๒๒. จตุธาตุววัฏฐาน ๔


              เรื่องของ อาหาเรปฏิกูลสัญญานั้น มีอยู่จุดหนึ่งที่ต้องระมัดระวัง คือว่าเมื่อเราพิจารณาอาหารจนเป็นปกติแล้ว บางทีมันจะเกิดอาการ สะอิดสะเอียน หมดความคิดที่จะฉันอาหารนั้น
              ถ้าเราเห็นว่ามันสกปรกจริงๆ บางท่านถึงกับฉันอาหารไม่ได้ไปหลาย ๆ วัน ตัวนี้ต้องระมัดระวังให้ดี อย่าลืมว่า เราเองยังมีชีวิตอยู่ ยังจำเป็นต้องอาศัยร่างกายนี้เพื่อการปฏิบัติธรรม
              ถ้าหากว่าเราไม่ฉันอาหารเข้าไป ร่างกายทรงอยู่ไม่ได้ เราก็จะเสียผลของการปฏิบัติไป ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องหลับหูหลับตา สักแต่ว่าฉันมันเข้าไป อันนั้นจึงจะเป็นการที่เรียกว่า ฉันโดยไม่ติดในสี ในกลิ่น ในรส อย่างแท้จริง
              ส่วนอีกข้อหนึ่งก็คือ ถ้าหากว่าเราทำไปจนอารมณ์ใจมันทรงตัวแล้ว การพิจารณาอาหารถือว่าเป็นปกติแล้ว คราวนี้เราต้องพิจารณาดูอีกข้อหนึ่งว่า อาหารนั้นเหมาะกับธาตุขันธ์ของเราหรือไม่ ?
              ถ้าหากว่าอาหารนั้นไม่เหมาะกับธาตุขันธ์ของเรา ฉันเข้าไปแล้วเกิดเป็นโทษกับร่างกาย ทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย ทำให้กระวนกระวาย ทำให้ไฟธาตุกำเริบ หรือทำให้ธาตุใดธาตุหนึ่งมันบกพร่องหรือล้นเกิน ทำให้ร่างกายมันไม่สบายขึ้นมา เราก็เสียการปฏิบัติเช่นกัน
              ถ้าอยู่ในลักษณะนั้น เราก็พยายามงดเว้น อย่างที่ผมทำอยู่ ถ้าของที่มันเย็นเกินไป อายุของผมมันมากแล้ว ไฟธาตุมันน้อย ถ้าฉันของเย็นเข้าไปมาก มันจะเป็นไข้ หรือว่าเป็นหวัด จับไข้ไปเลย
              ผมก็ พยายามเลี่ยงพวกของเย็น อย่างพวกฟักแฟงแตงกวาอะไรพวกนั้น จะไม่แตะต้องมัน แต่ขณะเดียวกัน ธาตุขันธ์ของผม กลับไม่เหมาะกับอาหารร้อนอีก เพราะฉะนั้น พวกข้าวเหนียว ผมก็ยุ่งกับมันไม่ได้
              ให้พยายามสังเกตตัวเองว่า ฉันอะไรเข้าไปแล้ว มันเหมาะสมกับร่างกาย ฉันอะไรเข้าไปแล้ว มันไม่เหมาะสม แล้ว ค่อยเลือกสิ่งที่มันเหมาะสมสำหรับตัว แต่ตรงจุดที่เราบอกให้เลือกมันนี้ อย่าไปเลือกในสิ่งที่เราเห็นว่ามันอร่อย
              อย่าไปเลือกในสิ่งที่เราว่ารสมันดี สีสันวรรณะมันดี ให้เลือกเพราะรู้จริงๆ ว่า มันเหมาะแก่ร่างกายของเรา อันไหนไม่เหมาะ ถ้าญาติโยมเค้าประเคนมา ก็ฉันมันเสียหน่อยหนึ่ง เพื่อเป็นการฉลองศรัทธา แล้วก็หันไปฉันในสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเอง
              แต่ว่าบางทีผมเจอญาติโยมบางท่าน ไม่มีอุเบกขาในทานบารมี ประเคนของมาแล้ว ก็นั่งจ้องอยู่นั่นแหละ ถ้าพระไม่ฉันก็เซ้าซี้ให้ฉัน ถ้าอย่างนั้น บางทีผมก็ต้องยอมรับว่า เราคงจะสร้างกรรมเอาไว้มาก ทำให้ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงอาหารประเภทนี้ได้
              เมื่อทำใจว่า เราจำเป็นต้องรับกรรมอันนี้ ผมก็ฉันให้เขาเต็มที่ แล้วผมก็ไปนอนจับไข้เอง พยายามเลี่ยงในสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับตัว ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และต้องมีสติรู้อยู่เสมอว่า...
              เมื่อฉันเข้าไป มันก็ ไม่สามารถจะห้ามความเสื่อมได้ ฉันเข้าไป มันก็ ไม่สามารถจะห้ามความตายได้ เพียงแต่มัน สามารถระงับความกระวนกระวายของร่างกาย ทำให้ร่างกายมีกำลังทรงตัวอยู่ เพื่อการปฏิบัติของเราได้
              เราต้องไม่ลืมหน้าที่ของความเป็นพระ อย่างที่หลวงพ่อท่านเคยย้ำอยู่เสมอๆ ว่า นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เอตัง กาสาวัง คเหตวา เรารับผ้ากาสาวพัสตร์นี้มา เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน
              หน้าที่อื่นของเรานั้นไม่ใช่ คันถธุระนั้นไม่ใช่ เราศึกษา เราทำในคันถธุระ เพื่อเป็นการเปลี่ยนอิริยาบถ เพื่อเป็นการผ่อนคลายความเครียดของการปฏิบัติ แต่หน้าที่หลักของเราจริง ๆ ก็คือ การสวดมนต์ ทำวัตร ปฏิบัติพระกรรมฐาน สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นหน้าที่หลัก อันอื่นเป็นเรื่องรองลงไปทั้งหมด
              ในแต่ละวันที่เราทำสิ่งต่าง ๆ ให้สังเกตใจของเรา ถ้ามันมีอารมณ์กระทบ เข้ามา ในด้านดี เป็นที่น่าพอใจ พอมันกระทบเข้ามาแล้ว จิตใจของเรามันพอง มันฟู มันยินดีหรือไม่ ?
              ถ้าเป็น ด้านที่ไม่ดี กระทบเข้ามาแล้ว มันยุบ มันกำลังใจตก มันไปเศร้าหมองอยู่กับมันหรือไม่ ? ไม่ว่าจะยินดีกับมัน หรือยินร้ายกับมันก็ตาม กำลังใจของเรายังใช้ไม่ได้ทั้งคู่
              อย่างที่กล่าวไว้ว่า พอกระทบแล้วก็ทิ้งมันกองไว้ตรงนั้น ไม่ใช่รับมันเข้ามา มาปรุงมาแต่ง มาแบกมันเอาไว้ แล้วก็มาคร่ำครวญว่ามันทุกข์เหลือเกิน ลำบากเหลือเกิน อันนั้น เราทุกข์เพราะตัวเราเอง ลำบากเพราะตัวเราเอง ไม่ต้องโทษใคร
              ถ้าเราไม่แบกมันขึ้นมา มันก็ไม่ทุกข์ไม่ลำบาก สักแต่ว่ากอง ๆ มันไว้ตรงหน้า กระทบมาก็กองไว้ตรงนั้น ได้เห็นมา ได้ยินมา ได้กลิ่นมา ได้รสมา ได้สัมผัสมา กองมันไว้ตรงนั้น
              ต้องมีการ สำรวมอินทรีย์ คือ ระมัดระวังในสิ่งที่มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจของเราให้เป็นปกติ ต้องมี โภชเน มัตตัญญุตา รู้จักประมาณในการกิน มากเกินไปมันก็จะเซื่องซึม ง่วง เพราะว่าไฟธาตุมันต้องลงไปที่กระเพาะ เพื่อไปย่อยอาหาร
              มันทำให้มีเลือดไปหล่อเลี้ยงสมองน้อยลง มันก็จะซึมจะง่วง อยากจะนอนเป็นปกติ ถ้าฉันน้อยจนเกินไป ธาตุขันธ์มันย่ำแย่ โรคกระเพาะมันกำเริบได้ เพราะฉะนั้น ต้องดูว่ามันเหมาะแก่ตัวเองเท่าไร ?
              โภชเน มัตตัญญุตา
คือ ต้องรู้จักประมาณ ไม่มากเกิน ไม่น้อยเกิน ให้มันพอเหมาะพอดีแก่ธาตุขันธ์ของเรา ไม่ใช่ว่าว่าจนเกินไป แล้วก็นอนหลับทั้งวัน หรือไม่ก็น้อยจนเกินไป แม้กระทั่งยามค่ำคืน ท้องมันร้อง ตาสว่างอยู่ หลับไม่ลงก็มี
              ต้องมี ชาคริยานุโยค คือ การปฏิบัติธรรมะของผู้ตื่นอยู่ คำว่าผู้ตื่น คือ เป็นผู้มีสติรู้อยู่ตลอดเวลา จะหลับ จะตื่น จะยืน จะนั่ง มีสติควบคุมอยู่ตลอด รู้ตัวอยู่เสมอว่าเราเป็นพระ กิจใดก็ตามที่เป็นกิจสงฆ์ เราต้องทำให้ครบถ้วนสมบูรณ์
              โดยเฉพาะหน้าที่ของเรา คือ ชำระจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลส ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ จะได้ไม่เสียทีที่ฉันข้าวของโยมเข้าไป ไม่เสียทีที่เขาเลี้ยงเรามา ถ้าเราไม่สามารถชำระจิตใจของเราให้ผ่องใสได้ อย่างน้อยๆ ก็ให้มีฌานสมาบัติอยู่
              ซึ่งมันจะกดกิเลสให้ดับลงชั่วคราว มันสามารถผ่องใสได้ ตราบใดที่เราไม่คลายกำลังฌานออกมา พูดง่ายๆ ว่า ไม่ได้มากก็เอาน้อย อย่างน้อยๆ ต้องได้สักส่วนใดส่วนหนึ่ง การบวชเข้ามาเป็นการเสี่ยงอย่างยิ่ง
              เพราะว่า โอกาสที่จะพลาดลงอบายภูมิ มันมีมากเกินกว่า ๙๐ % ในเมื่อเราลงทุนเสี่ยงเข้ามาแล้ว ถ้าไม่ขึ้นข้างบนก็ลงข้างล่าง โอกาสที่จะอยู่กลางๆ มันมีน้อย เราต้องทุ่มเททำให้มันจริงๆ จังๆ ดู
              คำว่าจริงจังก็คือ ทำให้สม่ำเสมอ ทำให้เป็นระบบ ทำให้เป็นเวลา แล้วพยายามประคับประคอง รักษาอารมณ์ใจนั้นไว้กับเรา ให้อยู่กับมันให้มากที่สุด ให้นานที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ถ้าเราทำอย่างสม่ำเสมอจริงจัง ผลจะเกิดได้ง่าย
              เรื่องของการปฏิบัติ เป็นเรื่องของคนเอาจริง เป็นเรื่องของ ปรมัตถบารมี กำลังใจที่เป็น สามัญบารมี (ขั้นต้น)ก็ดี อุปบารมี (ขั้นกลาง)ก็ดี มันจะทำได้ไม่ตลอด มันต้องเป็นปรมัตถบารมีเท่านั้น
              ในเมื่อตัวเราเองขึ้นชื่อว่าเป็นปรมัตถบารมีแล้ว ถ้าไปอ่อนแอเหยาะแหยะอยู่กับมัน ถึงเวลาอันโน้นก็ไม่ไหว อันนี้ก็ไม่ไหว ถ้าอย่างนั้นมันจะเอาดีไม่ได้ มันต้องได้ทุกอย่าง ไหวทุกเรื่อง ถ้าไม่ได้ให้มันตายไปเลย ถ้าเราทุ่มเทกำลังใจในลักษณะอย่างนี้ได้ การปฏิบัติของเรา ก็จะเห็นผลเร็ว
              สำหรับวันนี้ก็จะมากล่าวถึงกรรมฐานอีกกองหนึ่งคือ จตุธาตุววัฏฐาน ๔ คือการพิจารณาให้เห็นร่างกายอันนี้ว่า มันประกอบขึ้นมาจากธาตุ ๔ อย่าง คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ภาษาบาลีเรียกว่า มหาภูตรูป ๔
              กรรมฐานข้อนี้ สำหรับท่านที่ติดอยู่ในร่างกายของตัวเอง ว่าเป็นเรา เป็นของเรา ความจริงก็ไม่ต่างจาก กายคตานุสติกรรมฐานสักเท่าไร แต่ว่ามันสามารถพิจารณาแยกแยะเป็นส่วน ๆ
              เพียงแต่ว่าไม่ได้แยกว่า มันเป็นเนื้อ เป็นหนัง เป็นกระดูก เป็นเส้นเอ็น เป็นอวัยวะภายในภายนอก มันแยกออกเป็นธาตุแต่ละธาตุแต่ละส่วน เราจะได้เห็นว่า สภาพร่างกายนี้จริง ๆ แล้วมันเป็นอย่างไร ?
              ร่างกายของเราประกอบขึ้นมาจากธาตุ ๔ อย่าง
              ส่วนที่แข็ง จับได้ ต้องได้ เป็นธาตุดิน
              ส่วนที่เหลว ไหลอยู่ในร่างกายของเรา เป็นธาตุน้ำ
              ส่วนที่พัดไปมาในร่างกายของเรา เป็นธาตุลม
              ส่วนที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย เป็นธาตุไฟ

              ท่านให้แยกออกมาเป็นส่วน ๆ ๔ ส่วน พระพุทธเจ้าตรัสว่า เหมือนกับนายโคฆาต ฆ่าโคแล้วก็ชำแหละออกเป็นส่วนๆ ทั้งหมด ๔ ส่วนด้วยกัน เราก็มาแบ่งแยกส่วนต่าง ๆ ของร่างกายนี้ออกเป็น ๔ ส่วนตามธาตุของมันดูบ้าง
              ส่วนที่แข็ง เป็นแท่ง เป็นก้อน เป็นชิ้น เป็นอัน จัดเป็น ธาตุดิน ได้แก่ ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก เยื่อในกระดูก เส้นเอ็น ตับ ไต ไส้ ปอด หัวใจ อาหารใหม่ อาหารเก่า เป็นต้น พวกนี้จัดเป็นธาตุดิน
              ส่วนที่เป็นของเหลวในร่างกาย คือ ธาตุน้ำ ได้แก่ เลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำตา น้ำลาย น้ำดี เหงื่อ ไขมันเหลว ปัสสาวะ
              ไขมันเหลว คือ ไตรกีเซอไรท์ ที่มันอยู่ในเลือด พระพุทธเจ้าท่านรู้จักมันตั้งแต่สมัยโน้นมาแล้ว อันนี้ก็แยกไว้ส่วนหนึ่ง ถ้าหากว่านึกไม่ออก กองมันทิ้งไว้ไม่ได้ ก็นึกถึงกะละมังใหญ่ๆ สักใบ ใส่มันไว้ตรงหน้าก็ได้
              ส่วนที่เป็น ธาตุลม คือ ลมที่พัดขึ้นเบื้องสูง พัดลงเบื้องต่ำ พัดไปทั่วร่างกาย (อันนี้เป็นความดันโลหิต) ลมที่ค้างอยู่ในท้องในไส้ของเรา (คือพวกแก๊ส) ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก อันนี้แยกไว้อีกส่วนหนึ่ง ถ้านึกไม่ออกจริงๆ ก็เอาถุงสักใบใส่มันเอาไว้ หรือลูกโป่งสักใบ ใส่มันเอาไว้ตรงหน้าเรา
              ส่วนที่เป็น ธาตุไฟ คือ ความอบอุ่นของร่างกายของเรา ได้แก่ ไฟธาตุที่กระตุ้นร่างกายให้เจริญเติบโต ไฟธาตุที่เผาผลาญร่างกายให้ทรุดโทรมลง อันนี้ฝรั่งเขาค้นพบแล้ว เขางงมากว่ามันเป็นไปได้อย่างไร ?
              เขาค้นพบว่า ร่างกายเราต้องการออกซิเจน แต่ขณะเดียวกันออกซิเจนนั่นแหละ ที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นมาในร่างกาย ทำลายร่างกายของเราให้โทรมลงไปทุกวัน ๆ เพราะว่าเขาไม่รู้ในจุดนี้ เขาก็เลยงง
              ไฟธาตุที่กระตุ้นร่างกายให้เจริญเติบโต ไฟธาตุที่เผาผลาญร่างกายของเราให้ทรุดโทรมลง ไฟธาตุที่ช่วยในการสันดาปย่อยอาหาร ไฟธาตุที่ช่วยให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายของเรา
              อันนี้แยกไว้อีกส่วนหนึ่ง ถ้าหากว่านึกไม่ออก ไม่สามารถที่จะแยกมันออก ก็นึกถึงกองไฟสักกองหนึ่ง อยู่ตรงหน้าของเราก็ได้ แล้วเจ้าไฟธาตุทุกตัว มันก็คือส่วนหนึ่งของไฟกองนั้น
              ในเมื่อเราแยกออกมาครบ ๔ ส่วนแล้ว เราจะเห็นว่าไม่มีอะไรที่เป็นเรา เป็นของเราเลย ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแล้วสักแต่ว่าเป็นธาตุ เมื่อถึงวาระถึงเวลา มันมาผสมโรงกัน ปรุงกันขึ้นมาเป็นรูป มีหัว มีหู มีหน้า มีตา
              เราได้อาศัยอยู่แค่ชั่วครั้งชั่วคราว ตามบุญตามกรรมที่ทำมา เราก็ไปยึดว่าเป็นตัวกู เป็นของกู แต่จริงๆ แล้ว มันมีอะไรที่เป็นตัวกู ของกูหรือไม่ ? ก็ดูมันเอาไว้ ดูมันให้เห็นให้ชัดเจนว่า มันสักแต่ว่าเป็นเปลือกที่เราอาศัยอยู่เท่านั้น
              เราอาศัยอยู่กับเปลือกนี้ ขณะที่ดำรงชีวิตอยู่ เรามีความสุขหรือไม่ ? มันมีแต่ความทุกข์อยู่ตลอดเวลา มันหิว มันกระหาย มันร้อน มันหนาว มันเจ็บไข้ได้ป่วย มันสกปรกโสโครกเป็นปกติ เราก็ต้องลำบากยากแค้น ในการหาให้มันกิน หาให้มันดื่ม
              พามันไปถ่ายอุจจาระถ่ายปัสสาวะ รักษาพยาบาลมันยามเจ็บป่วย ดูแลทำความสะอาดมัน ไม่ให้มันสกปรกโสโครกจนกระทั่งเราเองถึงกับทนไม่ได้ มันมีความทุกข์ของมันอยู่ตลอดเวลา ตราบใดที่เรายังเกิดมามีร่างกายนี้ มันก็ยังทุกข์อีก
              ถ้าธาตุใดธาตุหนึ่งมันบกพร่อง อาการเจ็บป่วยเกิดขึ้นกับร่างกาย
ก็ต้องมาลำบาก ต้องมาทุกข์ยากอยู่กับมัน เสียเวลารักษาพยาบาลดูแลเอาใจใส่มัน นั่นก็ยังไม่เท่าไร ถ้ามัน บกพร่องมาก ๆ เติมให้มันไม่ไหว หนุนมันเท่าไหร่ก็ไม่ขึ้น มันก็หมดสภาพ ตาย
              อันดับแรก ถ้าหากว่าตาย ธาตุลมมันจะขาดออกไปก่อน เมื่อธาตุลมมันขาด ไม่มีตัวหนุนเสริม ธาตุไฟมันก็ดับ เมื่อธาตุไฟมันดับ มันอันตรธานไป เหลือแต่ ธาตุดินกับ ธาตุน้ำ ตอนแรกยังมีธาตุไฟอยู่ คอยควบคุมธาตุน้ำไม่ให้ล้นเกิน ให้พอเหมาะพอดี
              แต่พอไม่มีธาตุไฟไปคอยควบคุมมัน ธาตุน้ำมันก็ล้นเกิน ดันร่างกายให้อืดพองขึ้นมา อันนี้คือ อุทุมาตกอสุภ วันก่อนสอนไปแล้ว พอถึงเวลาตายไปแล้วสักสองวัน สามวัน มันก็เริ่มเขียว ๆ ช้ำ ๆ ขึ้นมา อันนี้คือ วินีลกอสุภ
              พอสักสี่ห้าวัน ร่างกายที่เป็นธาตุดินมันทนไม่ไหว ธาตุน้ำมันทลายเขื่อนออกมาแล้ว ผิวกายปริแตก น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนองไหลโซมเลย อันนี้คือ วิปุพกอสุภ สอนไปแล้ว พิจารณาได้ มองให้เห็นมันค่อย ๆ เปื่อย ค่อย ๆ เน่า โซมลง ๆ
              จนกระทั่งเน่าเปื่อยไปหมด เหลือแต่โครงกระดูกอยู่ อันนี้คือ อัฎฐิกอสุภ สอนไปแล้ว พิจารณาให้เห็น มีสัตว์ต่างๆ มากัด มาฉีก มาทึ้ง มาดึง มาลากไปกิน อวัยวะส่วนต่างๆ โดนงับ โดนกัด โดนฉีก โดนทึ้ง เว้าไปแหว่งมา อันนี้ก็เป็น วิกขายิตกอสุภ
              จนกระทั่งมันหลุดออกเป็นชิ้น ๆ กระจัดกระจายไป อันนี้เป็น วิกขิตกอสุภ เราสามารถพิจารณารวมกันเข้าไปได้ จนกระทั่งโครงกระดูกหลุดกระจัดกระจายไปทุกส่วน
              จากของใหม่ก็เป็นของเก่า ค่อย ๆ เปื่อยผุพัง ย่อยสลายจมดินไป ไม่มีอะไรเหลือเลยแม้แต่นิดเดียว ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ คืนไปสู่ความเป็นธรรมชาติของมัน แล้วตัวเราของเรามีหรือไม่ ?
              เมื่อมาถึงตรงจุดนี้ ก็จะเห็นว่า จริง ๆ แล้วมันไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเราเลย มันเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด จากเด็กเล็ก ๆ เป็นเด็กโต เป็นเด็กหนุ่มเด็กสาว เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นวัยกลางคน เป็นคนแก่ แล้วก็ตาย
              มันอาจจะตายตั้งแต่เด็กก็ได้ ตั้งแต่หนุ่มสาวก็ได้ ตั้งแต่กลางคนก็ได้ หรือมาตายตอนแก่ก็ได้ ระหว่างที่ดำรงชีวิตอยู่ ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ทุกข์ของการเกิด ทุกข์ของการแก่ ทุกข์ของการเจ็บ ทุกข์ของการตาย
              ทุกข์ของการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ทุกข์ของการปรารถนาไม่สมหวัง ทุกข์ของการกระทบกระทั่งอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ทุกข์ของการหิว การกระหาย ทุกข์ของความร้อน ทุกข์ของหนาว ทุกข์ของความเจ็บไข้ได้ป่วย
              ทุกข์ของความสกปรกโสโครก
ต้องอึดอัด ต้องทนอยู่กับมัน ความทุกข์มันมีอยู่เป็นปกติ ท้ายสุดมันก็สลาย มันก็ตาย มันก็พัง บังคับบัญชามันไม่ได้ ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา กลายเป็นธาตุ ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม คืนแก่ธรรมชาติเขาไป
              ในเมื่อมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เราก็จะเห็นชัดเจนว่า มันไม่เที่ยง ระหว่างที่มันตั้งอยู่ มันก็มีแต่สิ่งที่เราต้องทน ต้องฝืนอยู่กับมัน มันก็เป็นทุกข์ ท้ายสุดมันก็สลาย ก็ตาย ก็พังไป ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเรา
              เราเกิดอีกเมื่อไร ก็ต้องเจอ ร่างกายที่ไม่เที่ยงอย่างนี้อีก เกิดอีกเมื่อไหร่ ก็ต้องเจอ ร่างกายที่เป็นทุกข์อย่างนี้อีก เกิดอีกเมื่อไหร่ ก็เจอ ร่างกายที่ไม่มีอะไรยึดถือมั่นหมายได้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราอย่างนี้อีก
              ถึงเวลามันจะป่วย มันก็ป่วย ถึงเวลามันจะตาย มันก็ตาย บังคับบัญชามันไม่ได้ ต้องทุกข์ต้องทนอยู่กับมันอย่างนี้ แล้วเรายังอยากจะเกิดมามีร่างกายอย่างนี้อยู่หรือไม่ ? มันไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเราเลย
              มันสักแต่ว่าเป็น ธาตุ ๔ ประกอบกันขึ้นมาให้เราอาศัยอยู่ชั่วคราว
ถึงวาระถึงเวลามันก็สลายไป พังไป เราก็ต้องไปตามบุญตามกรรมที่เราทำมา ถ้าหากว่ายังไม่พ้นตายพ้นเกิด ก็ต้องวนเวียนไปมีอัตภาพร่างกายอย่างนี้อีก
              อาจจะย่ำแย่กว่านี้ คือเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน หรือดีกว่านี้หน่อยก็เป็นเทวดา เป็นพรหม แต่ว่ายังไม่สามารถหลุดพ้น ถ้าไม่ใช่ท่านที่เป็นพระอริยเจ้าแล้ว ก็พร้อมที่จะลงสู่อบายภูมิอยู่ตลอดเวลา เรายังต้องการร่างกายนี้อยู่หรือ ?
              เมื่อเราเห็นจริงแล้วว่า มันไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเรา จิตเราก็ปลดออกจากความต้องการของจุดนั้น ตั้งใจว่า ถ้าหากว่าถึงวาระถึงเวลา มันตาย มันพัง เราก็ขอไปพระนิพพานแห่งเดียว
              แล้วจับคำภาวนา จับลมหายใจเข้าออกควบไปด้วย จับภาพพระควบไปด้วย ภาวนาจนอารมณ์ใจทรงตัวถึงที่สุด ก็เรียกว่าเราเป็นผู้ปฏิบัติใน จตุธาตุววัฏฐาน ๔ ได้อย่างที่เราต้องการ แต่ว่าไม่ใช่ปฏิบัติในลักษณะทรงอารมณ์ภาวนาเฉย ๆ ให้ใช้ปัญญาประกอบด้วย
              ให้เห็นอยู่ตลอดเวลาว่า ไม่ว่าร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของเขาก็ดี จะเป็นหญิงเป็นชาย เป็นคนเป็นสัตว์ก็ตาม มันสักแต่ว่าประกอบขึ้นมาจากธาตุ ๔ เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง สลายไปในที่สุด
              ขณะดำรงชีวิตอยู่มีแต่ความทุกข์ ไม่มีอะไรให้ยึดถือมั่นหมายได้ ท้ายที่สุดมันก็สลาย ก็ตาย ก็พังไป ร่างกายของเราก็ยึดถือไม่ได้ ร่างกายของเขาก็ยึดถือไม่ได้ สักแต่ว่าเป็นดิน เป็นน้ำ เป็นลม เป็นไฟ ให้อาศัยอยู่
              ถ้าทำกำลังใจถึงจุดนี้ได้เต็มที่ จะเห็นคน เห็นสัตว์ เห็นผู้หญิง เห็นผู้ชาย เห็นข้าวของเครื่องใช้ มันจะเห็นเหมือนๆ กัน คือ สักแต่ว่าประกอบขึ้นจากธาตุ ๔ เป็นกองทุกข์ เป็นที่รวมของความทุกข์ และไม่สามารถที่จะบังคับบัญชามันได้อย่างใจ

              เพราะฉะนั้น เราไม่เอามันอีกดีกว่า คิดว่าถ้าตายแล้วเราขอไปพระนิพพานแห่งเดียว เอาใจจดจ่ออยู่กับพระนิพพานไว้ เอาใจจดจ่อกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ของเราเอาไว้ ให้ใจมันทรงตัวอยู่ตรงจุดนั้น
              ไม่มาผูกพันกับร่างกายที่มันไม่เที่ยง ร่างกายที่เป็นทุกข์ ร่างกายที่มันไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา ให้มีปัญญาเห็นอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา แยกมันออกจากเราอยู่ตลอดเวลา อย่าได้เห็นว่ามันเป็นเรา เป็นของเรา แม้สักนิดเดียว เพราะว่าถ้าเห็นว่ามันเป็นเราเป็นของเราแม้แต่น้อยหนึ่ง เราก็ยังต้องเกิด เราก็ยังต้องทุกข์ต่อไป
              การปฏิบัติใน จตุธาตุววัฏฐาน ๔ ซึ่งเป็นกรรมฐานอีกกองหนึ่ง เหมาะสำหรับท่านที่เป็นพุทธิจริต หรือว่าท่านที่เป็น ราคะจริตก็สามารถที่จะปฏิบัติได้ ถ้าสามารถแยกแยะมันออกจริง ๆ ก็จะ ไม่มีอะไรให้เรายึดถือมั่นหมาย ให้ยินดียินร้ายกับมันได้เลย
              สำหรับตอนนี้ขอให้ทุกคน ประคับประคองอารมณ์ที่ทำได้ ที่ทรงตัวอยู่นั้น ให้อยู่กับเรา โดยการแบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่งให้ควบคุมมันเอาไว้ ส่วนที่เหลือจะได้ปฏิบัติหน้าที่ของเราต่อไป

พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
วันเสาร์ที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๔๗

๒๓. พรหมวิหาร ๔


              พวกเราทั้งหมดต้องไม่ลืม ว่า การปฏิบัตินั้นเราจะทิ้งของเก่าไม่ได้ อันไหนเคยทำได้แล้ว ต้องทบทวนเอาไว้เสมอๆ เพื่อความคล่องตัว เพราะว่ากรรมฐานที่สอนอยู่นี้ ตั้งใจว่ามันมีเวลาก็จะสอนให้ครบทั้งสี่สิบกองไปเลย
              ถ้ากองใดกองหนึ่งที่เราทำแล้วมันได้ผล ก่อนขยับต่อไปกองอื่น ต้องทบทวนกำลังใจของเราในกองกรรมฐานนั้น ให้ทรงตัวให้เต็มที่เสียก่อน ถ้าเราไม่ทบทวนเอาไว้ ถึงเวลากิเลสข้อใดข้อหนึ่งมันเข้ามาตีเรา เราอาจจะรับมือไม่ทัน เพราะขาดความคล่องตัว
              สำหรับตอนนี้ ให้ทุกคนนึกถึงลมหายใจเข้าออก พร้อมกับคำภาวนาให้เป็นปกติ หายใจเข้านึกว่า "พุท" หายใจออกนึกว่า "โธ" พุทเข้า โธออก หายใจเข้าผ่านจมูก ผ่านกึ่งกลางอก ลงไปสุดที่ท้อง
              หายใจออกจากท้อง ผ่านกึ่งกลางอก มาสุดที่ปลายจมูก "พุท" เข้า จมูก อก ท้อง "โธ" ออก ท้อง อก จมูก กำหนดความรู้สึกทั้งหมดของเรา ให้อยู่กับลมหายใจเข้าออก การหายใจเข้า หายใจออก ให้ปล่อยไปตามปกติ ตามธรรมชาติของมัน
              อย่าไปบังคับมัน แค่ตามรู้ไปเฉย ๆ ว่าตอนนี้มันหายใจเข้า ตอนนี้มันหายใจออก มันจะแรง จะเบา จะยาว จะสั้น ภาวนาอย่างไร กำหนดใจรู้ตามไปเท่านั้น หายใจเข้า "พุท" หายใจออก "โธ" หรือ เราถนัดคำภาวนาอื่น ก็ใช้คำภาวนาอื่นไป
              กำหนดใจไหลตามลมหายใจเข้า ไหลตามลมหายใจออก แรก ๆ ใหม่ ๆ จิตมันหยาบอยู่ มันอาจจะจับไม่ได้ครบทั้งสามฐาน อันนั้นไม่เป็นไร ขอให้พยายามกำหนดรู้ พออารมณ์ใจแวบไปสู่อารมณ์อื่น ก็ให้ดึงมาอยู่กับลมหายใจเข้าออกของเราใหม่
              มันแวบไปเมื่อไหร่ก็ดึงมันกลับมา แวบมันออกไปเมื่อไหร่ก็ดึงมันกลับมา ให้อยู่เฉพาะหน้าของเรา หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ ทำสบาย ๆ ไม่ต้องเคร่งเครียดกับมัน ตามดูตามรู้ลมหายใจอย่างเดียว ดูว่าตอนนี้หายใจเข้า ดูว่าตอนนี้หายใจออก พร้อมกับคำภาวนา
              จากนั้น ให้กำหนดจิตเบา ๆ สบาย ๆ นึกว่า ตรงหน้าของเรามีพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง ที่เรารักเราชอบมากที่สุด จะเป็นพุทธรูปยืน นั่ง นอนแล้วแต่เราชอบ ให้อยู่ห่างจากเราไปในระดับที่กำหนดใจได้สบาย ๆ ว่าท่านอยู่ตรงนั้น
              อย่าลืมว่านี่ ไม่ใช่ตาเห็น เพราะฉะนั้นอย่าใช้สายตาเพ่ง กำหนดความรู้สึกทั้ง หมดอยู่ที่ภาพพระพุทธรูป ง่าย ๆ สบาย ๆ จะชัดหรือไม่ชัด จะเห็นหรือไม่เห็นก็ช่างมัน ขอให้เรามั่นใจว่าตรงหน้าเรามีภาพพระอยู่ก็ใช้ได้
              หายใจเข้า ดึงลมหายใจจาก ภาพพระ ผ่านจมูก ผ่านอก ไปสุดที่ท้อง หายใจออก ลมหายใจออกจากท้อง ผ่านอก ผ่านจมูก ไปสุดที่พระ หายใจเข้าจากพระ ผ่านจมูก อก ท้อง หายใจออกจากท้อง อก จมูก ไปสุดที่พระ หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ
              ยิ่งภาวนามาก ยิ่งหายใจเข้าออกมาก ภาพพระก็ยิ่งสว่างขึ้น ชัดเจนขึ้น แจ่มใสขึ้น พุท หายใจเข้า โธ หายใจออก พุท หายใจเข้าภาพพระสว่างขึ้น โธ หายใจออกภาพพระสว่างขึ้น
              เมื่อกำลังใจของเรานิ่งดีแล้ว สนิทแนบแน่นอยู่กับภาพพระนั้นแล้ว คราวนี้ให้กำหนดใจพร้อมกับคำภาวนาว่า ขอให้ภาพพระนี้ใหญ่ขึ้น หายใจเข้าภาพพระก็ใหญ่ขึ้น สว่างขึ้น หายใจออกภาพพระก็ใหญ่ขึ้น สว่างขึ้น
              เอาทีละน้อย อย่ากำหนดพรวดพราดทีเดียว เราต้องการผล คือต้องการคุณภาพ ไม่ได้ต้องการความคล่องตัวมาก ปริมาณมาก หายใจเข้า พุท หายใจออก โธ หายใจเข้าภาพพระใหญ่ขึ้น สว่างขึ้น หายใจออกภาพพระใหญ่ขึ้น สว่างขึ้น
              กำหนดใจจดจ่อแน่วแน่ อยู่กับภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเบื้องหน้าของเรา หายใจเข้าท่านก็ใหญ่ขึ้น สว่างขึ้น หายใจออกท่านก็ใหญ่ขึ้น สว่างขึ้น จนกระทั่งภาพพระโตขึ้นเรื่อย ๆ โตเต็มไปทั้งแผ่นดินแผ่นฟ้า โตเต็มไปทั้งจักรวาล สว่างไสวอย่างหาประมาณไม่ได้ อยู่ข้างหน้าของเรา
              จากนั้น กำหนดกำลังใจ ขอให้ภาพพระเล็กลง เล็กลงแบบช้า ๆ หายใจเข้าภาพพระเล็กลง แต่ยังคงสว่างไสวอยู่เหมือนเดิม หายใจออกภาพพระเล็กลง แต่ยังคงสว่างไสวอยู่เหมือนเดิม
              หายใจเข้าภาพพระเล็กลง หายใจออกภาพพระเล็กลง จนกระทั่งภาพพระลงมาเหลือเท่าเดิม แค่ที่เราเห็นได้สบาย ๆ ภาพพระตรงหน้าของเราเล็กลง พอที่เราจะกำหนดได้สบาย ๆ สว่างไสวอยู่ตรงหน้า
              จากนั้น กำหนดต่อไปว่า หายใจเข้าภาพพระเล็กลง แต่ยังคงสว่างไสวอยู่อย่างนั้น หายใจออกให้ภาพพระใหญ่ขึ้น สว่างขึ้น หายใจเข้าให้ภาพพระเล็กลงสว่างอยู่อย่างนั้น หายใจออกให้ภาพพระใหญ่ขึ้นสว่างไสวขึ้น
              เข้าเล็กลง ออกใหญ่ขึ้น ลมหายใจเข้าภาพพระเล็กลง ลมหายใจออกภาพพระใหญ่ขึ้น จากนั้น กำหนดใจให้นิ่งเบา ๆ สบาย ๆ อยู่ที่ภาพพระนั้น ให้ภาพพระเป็นภาพพระที่เราชอบใจ อยู่ในขนาดที่เรากำหนดได้สบาย ๆ จะใหญ่จะเล็กอยู่ที่เราชอบ
              แล้ว กำหนดจิตดึงเอาภาพพระนั้นเข้ามาไว้เหนือศีรษะของเรา ตอนนี้ภาพพระมาสว่างไสวอยู่เหนือศีรษะของเรา หันหน้าไปด้านเดียวกับเรา จากนั้น เรา หายใจเข้าให้ภาพพระไหลจากศีรษะ ผ่านอก ลงไปที่ท้อง เป็นองค์เล็ก
              หายใจออกให้ภาพพระไหลจากท้อง ผ่านอก ขึ้นไปบนศีรษะ เป็นองค์ใหญ่ หายใจเข้า ภาพพระเป็นองค์เล็ก สว่างไสวอยู่ที่ท้อง หายใจออก ภาพพระกลายเป็นองค์ใหญ่ ไปสว่างไสวอยู่เหนือศีรษะ
              หายใจเข้าภาพพระเล็กลง ไปสุดอยู่ที่ท้อง สว่างใสสะอาดอยู่ที่นั่น หายใจออกภาพพระเลื่อนขึ้นไปอยู่บนศีรษะ เป็นองค์ใหญ่สว่างไสวอยู่ที่นั่น คราวนี้ กำหนดภาพพระให้อยู่บนศีรษะนิ่งๆ สว่างไสวอยู่อย่างนั้น
              จากนั้น ขอให้ความสว่างจากภาพพระแผ่คลุมตัวของเราลงมา จากศีรษะลงมาถึงหน้าผาก ถึงดวงตา ถึงจมูก ถึงปาก ถึงคาง ถึงไหล่ ถึงต้นแขน ถึงปลายแขน สะโพก ส้นเท้า ปลายเท้า ภาพพระที่แผ่รัศมีสีขาวใสสะอาดคลุมลงมา จนกระทั่งตัวเราก็ใส ก็สว่างเหมือนกับภาพพระไปด้วย
              จากนั้น ดึงเอาภาพพระเข้ามาในอกของเรา ให้สว่างไสวไปทั้งกายของเรา กำหนดใจ ให้ความสว่างจากองค์พระ แผ่กว้างจากตัวของเราออกไปรอบข้าง ลักษณะเหมือนกับโยนดินหรือหินลงในน้ำ แล้วน้ำกระเพื่อมเป็นวงแผ่กว้างออกไป กว้างออกไป
              ให้กำหนดใจว่า รัศมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความเมตตาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ รัศมีสีขาวใสสว่างที่แผ่กว้างออกไปทุกที ๆ ตั้งใจว่า เราไม่เป็นศัตรูกับใคร เราเป็นมิตรกับคนและสัตว์ทั่วทั้งโลก
              ..ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น จงอย่าได้มีเวรมีกรรมและเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย ขอให้พากันล่วงพ้นจากความทุกข์ มีแต่ความสุขโดยเสมอหน้ากันเถิด..
              กำหนดภาพพระให้สว่างไสว แผ่กว้างออกไปทุกที ๆ กว้างเต็มไปทั้งสถานที่นี้ เต็มไปทั้งวัดนี้ กว้างเต็มไปทั้งตลาด ทั้งหมู่บ้าน ทั้งตำบล ทั้งอำเภอ ทั้งจังหวัด กว้างออกไป กว้างออกไป ให้ตั้งใจด้วยความปรารถนาดีอย่างจริงใจว่า
              ..มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ผู้ที่ชีวิตของท่านทั้งหลายเหล่านั้น ได้ตกล่วงไปแล้วในวันหนึ่งคืนหนึ่ง ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้น จงไปเสวยสุขในสุคติภพโดยทั่วหน้ากันเถิด..
              กำหนดให้ภาพพระสว่างไสว แผ่รัศมีกว้างออกไปเรื่อย ๆ ครอบคลุมไปทั้งจังหวัด ทั้งประเทศ ทั้งทวีป ทั้งโลก จนกระทั่งโลกทั้งโลกก็เหมือนยังกับเป็นอะไรเล็ก ๆ อยู่ใต้ร่างกายของเรา
              รัศมีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่แผ่กว้างไกลออกไป เหมือนกับทำให้ ร่างกายของเราใหญ่โตเต็มแผ่นดินแผ่นฟ้า โลกทั้งโลกเหลือเพียงเล็กนิดเดียวอยู่ใต้กายของเรานี่เอง ไม่มีจุดไหนที่กำลังจากเมตตาบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ความใสสว่างเยือกเย็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะแผ่ไปไม่ถึง ให้ตั้งใจว่า
              ..มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ผู้ที่ชีวิตของท่านทั้งหลายเหล่านั้น ตกอยู่ในความทุกข์ยาก เศร้าหมอง เดือนร้อน ลำเค็ญ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ เจ็บไข้ได้ป่วย พิกลพิการใดๆ ก็ดี ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้น จงได้ล่วงพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายนั้นเถิด..
              กำหนดใจให้พระรัศมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แผ่กว้างออกไป กว้างออกไป ทั่วทั้งโลกนี้ ทั่วทั้งจักรวาลนี้ ทั่วทั้งจักรวาลอื่น สรรพสัตว์ทั้งหลายไม่ว่าจะอยู่ในดวงดาวไหน จักรวาลไหน ก็มีส่วนรับในพระเมตตาบารมี ที่ใสสะอาด สว่าง เยือกเย็นขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยทั่วถึงกัน ให้ตั้งใจว่า
              ..มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ผู้ที่ชีวิตของท่านทั้งหลายเหล่านั้น มีความสุขความเจริญดีอยู่แล้ว ขอให้ท่านทั้งหลายเหล่านั้น จงมีความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปด้วยเถิด..
              กำหนดให้พระเมตตาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แผ่กว้างไกลออกไปจากอนันตจักรวาลทั้งหลาย ไปสู่ภพภูมิของเหล่าสัตว์นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ทั้งหมด เทวดาทั้งหมด มารทั้งหมด พรหมทั้งหมด ตลอดจนพระทุกองค์ในพระนิพพาน
              ให้กำลังใจนี้แผ่ไปจนถึงทุกภพทุกภูมิ ทุกหมู่ทุกเหล่า ตั้งความปรารถนาไว้ว่าขอให้เขาพ้นทุกข์ มีแต่ความสุขโดยทั่วหน้ากัน ให้กำหนดใจว่า
              ..มนุษย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น พึงเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กันและกัน เสียสละให้ปัน ช่วยเหลือเกื้อ กูลแก่ผู้ที่ตกอยู่ในความทุกข์ยากยิ่งกว่าตน ให้พ้นทุกข์ เพื่อยังโลกนี้ไปสู่สันติสุขอันสมบูรณ์ด้วยเถิด..
              กำหนดให้ภาพขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เลื่อนสูงขึ้น ลอยสูงขึ้นสูงขึ้นไป สูงขึ้นไปสู่เขตของอากาศเทวดา สู่เขตของพรหมทั้งหลาย จนกระทั่งไป ปรากฏอยู่ในพระนิพพานเป็นปกติ
              ตอนนี้ให้กำหนดว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ในพระวิมานบนพระนิพพาน สว่างไสวอยู่ตรงหน้าของเรา น้อมจิตน้อมใจกราบลงตรงนั้น ตั้งใจว่าภายใต้เมตตาพระบารมีขององค์สมเด็จพระชินสีห์บรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้านี้
              ถ้าหากว่ามีกิจใดที่ลูกทั้งหลายจะกระทำแล้ว เพื่อเกื้อพระศาสนา เพื่อแบ่งเบาภาระของหลวงปู่ หลวงพ่อ และเพื่อมรรคผลนิพพานของลูกเอง ขอให้ลูกทั้งหลายสามารถทำกิจนั้นได้สำเร็จลุล่วงโดยพลัน
              ธรรมใดที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดท่าซุงได้รู้แจ้งเห็นจริงแล้ว ขอให้ลูกทั้งหลายได้รู้เห็นธรรมนั้นในชาติปัจจุบันนี้ด้วยเถิด กำหนดใจให้แน่วนิ่งอยู่กับภาพพระที่สว่างไสวอยู่ตรงหน้า
              สำหรับวันนี้ จริง ๆ แล้วจะสอนในเรื่องของ พรหมวิหาร ๔ แต่พรหมวิหาร ๔ ในขณะที่เราวางกำลังใจนั้น มันทรงตัวยาก จึงได้แนะนำให้ใช้ประกอบกับภาพพระ ประกอบกับลมหายใจเข้าออก กำหนดให้ทรงเป็นฌานเต็มที่ไปเลย
              พรหมวิหาร ๔ เป็นกำลังใจที่ทรงได้ยาก เพราะว่า ต้องออกมาจากน้ำใสใจจริงของเราเอง ดังนั้น ถ้าไม่อาศัยเกาะกับภาพพระ ไม่อาศัยเกาะกับลมหายใจเข้าออก เราจะทำให้ทรงตัวลำบาก
              พรหมวิหาร ๔ ประกอบไปด้วย
              ๑.เมตตา คือรักเขาเสมอด้วยตัวเราเอง ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นหญิงหรือชาย ยากจน ร่ำรวย สวยงาม หรืออัปลักษณ์ เราก็มีความรักความปรารถนาดีต่อเขา โดยเสมอหน้ากัน
              ๒.กรุณา มีความสงสาร ปรารถนาที่จะช่วยเหลือเขาทั้งหลาย ให้พ้นจากความทุกข์ เต็มสติกำลังที่เราทำได้
              ๓.มุทิตา เมื่อเห็นเขาอยู่ดีมีสุขก็พลอยยินดีด้วย ไม่มีความอิจฉาริษยาใด ๆ
              ๔.อุเบกขา เมื่อขวนขวายสงเคราะห์เต็มที่แล้ว ไม่สามารถช่วยให้เขาดีกว่าเดิมได้ ก็ปล่อยวาง ยอมรับว่าเป็นกฎของกรรม
              เมตตาบารมีนี้มีอานิสงส์มาก ท่านกล่าวไว้ว่า หลับอยู่ก็เป็นสุข ตื่นอยู่ก็เป็นสุขจะไม่ฝันเห็นสิ่งร้าย เป็นที่รักของมนุษย์และอมนุษย์ทั้งหลาย เทวดาทั้งหลายจะรักษาเรา จะไม่เป็นอันตรายด้วยอำนาจของอาวุธ ของไฟ ของยาพิษ
              ช่วยให้สมาธิทั้งหลายทรงตัวได้ง่าย ช่วยให้ศีลทั้งหลายมีความทรงตัวได้ง่าย เป็นผู้ที่มีหน้าตาผิวพรรณแจ่มใสอยู่เสมอ เพราะว่าจิตประกอบไปด้วยความเมตตาเป็นปกติ ถ้าหากว่าตายก็จะเป็นผู้ที่ไม่หลงตาย
              เพราะว่าจิตใจสงบเยือกเย็น เกาะความดีเป็นปกติ ถ้าหากว่าเข้าไม่ถึงพระนิพพาน ก็จะ มีพรหมเป็นที่ไปเป็นปกติ อานิสงส์ของเมตตาพรหมวิหารทั้งหลายเหล่านี้ ถ้าใครปฏิบัติได้ ก็จะทรงอยู่กับตนตลอดเวลา
              เป็นที่รักของคนทั่วไป เป็นที่รักของสัตว์ทั่วไป เป็นที่รักของเทวดา มาร พรหม ตลอดจนเข้าถึงพระนิพพานได้ง่าย เมตตาพรหมวิหารนี้ถ้าทรงตัวได้จริงๆ อานิสงส์ต่ำสุดจะเกิดเป็นพรหมเป็นปกติ
              กำลังในการปฏิบัติของเรา เมื่อเรา ตั้งใจหวังสงเคราะห์ผู้อื่น มีความรักความสงสาร อยากช่วยเหลือให้เขาพ้นทุกข์ เป็นผู้ไม่นิ่งดูดายในความลำบากของคนอื่น ไม่มีความอิจฉาริษยาใคร พลอยยินดีเมื่อเห็นเขาอยู่ดีมีสุข
              และสำคัญที่สุดตัวอุเบกขา ถ้าหากว่าไม่สามารถจะสงเคราะห์ได้ โดยการพยายามทุกอย่างเต็มที่แล้ว ก็รู้จักปล่อยวาง เพื่อจิตใจของเราจะได้ไม่เศร้าหมอง อารมณ์ของเราจะได้ทรงตัวผ่องใสเป็นปกติ
              ถ้าทำไปเรื่อยๆ มันจะเป็นสังขารุเปกขาญาณ รู้จักปล่อยวางในสังขารต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสังขารที่เป็นขันธ์ ๕ มันจะอยู่หรือมันจะตายก็เรื่องของมัน มันอยู่เราดูแลรักษามันด้วยความรักความเมตตาอย่างเต็มที่ ถ้ารักษาแล้วมันไม่ดีขึ้น มันจะตาย ก็เป็นเรื่องของมัน
              เราสงเคราะห์ช่วยเหลือคนอื่น สัตว์อื่นอย่างเต็มที่ ถ้าสงเคราะห์ช่วยเหลือเต็มที่แล้ว ไม่สามารถที่จะสงเคราะห์ได้ เราก็ปล่อยวาง เป็นเรื่องของกฎของกรรม
              ถ้าหากว่าจิตใจทรงสังขารุเปกขาญาณอย่างนี้เป็นปกติ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในร่างกายนี้ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในโลกนี้ ไม่มีความปรารถนาจะเกิดเป็นเทวดา เป็นพรหม ขึ้นชื่อว่าการเกิดที่เป็นทุกข์เราไม่ต้องการ เราต้องการพระนิพพานแห่งเดียว
              เอาจิตจดจ่อให้มั่นคง อยู่เบื้องหน้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในนิพพานอย่างที่สอนมาแต่แรก กำหนดใจให้ภาพพระสว่างไสวอยู่เฉพาะหน้าของเรา ตั้งใจว่านี่คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ท่านประทับอยู่ในพระนิพพาน
              ถ้ามันหมดอายุขัย ตายลงก็ดี หรือว่ามันตายด้วยอุบัติเหตุ อันตรายใดๆ ก็ดี เราขอมาอยู่ที่นี่กับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ขอมาอยู่ที่พระนิพพานนี้แห่งเดียว
              สำหรับตอนนี้ เวลาที่จะทำต่อไม่เพียงพอแล้ว ขอให้ทุกคนคลายกำลังใจออกมาช้า ๆ เอาความรู้สึกส่วนหนึ่งจับภาพพระให้เป็นปกติ ให้เห็นภาพพระชัดเจนสว่างไสว สะอาดเยือกเย็นนั้นเป็นปกติ ส่วนกำลังอีกส่วนหนึ่งเราจะได้ควบคุมร่างกาย เพื่อทำหน้าที่ของเราต่อไป

พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
วันอาทิตย์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗

๒๔. อุปกิเลส ๑๐ อรูปฌาน ๔


              ในการปฏิบัติธรรมของเรานั้น เราจะพบกับอารมณ์ใจในระดับต่าง ๆ ที่ความจริงแล้วเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเราขาดปัญญากับการพิจารณา ไปน้อมใจเชื่อเข้าว่านั่นเป็นธรรมะแท้ นั่นเป็นมรรค นั่นเป็นผล นั่นเป็นที่สุดของการปฏิบัติ มันก็จะกลายเป็นกิเลสทันที บาลีเรียกว่าอุปกิเลส
              อุปกิเลสมีอยู่ด้วยกัน ๑๐ ประการด้วยกัน
              ๑. โอภาส แปลว่า แสงสว่าง เมื่อท่านปฏิบัติไป จิตเริ่มเข้าถึง อุปจารสมาธิ จะเห็นเป็นแสงสว่างขึ้นมา สว่างมาก ๆ บางทีถึงขนาดเราคิดว่า มีใครเอาไฟมาส่องหน้าก็มี หรือสว่างแต่น้อย ๆ ก็มี แสงจะเป็นจุด เป็นแต้ม เป็นขีด เป็นดวงก็มี
              หลายรายคิดว่า พอเห็นแสงสว่างก็คือบรรลุแล้ว เข้าถึงจุดที่ตัวเองต้องการแล้ว จริง ๆ แล้วนั่นยังไม่ได้ขึ้นชั้นอนุบาลเลย ฉะนั้น ถ้ามีแสงสว่างเกิดขึ้น ให้ทำใจเฉย ๆ สบาย ๆ อยู่กับมัน ให้เข้าใจว่า นั่นเป็นเรื่องปกติของการปฏิบัติ ถ้าเราไม่สนใจมัน สมาธิก็จะเจริญก้าวหน้ามากขึ้น
              ๒. ปีติ แปลว่า ความอิ่มเอิบใจ ตัวปีติมีทั้ง ขณิกาปีติ ขนจะลุกซู่ซ่าเป็นพัก ๆ ขุททกาปีติ น้ำตาไหล โอกกันติกาปีติ ตัวโยกไปโยกมา หรือเกิดอาการดิ้นเหมือนอย่างกับการปลุกพระ หรือผีเจ้าเข้าสิง
              อุเพ็งคาปีติ ลอยขึ้นทั้งตัว ลอยไปรอบสถานที่ หรือว่าลอยไปไกล ๆ ก็ได้ ผรณาปีติ รู้สึกว่าตัวพอง ตัวใหญ่ ตัวรั่ว ตัวทะลุ มีสิ่งต่าง ๆ หลั่งไหลจากร่างกายออกมามากมาย หรือบางรายก็รู้สึกว่า แตกระเบิดละเอียดไปเลยก็มี
              นี่ยังไม่ขึ้นประถมหนึ่งเลย แต่หลายรายพอเกิดอาการดังนี้ ก็ คิดตัวเองบรรลุเสียแล้ว ยิ่งถ้าหากว่าลอยได้ ก็คิดว่าเราบรรลุมรรคผลแล้วถึงได้เหาะได้ บินได้อย่างนี้ ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก ยกเว้นว่า ถ้าเราจะรู้เท่าทันมัน ไม่ได้สนใจ ไม่ได้ใส่ใจในมัน ปล่อยให้มันเกิดขึ้นเต็มที่ ถึงวาระมันก็จะก้าวข้ามไปเอง
              ๓. ปัสสัทธิ แปลว่า ความสงบ ความสงบระงับนี้ จะเกิดขึ้นเมื่อจิตก้าวเข้าสู่ภาวะของ ปฐมฌานเป็นอย่างน้อย รัก โลภ โกรธ หลง ที่เป็นไฟใหญ่สี่กอง จะโดนอำนาจของฌานกดดับสนิท แต่เป็นการดับเพียงชั่วคราว
              ยิ่งเป็นฌานสี่แล้ว ยิ่งนิ่งสนิทชนิดที่รัก โลภ โกรธ หลง ไม่มีโอกาสที่จะเกิดได้เลย ยกเว้นจะคลายสมาธิออกมา ทำให้คนเข้าใจว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ไปแล้ว เพราะไม่มีรัก โลภ โกรธ หลง เหลืออยู่เลย ทำให้ไม่ก้าวหน้าในการปฏิบัติ
              ๔. อธิโมกข์ แปลว่า น้อมใจเชื่อ พอกำลังใจเริ่มเป็นทาน เริ่มเป็นสมาธิ เริ่มเห็นคุณความดีในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เริ่มเห็นคุณความดีของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จิตใจก็จะน้อมเชื่อ แบบปราศจากปัญญาประกอบ
              ถ้าหากว่าเป็นอธิโมกขศรัทธา เชื่อโดยไม่มีปัญญาประกอบ บางทีก็อาจจะโดนพาหลงไปได้ง่าย ยิ่งถ้ามีทิพจักขุญาณอยู่ด้วย โดนชักนำโดย เทวปุตตมารก็ดี โดย กิเลสมารก็ดี จะคิดว่าตัวเองได้ดีแล้ว ได้มรรคได้ผลแล้ว ทั้ง ๆ ที่มันเป็นแค่ตัวศรัทธาเบื้องต้นเท่านั้น
              ๕. ปัคคาหะ แปลว่า มีความเพียรมาก บางคนเดินจงกรมกันข้ามวันข้ามคืน นั่งสมาธิกันข้ามวันข้ามคืน แล้วไปคิดว่า สิ่งที่ตัวเองทำได้มากนั้นคือมรรคผล อันนี้ก็เป็นการเข้าใจผิดอย่างยิ่ง
              นั่นเป็นแค่การปรารภความเพียรของเรา ซึ่งบางทีก็ ประกอบไปด้วยกำลังของฌานสมาบัติ อารมณ์ใจทรงตัว ทำให้ไม่อิ่ม ไม่เบื่อไม่หน่ายในการปฏิบัติ บางรายทุ่มเทไม่กินไม่นอนเลยเป็นเวลาหลาย ๆ วันก็มี
              โอกาสที่ ร่างกายทนไม่ไหว ประสาทร่างกายรับไม่ได้ ถึงเวลาจะเกิดอาการที่เรียกว่า สติแตก หรือ กรรมฐานแตก ก็มีมาก เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ต้องคอยระมัดระวังให้ดี
              ๖. สุข แปลว่า ความสุข เป็นความสุขเยือกเย็นจนบอกไม่ถูก พอกำลังใจเริ่มเข้าสู่เขตของฌาน สุขกับเอกัคตารมณ์ ที่เป็นอารมณ์ของฌานนั้น ต่างกันเพียงนิดเดียวเท่านั้นเอง ถ้าจิตไม่ละเอียดจริงๆ แยกมันไม่ออกซะด้วยซ้ำไป
              ความสุขของคนกำลังที่ทรงฌานนั้น มันสุขเยือกเย็นอย่างบอกไม่ถูก อย่างที่กล่าวแล้วว่า รัก โลภ โกรธ หลง ที่เป็นไฟเผาเราอยู่ โดนกดดับไป ความสุขเยือกเย็นนั้นอธิบายเป็นคำพูดไม่ได้ ทำให้เราหลายคนเข้าใจว่า ความสุขนี้คือมรรคผลที่เราต้องการ อันนั้นไม่ใช่ นี่เป็นแค่ความสุขในโลกียฌานเท่านั้น
              ๗. ญาณ แปลว่า เครื่องรู้ มีความรู้ต่าง ๆ เกิดขึ้น จากอำนาจของทิพจักขุญาณ สามารถเห็นผี เห็นเทวดา เห็นนรก เห็นสวรรค์ได้ ก็ไปคิดว่านั่นเป็นมรรค เป็นผลแล้ว ความจริงญาณเป็นเครื่องมือสำหรับยืนยันคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น
              คือเครื่องรู้ที่เกิดขึ้นจะช่วยยืนยันได้ว่า นรกมี เปรตมี อสุรกายมี เทวดามี มารมี พรหมมี พระนิพพานมี แต่เราไปคิดว่าได้มรรคผลแล้ว ทำให้เราติดอยู่แค่นั้น ไม่สามารถจะก้าวข้ามไปสู่ความดีที่สูงกว่านั้นได้
              ๘. อุเบกขา แปลว่า ความวางเฉย กำลังใจปล่อยวาง ตั้งมั่น ไม่ยุ่งกับใครเลย รัก โลภ โกรธ หลง อะไรมากระทบก็ตาม เฉยอย่างเดียว ก็ทำให้คนเข้าใจผิดอีกเช่นกัน ว่านี่ได้มรรคได้ผลแล้ว
              ความจริงอุเบกขาแบบนั้น เป็นกำลังของ โลกียฌานเท่านั้น ถ้าหากว่าเป็นกำลังของ โลกุตตระ คือเข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้าจริง ๆ มันจะเป็น สังขารุเปกขาญาณ คือ การปล่อยวางเพราะพิจารณาเห็นจริงแล้ว สภาพจิตยอมรับมันว่ามีธรรมดาเป็นอย่างนั้น
              ถ้าหากว่ากระทบอะไรก็เฉย อันนั้นให้ระวังเอาไว้ ต้องสังเกตอารมณ์ใจตัวเอง ว่า ยังมีความหนักแน่นอยู่หรือเปล่า ? ถ้าหากว่ามีความหนักแน่นอยู่ นั่นเป็นกำลังของฌานเท่านั้น
              ถ้าหากว่าปล่อยวางได้แบบสบาย ๆ ไม่ต้องเสียเวลาไปกด ไม่ต้องเสีย เวลาไปบังคับมัน อันนั้นถึงจะเป็นความดีที่แท้จริง แต่ว่าอาจจะเป็นความดีขั้นต้น ๆ ก็ได้ ต้องระมัดระวังอยู่เสมอ
              ๙. อุปัฎฐาน แปลว่า จิตใจมีความตั้งมั่น คือ มันทรงตัวแน่วแน่ ด้วยกำลังของสมาธิ ไม่ว่าจะยุงกิน ริ้นกัด อะไรมากระทบ เสียงได้ยิน จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายสัมผัสอะไรก็ตาม จิตใจมันตั้งมั่น ทรงตัว ไม่วอกแวก ไม่ไปปรุง ไม่ไปแต่งกับมัน ก็ทำให้คนเข้าใจว่าได้มรรคได้ผลแล้วเช่นกัน ความจริงก็ไม่ใช่อีก
              ๑๐. นิกกันติ แปลว่า มีความใคร่น้อย คือความอยากได้ใคร่ดีอะไรต่าง ๆ มันไม่มี หรือมีน้อยมาก อะไร ๆ ที่มากระทบ ที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ได้รส ที่สัมผัสก็ตาม มันไม่ได้อยากได้ใคร่ดีอะไรเลย อารมณ์กามราคะนิ่งสนิทแทบจะไม่ปรากฏ
              ตรงนี้ต้องระมัดระวังให้ดี เพราะว่าตัวนี้มันก็คล้ายๆ กับตัวความสงบเช่นกัน เพราะว่าจิตเป็นฌานสมาบัติ เวลามีสิ่งที่มากระทบ มันสร้างความสะเทือนใจให้กับเราไม่ได้ ในเมื่อมันไม่สามารถจะสร้างความหวั่นไหวให้กับเรา ก็ทำให้เราเข้าใจว่า เราได้มรรคได้ผลแล้ว
              อุปกิเลส แปลว่า ใกล้กิเลส คือ จวนจะเป็นกิเลสอื่น ถ้าเรามีสติ มีสัมปชัญญะ มีปัญญาประกอบ เป็นผู้ไม่ประมาทอยู่เสมอ อุปกิเลสก็จะเป็นแค่อุปกิเลสเท่านั้น แต่ถ้าเราไปคล้อยตามมัน คิดว่าตัวเองได้มรรคได้ผลแล้ว อันนั้นจะเป็นกิเลสทันที
              เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ต้องระมัดระวังให้ดี เมื่อมันเกิดขึ้น ให้มีสติรู้เท่าทันว่า มันเป็นแค่อุปกิเลสเท่านั้น ไม่อย่างนั้น ถ้าโดนมันชักมันจูง น้อมใจตามไป คิดว่าตัวเองได้มรรคได้ผลแล้ว ก็จะพาให้เสียการปฏิบัติ
              ยิ่งถ้ากำลังใจลดลง กิเลสเกิดขึ้นมาใหม่ รัก โลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นมาใหม่ ก็จะเกิดอาการจิตตก กำลังใจตก สมาธิตก เพราะคิดว่าตัวเองชั่วเสียแล้ว บางคนทนไม่ได้ สติแตกเตลิดเปิดเปิงไปเลยก็มี
              สำหรับวันนี้ จะกล่าวถึงกรรมฐาน ๔ กองสุดท้าย เราได้เรียนมาแล้ว ๓๖ กอง คือ อนุสติ ๑๐ กสิณ ๑๐ อสุภกรรมฐาน ๑๐ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตุววัฎฐาน ๑ และพรหมวิหาร ๔ รวมเป็น ๓๖ กอง
              วันนี้จะกล่าวถึง ๔ กองสุดท้าย คือ อรูปฌาน ๔ อรูปฌานทั้ง ๔ นี้ จริง ๆ แล้ว เป็นเรื่องยาก แต่ว่าควรจะศึกษาเอาไว้ เมื่อถึงวาระที่กำลังมันเพียงพอ เราจะได้มีแนวทางปฏิบัติได้ง่าย
              เรื่องของอรูปฌานทั้ง ๔ กองนี้ เราต้องมีพื้นฐานมาจากกสิณ ๑๐ เมื่อได้กสิณทั้ง ๑๐ กองแล้ว เอากสิณ ๙ กอง คือ ปฐวีกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ อาโปกสิณ โลหิตกสิณ ปีตกสิณ โอทาตกสิณ นีลกสิณ และ อาโลกกสิณ
              ทั้ง ๙ กองนี้ กองใดกองหนึ่ง ยกขึ้นมาเป็นนิมิต เว้นไว้เสียแต่ อากาสกสิณ เพราะว่าอากาสกสิณเป็นการจับความว่างอยู่แล้ว ลักษณะมันคล้ายคลึงกัน ถึงไม่สามารถนำมาใช้กับอรูปฌานทั้ง ๔ ได้
              การปฏิบัติในอรูปฌานนั้น เราต้องทำกสิณได้คล่องตัว แล้วตั้งนิมิตของกสิณขึ้นมา เมื่ออารมณ์ใจทรงตัวเต็มที่แล้ว ผู้ที่ปฏิบัติในอรูปฌานจะมีอารมณ์คิดด้วยว่า
              ความทุกข์ทั้งหลายก็ดี สิ่งต่างๆที่มากระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สร้างความทุกข์ให้แก่เราก็ดี มันมีพื้นฐานมาจากร่างกายนี้คือรูปนี้ทั้งสิ้น
              ดังนั้น ท่านทั้งหลายเหล่านี้ จะตั้งความปรารถนาไว้ว่า เราไม่ต้องการร่างกายนี้อีกเราไม่ต้องการมีรูปนี้อีก เพราะมีเมื่อไหร่ก็ลำบากกับมันเมื่อนั้น จากนั้นก็กำหนดกำลัง ใจให้คิดถึงความว่างของอากาศแทน
              ในเมื่อจิตไม่ต้องการรูป ก็อธิษฐานขอให้ภาพกสิณนี้หายไป ให้ความว่างไร้ขอบเขตของอากาศปรากฏขึ้นแทน แล้วใช้คำภาวนาว่า อากาสา อนันตา..อากาสา อนันตา ว่าไปเรื่อย ๆ จนกำลังทรงเต็มที่ คือ เท่ากับฌานสี่
              สำหรับอรูปฌานแรกนี้ นิมิตจะปรากฏเป็นอากาศที่กว้างขวางไม่มีที่สิ้นสุด สามารถย่อให้เล็กได้ ขยายให้ใหญ่ได้เช่นกัน ถ้าหากว่าทำได้ดังนี้แล้ว ก็ชื่อว่า ได้อรูปฌานที่หนึ่ง คือ อากาสานัญจายตนฌาน
              เราก็ทำอรูปฌานที่สองต่อไป ให้ตั้งภาพกสิณขึ้นมา แล้วกำหนดถึงความไม่มีขอบเขตของอากาศ จนกระทั่งอารมณ์ใจทรงตัวแล้ว จากนั้นใช้อารมณ์คิดต่อไปว่า ถึงแม้ว่าอากาศนั้นจะกว้างขวางไม่มีที่สิ้นสุด แต่ยังมีวิญญาณ(สภาพจิตที่รับรู้ของเรา) สามารถกำหนดมันได้อยู่
              ดังนั้น แม้ว่าเราไม่มีกายแล้ว แต่ถ้ายังมีจิต คือ วิญญาณในการรับรู้นี้ มันก็ยังสามารถรู้สุข รู้ทุกข์ได้ ดังนั้น เราไม่ต้องการแม้แต่วิญญาณนี้ แล้วภาวนาว่า วิญญาณัง อนันตัง..วิญญาณัง อนันตัง
              จับความไม่มีขอบเขตของวิญญาณ คือ ความไม่ปรารถนาแม้แต่ร่างกายนี้ แม้แต่จิตนี้ไปเรื่อย พร้อมกับคำภาวนา จนทรงตัวเป็นฌานสี่เต็มที่ของมัน ก็ได้ชื่อว่าเราปฏิบัติใน วิญญาณัญจายตนฌาน เป็นอรูปฌานที่สองได้
              หลังจากนั้น ก็ให้ปฏิบัติในอรูปฌานที่สามต่อไป คือ ตั้งภาพกสิณขึ้นมาเช่นเดิม แล้วทิ้งภาพนั้นเสีย พิจารณาต่อว่า การมีรูปนี้ก็ดี การมีจิตวิญญาณนี้ก็ดี มันก็ล้วนแต่เป็นตัวพาให้ทุกข์ พาให้ลำบากทั้งสิ้น ความจริงแล้วทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่มีอะไรทรงตัวอยู่ได้
              แม้แต่ภาพกสิณที่เราตั้งขึ้นมา มันก็ทรงตัวไม่ได้ เพราะว่าเราต้องเพิกมันทิ้งเสีย ไปจับความไม่มีอะไรทรงตัวเหลืออยู่ ทุกสิ่งทุกอย่างในที่สุดมันก็สลาย ก็ตาย ก็พังไปทั้งสิ้น คน สัตว์ วัตถุธาตุ สิ่งของ บ้านเรือนโรง ภูเขา อะไรก็ตาม
              ในที่สุดมันก็สลายลง ไม่มีแม้แต่นิดเดียวจะหลงเหลืออยู่ได้ แล้วจับคำภาวนาว่า นัตถิ กิญจิ..นัตถิ กิญจิ กำหนดใจว่าไม่มีอะไรเหลืออยู่แม้แต่น้อยหนึ่ง จนอารมณ์ใจทรงเป็นฌานสี่เต็มที่ ก็ชื่อว่าเราทำอรูปฌานที่ ๓ คือ อากิญจัญญายตนฌานไ ด้แล้ว
              เมื่อได้อรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ แล้ว ก็ให้ทำอรูปฌานที่ ๔ ก็คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน อันนี้จะจับยากอยู่ซักนิดหนึ่ง เพราะว่ามีสัญญา (ความรู้ได้หมายจำ) ทำเป็นเหมือนคนไม่มีสัญญา
              เห็นก็ทำเป็นไม่เห็น ได้ยินก็ทำเป็นไม่ได้ยิน ได้กลิ่นก็ทำเป็นไม่ได้กลิ่น ได้รสก็ทำเป็นไม่ได้รส สัมผัสก็ทำเป็นไม่ได้สัมผัส มันร้อนถ้าหากว่าป้องกันได้ ก็ป้องกันให้มัน ถ้าป้องกันไม่ได้ มันอยากร้อนก็เรื่องของมัน
              มันหนาวถ้าป้องกันได้ ก็ป้องกันให้มัน ถ้ามันป้องกันไม่ได้ ก็เรื่องของมัน มันหิวถ้ามีให้มันกินก็กิน ถ้าไม่มีให้มันกินก็เรื่องของมัน มันกระหายถ้ามีให้มันดื่มก็หาให้มันดื่ม ถ้าไม่มีก็เรื่องของมัน
              ทำตัวเหมือนคนไม่มีสัญญา กระทบอะไรก็อยู่แต่ในกำลังของสมาธิ กำลังของฌานอย่างเดียว เมื่อตั้งภาพกสิณขึ้นมาแล้ว เพิกภาพนั้นหายไป จับอยู่ในอารมณ์ของการมีสัญญา เหมือนกับไม่มีสัญญา จนกำลังใจทรงตัวเป็นฌานสี่เต็มที่ ก็ชื่อว่าเราทำอรูปฌานที่ ๔ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌานได้แล้ว
              จากนั้นให้พยายาม สลับการเข้าฌานไปมาให้คล่องตัว เป็นอรูปฌานที่ ๑ อรูปฌานที่ ๔ อรูปฌานที่ ๒ อรูปฌานที่ ๓ หรือว่า ๑ ๒ ๓ ๔ แล้ว ๔ ๓ ๒ ๑ สลับเข้าสลับออกอย่างนี้จนเคยชิน กำลังของอรูปฌานนี้มีอานุภาพมาก มีกำลังสูงมาก
              โดยเฉพาะ มีอารมณ์คิดที่ใกล้เคียงวิปัสสนาญาณมาก โบราณาจารย์จึงได้กล่าวว่า ถ้าใครได้อรูปฌานแล้วเจริญวิปัสสนาญาณต่อ แค่ชั่วเคี้ยวหมากแหลกเดียวก็เป็นพระอรหันต์ไปแล้ว
              ตอนนี้พวกท่านไม่สามารถทำให้เต็มที่ได้ ก็ ลองฝึกลองซ้อมดูก่อน เพื่อจะได้เป็นแนวทางที่เราเข้าถึงไว้ เมื่อถึงเวลาที่เราทรงฌานสมาบัติได้เต็มที่ เราก็มาฝึกปรือของเราต่อไป เพื่อให้เข้าถึงที่สุดของมัน
              กำลังของอรูปฌานนี้เนื่องจากว่ามีพื้นฐานมาจากกสิณแล้ว มีความคล่องตัวมาจากกสิณแล้ว ดังนั้น ถ้าหากว่าก้าวเข้าถึงความเป็นอริยเจ้า ตั้งแต่พระอนาคามีขึ้นไป ก็จะเกิดเป็นปฏิสัมภิทาญาณขึ้น คือ มีความสามารถครอบคลุมทั้งสุขวิปัสสโก วิชชาสาม อภิญญาหก
              ผู้ที่ได้ฤทธิ์ได้อภิญญาทำอะไรได้ ผู้ได้ปฏิสัมภิทาญาณก็ทำได้ และมีความคล่องตัวกว่า ทั้งยังมีความสามารถพิเศษก็คือ
              ๑.อัตถปฏิสัมภิทา มีความสามารถรู้ธรรมะได้ลึกซึ้ง ครบถ้วนบริบูรณ์ รู้ทุกเนื้อหาอย่างเข้าถึงแก่น แจกแจงได้ละเอียดลออครบถ้วน
              ๒.ธัมมาปฏิสัมภิทา มีความเข้าใจธรรมะอย่างทั่วถึง ว่าแต่ละหัวข้อมีที่มาที่ไปอย่างไร ชี้แจงเหตุผลได้อย่างแจ่มแจ้ง
              ๓.ปฏิภาณปฏิสัมภิทา มีความคล่องแคล่ว สามารถอธิบายเรื่องราวทุกอย่างได้ชัดเจน จะโดยย่อก็ดี โดยพิสดารก็ดี อย่างละเอียดลึกซึ้งก็ดี หรือว่าโดยสั้น ๆ ก็ดี อธิบายได้ถูกต้องแจ่มแจ้ง โดยไม่เสียใจความและไม่เยิ่นเย้อ
              ๔.นิรุตติปฏิสัมภิทา คือ สามารถรู้ทุกภาษา ไม่ว่าจะภาษาคน ภาษาสัตว์ ภาษาดวงดาวไหน ภาษาของภพไหน ภูมิไหน จะมีความเข้าใจทั้งหมด
              อย่าลืมว่าอานุภาพของปฏิสัมภิทาญาณสี่นั้น กว้างขวางมาก สูงมาก ดังนั้น ถึงแม้ท่านจะทำอรูปฌานได้คล่องแล้ว ถ้ายังไม่เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า ตั้งแต่อนาคามีขึ้นไป ปฏิสัมภิทาญาณทั้งสี่ก็จะไม่ปรากฏแก่ท่าน
              ดังนั้น จึงให้เราศึกษาแนวทางเอาไว้ ถึงเวลาจะได้ลองทำดู จะได้ปฏิบัติดู ที่กล่าวมานี้ เพราะว่าจริตนิสัยของคนแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน บางทีพื้นฐานของท่าน อาจจะมีของเก่ามาแล้ว ในกรรมฐานกองใดกองหนึ่ง ถึงได้ต้องกล่าวตั้งแต่อานาปานุสติกรรมฐานขึ้นมา จนกระทั่งอรูปฌาน ๔ รวมแล้ว ๔๐ กองครบถ้วน
              เพื่อที่เราชอบใจกองไหน จะได้ใช้กองนั้น แต่อย่าลืม ว่า ถ้าเราทำกรรมฐานกองไหนได้แล้ว ถึงเวลาเราจะก้าวขึ้นกองต่อไป ต้องทบทวนของเก่าให้มีความคล่อง ตัวอยู่เสมอ ให้ได้เต็มที่เท่าที่เราทำได้ แล้วค่อยขยับไปกองต่อไป หรือว่าถ้าเราถนัดกองใดกองหนึ่ง จับเฉพาะกองใดกองหนึ่ง ทำให้ได้มรรคให้ได้ผลไปเลย ก็จะเป็นเรื่องที่วิเศษยิ่ง
              ความจริงในการปฏิบัตินั้น ถ้ามีความคล่องตัวแล้ว เราสามารถที่จะประยุกต์กรรมฐานหลาย ๆ กองเข้าด้วยกัน จนเป็นระบบการปฏิบัติเฉพาะตัวของเราเอง อย่างที่ผมสอน พวกท่านไปในตอนแรก ๆ
              ถ้ารู้จักพิจารณาแยกแยะ จะเห็นว่ากรรมฐานเกือบทั้ง ๔๐ กอง จะรวมอยู่ในนั้นทั้งหมดแล้ว เพียงแต่ท่านจะแยกมันออกหรือไม่เท่านั้น ความจริงแล้ว กรรมฐานกองใดกองหนึ่ง เมื่อเราทำจริง ๆ ก็เข้าถึงที่สุดได้ทั้งสิ้น
              แต่เนื่องจากว่าสายครูบาอาจารย์ของเรา หลวงปู่ปานก็ดี หลวงพ่อวัดท่าซุงก็ดี ท่านศึกษามาในกรรมฐาน ๔๐ และทำได้คล่องตัวทุกกอง เมื่อตกทอดมาถึงยุคของพวกเรา ก็ ควรที่จะเลียนแบบปฏิปทาของครูบาอาจารย์ไว้
              เราศึกษากรรมฐาน ๔๐ เอาให้ได้มากกองที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อว่า ถึงเวลาไปพบกับหลักการปฏิบัติแนวอื่น เราจะได้รู้ว่ามาจากกรรมฐานกองไหน จะได้ไม่ต้องไปปฏิเสธเขาว่าอันนี้ใช้ไม่ได้ เพราะว่าหลักการปฏิบัติทั้งหมด ล้วนแล้วแต่อยู่ในกรรมฐาน ๔๐ และมหาสติปัฏฐานสูตรทั้งสิ้น เพียงแต่จะยกจุดไหนขึ้นมาเท่านั้น
              ธรรมะเฉพาะของแต่ละสายไม่มี ธรรมะเฉพาะของแต่ละครูบาอาจารย์ไม่มี ธรรมะทั้งหลายทั้งปวงล้วนแล้วแต่เป็นของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น พระองค์ท่านรู้แจ้งเห็นจริงแล้ว ถึงได้นำมาสั่งสอนสืบต่อ ๆ กันมา
              เพียงแต่ว่า ครูบาอาจารย์ท่านใดถนัดแบบไหน ท่านก็นำแบบนั้นมาสอน แล้วทำให้ลูกศิษย์ไปเที่ยวแยกว่า เป็นสายนั้น เป็นสายนี้ ความจริงก็สายพระพุทธเจ้าทั้งหมดนั้นเอง
              เราทำไม่ได้คล่องตัวทั้ง ๔๐ กอง เอากองใดกองหนึ่งเป็นหลัก แล้วพิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยงของร่างกายนี้ว่า มันเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง สลายตัวไปในที่สุด
              ในขณะที่ดำรงชีวิตอยู่ก็มีแต่ความทุกข์ เกิดอีกเมื่อไหร่ก็ต้องทุกข์อย่างนี้อีก ไม่มีอะไรเป็นเราเป็นของเราให้ยึดถือมั่นหมายได้ ตัวเราก็ดี คนที่เรารักก็ดี ของที่เรารักก็ดี ทรัพย์สมบัติทั้งหมดก็ดี ในที่สุดก็เสื่อมสลายตายพังไปทั้งสิ้น
              ดังนั้น เราควรที่จะเอาจิตเกาะพระ เกาะนิพพานให้เป็นปกติ เมื่อถึงเวลาเราตายแล้วไปนิพพาน จะได้พ้นจากการเกิดมาทุกข์แบบนี้ กำลังใจในทุกวันของเรา ให้ทรงตัวอย่างนี้ เมื่อทำกรรมฐานกองใดกองหนึ่งแล้ว ให้พิจารณาวิปัสสนาญาณต่อเนื่อง เพื่อเข้าถึงมรรคเข้าถึงผล จึงชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติที่แท้จริง
              ตั้งแต่กล่าวมาข้างต้นจนบัดนี้ ที่เป็นกรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง สมัยที่ผมเองทำอยู่ ครูบาอาจารย์ท่านไม่ได้มาจี้ มาสอนลักษณะอย่างนี้ ท่านบอกว่าเทปมี หนังสือมี ไปศึกษาเอา ไปทำเอา ติดขัดตรงไหนแล้วค่อยมาถาม
              แต่เนื่องจากว่าพวกท่านทั้งหมด ต้องการในลักษณะที่มีผู้ชักนำบ้าง เพื่อความทรงตัวได้ง่ายของอารมณ์ และอีกอย่างคือ กล่าวเอาไว้เพื่อเป็นแบบแผนให้กับคนที่ฝึกปฏิบัติต่อไป จะได้มีแนวทางไว้
              ได้นำกรรมฐานทั้ง ๔๐ กองมากล่าวโดยครบถ้วนแล้ว ก็คิดว่า นี่เป็นครั้งสุดท้ายในการที่จะมานำการปฏิบัติกัน ต่อไปท่านก็นำเอาแบบนี้ไปฝึกไปซ้อม ไปปฏิบัติ ติดขัดตรงไหนก็มาสอบถาม ผมจะชี้แจงให้ฟัง ว่าขั้นต่อไปของมันเป็นอย่างไร สำหรับตอนนี้ก็ให้รักษากำลังใจของเราให้ทรงตัวเอาไว้ เพื่อที่จะได้ทำวัตร สวดมนต์ของเราต่อไป

พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
วันจันทร์ที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗


ถวายไทยธรรมวันเกิดหลวงพ่อสมเด็จวัดสระเกศ