตีเสียว่าเป็นปฐมฌานขั้นหยาบ ยังมีความสุข ความเยือกเย็นใจขนาดนี้ ผู้ที่ทรงปฐมฌานขั้นกลางก็ดี ขั้นละเอียดก็ดี ท่านจะมีความสุขความเยือกเย็นใจขนาดไหน ?
              ผู้ที่ทรงฌานที่สอง ที่สาม ที่สี่ อรูปฌานที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ที่สี่ มีความมั่นคงกว่าเรานับประมาณไม่ได้ ท่านจะมีความสุขกว่าเราขนาดไหน ?
              นี่แค่ระดับปุถุชนทั่วไปเท่านั้น ยังมีความสุข ความเยือกเย็นใจขนาดนี้ พระโสดาบันท่านจะมีความสุข ความเยือกเย็นใจขนาดไหน ? เมื่อพระโสดาบันท่านมีความสุข ความเยือกเย็นใจขนาดนั้น พระสกทาคามี พระอนาคามี ท่านจะมีความสุขขนาดไหน?
              โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระอรหันต์นั้น ท่านพ้นจากการเวียนตายเวียนเกิดโดยสิ้นเชิง ไม่ต้องเกิดมาทุกข์อีกแล้ว จะมีความสุขขนาดไหน ? อรรถกถาจารย์ ท่านกล่าวไว้ว่า พระเจ้าจักรพรรดิที่มีความสุข ไม่มีความหวาดสะดุ้งต่อสิ่งใด เพราะทราบว่าในทวีปทั้งสี่ไม่มีใครเป็นศัตรูของท่านได้นั้น
              ความสุขของพระเจ้าจักรพรรดินั้น ไม่ได้เศษหนึ่งส่วนสิบหกของพระโสดาบัน เพราะพระเจ้าจักรพรรดินั้น ถ้าหากว่าพลาดยังลงสู่อบายภูมิได้ ยังเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานได้ แต่พระโสดาบันนั้น ท่านปิดอบายภูมิโดยสิ้นเชิง
              การเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน ที่มีแต่ความทุกข์นั้น จะไม่มีสำหรับท่านอีกต่อไป คราวนี้พระสกทาคามี ที่รัก โลภ โกรธ หลง เหลือน้อยเต็มทีนั้น ท่านจะมีความสุขมากกว่าพระโสดาบันขึ้นไปอีกขนาดไหน ?
              พระอนาคามี ที่ไม่ต้องลงมา เวียนเกิดเวียนตายในภพต่าง ๆ เกิดเป็นพรหมแล้ว ปฏิบัติต่อให้เข้าพระนิพพานไปเลย เป็นการประกันความเสี่ยงว่า ความทุกข์ในระดับหยาบนั้น จะไม่มีสำหรับท่านอีก ท่านจะมีความสุขขนาดไหน ?
              พระอรหันต์ที่ท่านพ้นทุกข์โดยสิ้นเชิง จะมีความสุขสักขนาดไหน ? แล้วพระพุทธเจ้าของเราที่เป็นจอมอรหันต์ เป็นผู้ที่ตรัสรู้เองโดยชอบ สามารถสั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตามได้นั้น ท่านจะมีความสุขเพียงใด ? ถ้าเรากำหนดใจนึกตามดังนี้ได้ ปัญญาเกิดดังนี้ได้ เราก็จะมองเห็นว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้น ควรแก่การเคารพยิ่งจริงแท้ กำลังใจเราก็จะมั่นคงต่อพระรัตนตรัย ไม่ล่วงเกินด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ การที่เรากำลังใจทรงตัวในการเคารพพระรัตนตรัย เป็นกฎข้อแรกของการเป็นพระโสดาบัน
              เมื่อท่านทรงฌานอยู่ ไม่ว่าจะขยับไปทางด้านไหน สติจะรู้รอบ
ศีลของท่านจะเป็นห้าข้อก็ดี แปดข้อก็ดี สิบข้อก็ดี สองร้อยยี่สิบเจ็ดข้อก็ดี ก็ไม่ใช่เรื่องเหนือบ่ากว่าแรง พอขยับมันจะรู้ว่าศีลจะขาด จะพร่องหรือไม่ ?
              เมื่อท่านรักษาศีลทุกสิกขาบท ให้บริสุทธิ์ผุดผ่องได้ ด้วยกำลังของฌานสมาบัติ ที่ช่วยในการดำรงสติ สร้างเสริมปัญญาให้เกิดขึ้น เมื่อศีลทุกข้อของเราบริสุทธิ์ได้ ก็อย่ายุยงส่งเสริม ให้คนอื่นเขาทำลายศีล เห็นคนอื่นเขาละเมิดศีล ก็อย่าไปยินดีด้วย
              ถ้าท่านทำอย่างนี้ได้ กฎข้อที่สองของการเป็นพระโสดาบัน ก็อยู่ในมือของเรา ก็เหลือเพียงข้อสุดท้าย คือให้รู้ตัวอยู่เสมอว่าเราต้องตาย ไม่ว่าเราจะทรงฌานสมาบัติได้ขนาดไหนก็ตาม เราทุกคนต้องตายแน่
              ความตายอยู่เพียงลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ของเราเท่านั้น หายใจเข้าไม่หายใจออก มันก็ตายแล้ว หายใจออกแล้ว ไม่หายใจเข้าไปใหม่ มันก็ตายเช่นกัน ความตายอยู่ใกล้ชิดกับเราขนาดนี้
              ถ้าหากว่าตายแล้ว ตกสู่อบายภูมิ เกิดเป็นสัตว์นรก ต้องทนทุกข์เวทนา ลำบากยากเข็ญเนิ่นนานเหลือเกิน มีไฟเผาอยู่ตลอดเวลา มีสรรพาวุธสับฟันอยู่ตลอดเวลา ความเจ็บปวด ความรู้สึกครบถ้วนทุกอย่าง แต่ไม่มีการตายเลย
              เมื่อถึงวาระ ถึงเวลา ร่างกายที่ถูกทำลาย ก็จะกลับเป็นขึ้นมาใหม่ โดนทรมานต่อไปอีก เกิดเป็นเปรต ก็มีแต่ความอดอยากหิวโหย ไม่สามารถจะกินอะไรได้ ที่กินได้ ก็กินของสกปรกโสโครก ไม่สามารถจะหาได้อิ่มปากอิ่มท้อง มีแต่ความทุกข์ยากเหลือคณา
              เกิดเป็นอสุรกายมีสภาพดีกว่าเปรตหน่อยหนึ่ง สามารถหากินได้คล่อง ตัวกว่า แต่ก็ต้องกินพวกของสกปรกโสโครก ของเน่าเหม็น ซึ่งไม่ใช่ว่าจะมีอยู่ทั่ว ๆ ไป ของอะไรที่มีเจ้าของอยู่ ก็ล่วงเกินของเขาไม่ได้ แอบกินของเขาไม่ได้
              ต้องกินพวกซากสัตว์ พวกอุจจาระ ปัสสาวะ ที่เขาทอดทิ้งแล้ว ไม่มีใครต้องการแล้ว มีแต่ความทุกข์ยากลำบาก เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ต้องระแวงภัยอยู่ตลอดเวลา หากินไม่เต็มปากเต็มท้อง ไม่ทราบว่าชีวิตจะสิ้นสุดไปเมื่อไหร่ เพราะอันตรายมีอยู่รอบข้าง
              ถ้าหากว่าเราเกิดอีก เราก็จะมีแต่ความทุกข์ดังนี้อีก ดังนั้น ทั้งการตายของเรา ทั้งการเกิดของเรา ซึ่งอยู่แค่ช่วงลมหายใจเข้าออกเท่านั้น มันประกอบไปด้วยความทุกข์ขนาดนี้ ถึงเกิดมาเป็นคนก็ตาม มันก็ยังมีความทุกข์อยู่
              เนื่องจากว่าคนเราเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงแปรปรวนในท่ามกลาง และสลายไปในที่สุด ไม่มีสิ่งใดยึดถือมั่นหมายได้ ต้องการอย่างหนึ่งไปได้อีกอย่างหนึ่ง สิ่งที่ไม่ต้องการไปได้มันมา ดังนั้น มันมีแต่ความทุกข์ทั้งนั้น
              ทุกข์ของการเกิด ทุกข์ของการแก่ ทุกข์ของการตาย ทุกข์ของความปรารถนาไม่สมหวัง ทุกข์ของความกระทบกระทั่งอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ เหล่านี้เป็นต้น เกิดเมื่อไรทุกข์เมื่อนั้น พลาดเมื่อไรทุกข์หนักยิ่งกว่าเดิมเมื่อนั้น
              ชีวิตของเราอยู่แค่ลมหายใจเข้าออก จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่ทราบ ดังนั้น ขอให้ทุกคนตั้งใจว่า ถ้าตายตอนนี้เราขอไปพระนิพพานที่เดียว ถ้าเป็นดังนี้ได้ กฎข้อสุดท้ายของการเป็นพระโสดาบัน เราก็สามารถทำได้แล้ว
              ถ้าหากว่าทุกเวลาที่ท่านทรงฌานอยู่ รักษากำลังใจอยู่ ตราบใดที่นิวรณ์ ๕ ไม่สามารถกินใจท่านได้ ตราบนั้นจิตใจของท่านยังผ่องใส ตราบนั้นสติสัมปชัญญะของท่านยังสมบูรณ์ เมื่อเป็นดังนั้น เราก็ทำความเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ให้มั่นคงจริงๆ ไม่ว่าจะกราบ จะไหว้ จะกล่าวคำสรรเสริญบูชาคุณของท่าน ก็ทำด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจจริง ๆ
              พุทธัง สรณัง คัจฉามิ
เราขอยึดพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง เราก็ยึดจริงๆ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ เราขอยึดพระธรรมเป็นที่พึ่ง ก็ยึดเพราะเราเห็นคุณของพระธรรมแล้ว สังฆัง สรณัง คัจฉามิ เราขอยึดพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง เราก็ยึดจริง ๆ เพราะว่าเราเห็นคุณของพระสงฆ์แล้ว
              การที่เราเกิดอีกเราก็จะมีแต่ความทุกข์ สิ่งที่พาให้พ้นทุกข์ได้คือ ทาน ศีล ภาวนา เราต้องมีศีลทุกสิกขาบทบริสุทธิ์ ถ้ากำลังใจเราทรงฌานอยู่ แค่ขยับตัวก็รู้ว่าศีลขาดหรือไม่ และให้คิดอยู่เสมอว่า เมื่อตายแล้วเราจะไปพระนิพพาน
              ดังนั้น ทุกคนก็จะเห็นได้ว่า กำลังใจที่ทรงฌานนั้น จริงแท้แล้วสำคัญที่สุด หลายท่านอาจจะเกรงว่า การติดในรูปฌานก็ดี อรูปฌานก็ดี จะพาให้ไม่พ้นทุกข์ พาให้ไปถึงพระนิพพานไม่ได้
              ความจริงแล้ว การติดอยู่ในรูปฌาน อรูปฌานนั้น ส่วนใหญ่จะไปเพลิดเพลินกับความสุข ความเยือกเย็นของมัน เราก็ใช้กำลังใจในการทรงฌานก็ดี อรูปฌานนั้นก็ดี เกาะพระนิพพานไว้แทน
              ถ้าเอากำลังใจเกาะพระนิพพานเอาไว้ได้ ก็ถือว่าเราไม่ได้ติดในรูปฌานและอรูปฌาน หากแต่ใช้กำลังของฌานสมาบัตินั้น เป็นเครื่องนำเราก้าวไปสู่ความหลุดพ้น เมื่อเราทรงฌานอยู่ เรามีกำลัง เรามีสติ
              เมื่อเราพิจารณาวิปัสสนาญาณ เห็นความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเราได้ ก็ให้จับภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ ตั้งใจให้แน่วแน่มั่นคงว่า พระองค์อยู่ที่พระนิพพานเท่านั้น
              เราเห็นท่าน คือเราอยู่กับท่าน เราอยู่กับท่านคือเราอยู่บนพระนิพพาน อันนี้เราทำมาหลายวันติดกัน เริ่มมีความคล่องตัว แม้จะขาดความชัดเจนแจ่มใสบ้าง ก็ถือว่าใช้ได้ ขอให้เรามั่นใจว่า ตรงหน้าเรามีภาพพระอยู่
              จะชัดเจนแจ่มใสก็ดี ไม่ชัดเจนก็ดี ขอให้ความรู้สึกของเรามั่นใจว่ามีก็ใช้ได้ การกำหนดภาพพระนั้น เลือกเอาที่เราชอบใจ จะเป็นพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งก็ตาม ที่เราชอบ จะเป็นภาพพระวิสุทธิ์เทพก็ได้ หรือจะเป็นภาพพระพุทธเจ้าในลักษณะพระสงฆ์ก็ได้
              ตั้งใจกำหนดจดจ่ออยู่กับท่าน แบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่ง เกาะภาพพระอยู่ตลอดเวลา พร้อมกับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ถ้าเราทรงกำลังเกินนั้นไป ก็กำหนดใจอยู่กับภาพพระเฉยๆ ยิ่งกำลังใจสูงเท่าไหร่ ภาพพระก็ยิ่งสว่างไสวมากเท่านั้น
              แต่ถ้าหากว่าเรามีความคล่องตัวในการทรงฌาน เวลาเคลื่อนไหวอิริยาบถต่างๆ ก็สามารถทรงฌานสมาบัติได้ ถ้าหากว่าเป็นดังนั้น ให้แบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่งจับภาพพระไว้เป็นปกติ หรือถ้าหากใครได้มโนมยิทธิ ให้ส่งกำลังใจไปกราบพระบนพระนิพพานเลย
              ทุกวันให้รักษากำลังใจไว้อย่างนี้ โดยความรู้สึกของเราอย่าได้เผลอเป็นอันขาด ความรู้สึกนั้นก็คือว่าเราจะต้องตาย ตายเมื่อไหร่เราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว การกำหนดภาพพระ พวกเราทำกันมามากแล้ว วันนี้จะขอกล่าวถึง ธัมมานุสติ คือ การระลึกถึงธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ทุกคนกำหนดภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เบื้องบนศีรษะของเรา
              กำหนดใจว่า เสียงที่ท่านได้ยินนี้ เป็นเสียงธรรมะจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กระแสธรรมะนั้น หลั่งไหลจากพระโอษฐ์ของพระองค์ท่านลงมา ให้เห็นเป็นดอกมะลิทองคำ ค่อย ๆ ลอยต่อเนื่องตามกันลงมาเป็นทางยาว
              ผ่านองค์ของหลวงปู่ ผ่านองค์หลวงพ่อ ผ่านครูบาอาจารย์ของเราลงมา อยู่ตรงหน้าของเรา ให้นึกว่าตรงหน้าของเรามีพานทองคำอยู่หนึ่งใบ ดอกมะลิทองคำที่เป็นตัวแทนของพระธรรม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ค่อยๆ ลอยลงมาอยู่ตรงหน้า
              รวมกันทีละเล็กทีละน้อย มากขึ้น มากขึ้น ให้กำหนดใจจับภาพดอกมะลิทองคำ ที่ลอยออกจากพระโอษฐ์ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลั่งไหลเป็นสายลงมา จนกระทั่งผ่านตัวของเรา ไปอยู่บนพานที่อยู่บนหน้าตัก หรือว่าอยู่ตรงหน้าแทน
              ให้กำหนดความรู้สึกอยู่อย่างนี้ ให้หลั่งไหลวนเวียนอยู่อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สุด ไม่มีการเต็ม ลงมาเท่าไหร่ก็มีอยู่เท่าเดิมที่เราต้องการ ต้องการจะมากขนาดไหนก็ตาม จะเอาห้าดอก เจ็ดดอก เก้าดอก หรือว่าเต็มทั้งพานก็ดี แล้วแต่เราชอบใจ
              ถ้าเราสามารถกำหนดสติ นึกภาพอย่างนี้ได้ ตัวอารมณ์ธัมมานุสติกรรมฐานของเราจะทรงตัวดีมาก จริงๆ แล้ว ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น มีอยู่กับเราตลอดเวลา พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า
              อุปปาทา วา ภิกขเว ตถาคตานัง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตจะเกิดขึ้นก็ดี อนุปปาทา วา ตถาคตานัง ตถาคตจะไม่เกิดขึ้นก็ดี ฐิตา วะ สา ธาตุ ธัมมัฏฐิตตา ธรรมธาตุทั้งหลาย ก็ทรงตัวของมันอยู่อย่างนั้น เป็นปกติอยู่แล้ว
              สัพเพ สังขารา อนิจจาติ อันว่าสังขารทั้งหลาย หมายถึง สรรพสิ่งทั้งหลาย คน สัตว์ วัตถุธาตุ สิ่งของใด ๆ ก็ตาม มีความไม่เที่ยงเป็นปกติ เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยน แปลงแปรปรวนไปในท่ามกลาง สลายตัวไปในที่สุด
              สัพเพ สังขารา ทุกขาติ สรรพสิ่งทั้งหลาย ประกอบไปด้วยความทุกข์ ไม่ว่าจะคน จะสัตว์ จะต้นไม้ จะสิ่งของใด ๆ ก็ตาม ถ้าไม่ใช่ตัวของมันเองเกิดอยู่ในกองทุกข์ ก็ประกอบขึ้นมาจากความทุกข์ยากลำบากเหมือนผู้อื่น
              สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรทรงตัว เป็นเราเป็นของเราได้ ท้ายสุดก็เสื่อมสลายตายพังไปทั้งสิ้น นี่คือนิยามแห่งธรรม นี่คือความเป็นจริงแห่งธรรมะนั้น นี่คือคำจำกัดความของธรรมะนั้น
              องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้เป็นอัจฉริยะมนุษย์สุดประเสริฐ ทรงพระปัญญาคุณอันล้ำเลิศ สามารถตรัสรู้ มองเห็นธรรมะที่มีอยู่เป็นปกตินี้ได้ชัดเจน ขณะที่ผู้อื่นเขาไม่เห็น เมื่อรู้แล้ว พระองค์ท่านก็นำมาสอนเราให้รู้ตาม
              ผู้รู้ท่านจึงกล่าวไว้ว่า สวากขาโต ภควตา ธัมโม ธรรมะอันองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ตรัสไว้ดีแล้ว สันทิฏฐิโก ผู้ปฏิบัติตามจะรู้เห็นได้ด้วยตนเอง ใครทำใครได้ ทำแทนกันก็ไม่ได้ รู้แล้วจะบอกกล่าวคนอื่นก็ยาก เพราะธรรมะเป็นของละเอียดลึกซึ้ง
              อกาลิโก ธรรมะนั้นมีอยู่แล้วเป็นปกติ มีอยู่แล้วในทุกกาลทุกสมัย เอหิปัสสิโก เป็นเรื่องที่ท้าพิสูจน์ได้ ใครมาปฏิบัติก็จะเห็นผล ขอให้ตั้งใจทำจริงเท่านั้น โอปนยิโก ขอให้น้อมนำเข้ามาในกายนี้ ให้เห็นธรรมทั้งภายในภายนอกให้เป็นปกติ
              ให้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างในตัวคนอื่น ว่ามันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา แล้วท้ายที่สุดก็น้อมเข้ามาว่า ร่างกายนี้ก็ไม่เที่ยง ร่างกายนี้ก็ทุกข์ ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเราเช่นกัน
              ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ ท่านกล่าวไว้ว่า ผู้รู้ที่เกิดจากการปฏิบัตินั้น จะรู้ได้ด้วยตนเอง ธรรมะนั้นเป็นของละเอียด คำพูดก็ดี ตัวหนังสือก็ดี เป็นของหยาบ ไม่สามารถที่จะอธิบายความละเอียดของธรรมะอย่างแท้จริงได้
              ยกเว้นท่านทำถึงเมื่อไหร่ ท่านก็จะรู้สึกว่า อ๋อ..ที่แท้ธรรมะเป็นอย่างนี้ แต่อย่าไปยึดถือมั่นหมาย เพราะว่านั่นอาจจะเป็นธรรมส่วนที่เราเข้าถึง ไม่ใช่ธรรมะที่พระพุทธเจ้าเข้าถึง ถ้าหากว่าใช่ มันก็ใช่แค่ของเรา
              ยังไม่ใช่ธรรมะของพระอริยเจ้า ไม่ใช่ของพระอรหันต์ ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้า เข้าถึงแล้วให้น้อมจิตน้อมใจ กราบในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พยายามสร้างกำลังใจของเราว่า ธรรมะที่ดีกว่านี้ ละเอียดกว่านี้ยังมีอยู่ เราต้องขวนขวายเพื่อธรรมะส่วนนั้นๆ อยู่ตลอดเวลา
              ถ้ากำลังใจของเราทรงตัวตั้งมั่น ดอกมะลิทองคำตรงหน้า (ที่ท่านลืมไปแล้ว) กำหนดใจให้อยู่กับดอกมะลินั้น มันจะค่อยๆ ใสขึ้น สว่างขึ้น สะอาดขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นแก้วใส แพรวพราวอยู่ตรงหน้าของท่านทั้งพาน
              ตลอดสายแห่งกระแสธรรมะ ที่หลั่งไหลจากพระโอษฐ์ขององค์สมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้า ก็จะกลายเป็นดอกมะลิแก้ว ล่องลอยลงมาเป็นเส้นทางอันสว่างไสว เป็นเส้นทางที่จะนำเราพ้นทุกข์ เป็นเส้นทางที่จะพาเราไปสู่ความสุข
              ถึงแม้ว่าธรรมะจะสำคัญเพียงใดก็ตาม อย่าลืมว่า พระพุทธก็ดี พระธรรมก็ดี พระสงฆ์ก็ดี ที่เรายึดถือนั้น ถ้าโดยสภาพแล้วไม่ใช่พระพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณที่แท้จริง ล้วนแล้วแต่เสื่อมสลายตายพังได้ทั้งสิ้น
              ดังนั้น เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายได้ ก็ให้ตั้งใจว่า ถ้าหากว่าตาย เราขอไปสู่พระนิพพานแห่งเดียว ให้เอากำลังใจจับภาพพระธรรม ที่เป็นดอกมะลิแก้วก็ดี ดอกมะลิทองก็ดี ที่หลั่งไหลออกจากพระโอษฐ์ ขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าให้มั่นคงไว้
              เวลาสวดมนต์ก็ให้นึกถึงภาพนี้ รักษาภาพนี้เอาไว้ให้อยู่กับเราตลอดเวลา จะได้ขึ้นชื่อว่า เราเป็นผู้ปฏิบัติในธัมมานุสติกรรมฐานอย่างแท้จริง
              ตอนนี้ก็ขอให้ทุกคนค่อย ๆ คลายกำลังใจออกมา พยายามแบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่ง ประคับประคองภาพธัมมานุสติกรรมฐานให้อยู่กับเรา ขณะที่ตัวเราจะได้เตรียมทำวัตรสวดมนต์ต่อไป ?

พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
วันศุกร์ที่ ๙ มกราคม ๒๕๔๗


อบรมนักเรียน ร.ร.สงวนหญิง จ. สุพรรณบุรี