ถาม :  เวลาที่ผมป่วย (ฟังไม่ชัด)
      ตอบ :  เริ่มเข้าถูกทางแล้ว (หัวเราะ) ธรรมดาของการเกิด เป็นทุกข์อย่างนี้ ธรรมดาของการเจ็บไข้ได้ป่วยบีบคั้นอย่างนี้ สาเหตุที่แท้จริงของมันก็คือ เกิดมามีร่างกายนี้ ขึ้นชื่อว่าเกิดมามีร่างกายเ่ช่นนี้อย่ามีอีกเลย ไปนิพพานดีกว่า หลุดง่ายนิดเดียว
      ถาม :  ....................
      ตอบ :  ตรงจุดที่่ว่าพระเทวทัตโดนธรณีสูบ ท่านมาแล้วจะเกิดสังฆเภทขึ้น มีคนเขาสงสัยมากว่าพระพุทธเจ้าเป็นสัพพัญญูรู้อยู่ว่า เพราะเทวทัตเข้ามาแล้วจะเกิดเหตุอย่างนี้แล้วทำไมถึงไม่ป้องกัน ปัญหานี้ น่าคิดมั้ย ? ไอ้พวกปัญญามากน่ะ เขาคิดกัน (หัวเราะ) จริง ๆ แล้ว คือว่า พระเทวทัตนี่ เขาอธิษฐานจองเวรพระพุทธเจ้ามาจนนับชาติไม่ได้แล้ว ประเภทกอบทรายขึ้นมาบอกว่าจะตามจองล้างจองผลาญพระพุทธเจ้าเท่าจำนวนเม็ดทรายในกอบนี้ พระพุทธเจ้ารู้อยู่ว่าพระเทวทัตมา แล้วถ้าหากว่าเข้ามาในพระพุทธศาสนาให้ปั่นป่วน จะทำให้เกิดสังฆเภท คือยุสงฆ์ให้แตกกัน
              แต่ว่าท่านก็รับเข้ามาเพราะว่าในขั้นต้นเมื่อฝึกให้ท่านทรงความดีได้ระดับหนึ่ง มันก็เหมือนกับว่าตุนต้นทุนฝ่ายดีเข้าไว้ส่วนหนึ่ง พอถึงเวลาถึงท่านจะเข้ามาหรือไม่เข้ามา ความชั่วชนิดนี้ท่านทำแน่ ๆ ได้ตุนความดีเข้ามาฝ่ายหนึ่งมันก็เลยบรรเทาลง กลายเป็นว่าแทนที่จะลงอเวจีเป็นกัปก็ลงแค่ห้าพันปีท่านก็จะพ้นขึ้นมา ถ้าไม่ได้กุศลตัวนี้ช่วยท่านก็จมหนักไปเลย
      ถาม :  ก็แค่ห้าพันปีก็ไม่นาน
      ตอบ :  โห ! .....ไม่นาน คือไม่นานสำหรับอเวจี แต่ถ้าเปรียบกับเราถือว่านานจังเลย
      ถาม :  คือถ้าเทียบเป็นกัปน่ะ นานมาก
      ตอบ :  ตรงจุดนี้แหละคือของท่านเอง ท่านคิดในด้านสงเคราะห์อย่างเดียว มีโอกาสช่วยให้เขาดีเท่าไหร่ก็ต้องช่วยไว้ก่อน แล้วหลังจากนั้นเขาจะทำอะไร ก็ถือว่าเป็นกรรมของเขาเอง เพราะฉะนั้นคนจำนวนมากเลยไอ้พวกช่างคิด เขาจะคิดกัน ว่าพระพุทธเจ้ารู้อยู่แล้ว ทำไมถึงไม่ป้องกันเอาไว้ก่อน
      ถาม :  อย่างนี้ขอขมา ไม่ได้ไปกล่าวขอขมาต่อหน้าพระพุทธเจ้าแล้วก็สมัยเรานี้ไปทำพลาด
      ตอบ :  เราขอขมาหน้าหิ้งพระได้ คือว่าในสมัยนั้นท่านตั้งใจจะไป ยังไปไม่ถึง ถ้าหากว่าท่านกล่าวขอขมาตรงนั้นเลย คงเบาไปเยอะแล้ว แล้วอีกอย่างหนึ่งว่าในสมัยนั้นพระพุทธเจ้าทรงพระชมม์ชีพอยู่ ใคร ๆ ก็ยึดพระพุทธเจ้าเป็นหลัก ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้วต้องไปให้ถึง
      ถาม :  แล้วคำว่าอัพยกฤต นี่หมายความว่ายังไงครับ ?
      ตอบอัพยกฤต ก็คือความเป็นกลางอย่างยิ่ง หมายถึงอารมณ์ใจที่ไม่รับทั้งสุขทั้งทุกข์ อยู่ตรงกลางไปเลย
      ถาม :  อย่างปุถุชน ทำได้มั้ยครับ ?
      ตอบ :  ได้ มันได้แบบปุถุชน พระโสดาบันได้แบบพระโสดาบัน พระสกิทาคามีได้แบบพระสกิทาคามี พระอรหันต์ได้แบบพระอรหันต์ คือว่า มันมีสิทธิทำกันได้ทุกคน แต่ว่าความสูงต่ำ แล้วแต่อารมณ์ตัวเอง ว่าจะได้ขนาดไหน
      ถาม :  ความเป็นกลางหรือคะ ?
      ตอบ :  จ้ะ อารมณ์ที่เป็นกลาง ถ้าหากว่าจะเปรียบไปแล้วก็คือว่า พ้นดีพ้นชั่วน่ะ อยู่ตรงกลางเป๊ะเลย
      ถาม :  พ้นดีของปุถุชนนี่เป็นไงครับ ?
      ตอบ :  ก็บางทีของท่านน่ะ อารมณ์ใจบางช่วงมันจะไม่เกาะทั้งดี ทั้งชั่ว เป็นอารมณ์ที่ปล่อยวางลงล็อกพอดี แต่ว่่ายังเป็นแบบปุถุชนอยู่ แต่ว่าถ้าเป็นแบบพระอริยเจ้านี่ ท่านจะปล่อยวางด้วยปัญญาของท่าน ระดับที่ไม่เท่ากัน ของปุถุชนนี่อาจเป็นความบังเอิญ แต่พระอริยเจ้านี่เป็นของแท้แน่นอนไม่ใช่บังเอิญ
      ถาม :  อย่างพระนี่ตัดสังโยชน์ข้อสี่ที่เข้ามาเนี่ย จะทำยังไง จะต้องพ้นอย่างไร ?
      ตอบ :  อันดับแรกพยายามแยกก่อนว่า รัก โลภ โกรธ หลง เป็นสมบัติของร่างกาย ไม่ใช่สมบัติของเรา ในเมื่อเป็นสมบัติของร่างกาย ธรรมดาของมัน อารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้ต้องมีอยู่แล้ว ในเมื่อต้องมีอยู่แล้ว อยากมีก็มีไปเถิด เราไม่สนใจเจ้าหรอก อย่าไปให้ความสนใจกับมัน มันเกิดอะไรขึ้นก็อย่าไปนึกคิดปรุงแต่งเพิ่มเติม ตาเห็นก็สักแต่ว่าเห็น มันไม่ต้องคิดต่อว่ารวยว่าสวย หูได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน ไม่ต้องไปคิดต่อว่าเพราะหรือไม่เพราะ จมูกได้กลิ่นไม่ต้องไปสนใจ ว่ามันจะหอมหรือมันจะเหม็น มันจะชอบหรือไม่ชอบ ลิ้นรับรสก็สักแต่ได้รส มันจะอร่อยหรือไม่อร่อยก็ช่างมัน กายสัมผัสก็สักแต่ว่าสัมผัส จะเย็นร้อนอ่อนแข็งชอบใจหรือว่าไม่ชอบใจอย่างไรเรื่องของมัน กั้นมันเอาไว้อย่าให้มันเข้ามาในใจ
              คราวนี้ตรงสติและปัญญาที่จะรู้เท่าทัน ที่จะกั้นมันไม่ให้เข้ามาอยู่ในใจนี่แหละสำคัญที่สุด ต้องรู้ให้ทันมัน ถ้าหากว่าตัวนี้ทำได้ก็สบายเลย แยกมันออกให้ได้ว่าจิตกับกาย มันคนละเรื่องกัน เพราะฉะนั้นเรื่องของกายมันอยากจะเป็นก็ให้มันเป็นไป จิตเราไม่ไปปรุงแต่งกับมัน พอเราไม่ไปสนับสนุนมัน มันไม่มีกำลังพอ มันก็จะเฉาจะตายของมันเอง สักแต่ว่ารู้
      ถาม :  ถึงแม้ว่าจะได้ยิน จะได้เห็น อะไรก็ตาม
      ตอบ :  ถ้าเราไปปรุงแต่งเมื่อไหร่ มันจะมีแรงมีกำลังขึ้นมา ถ้าเราไม่ปรุงไม่แต่ง ไม่ยุ่งกับมัน ก็ตายในเวลาอันใกล้
      ถาม :  ที่มันทุกข์เพราะการปรุงแต่งใช่มั้ย ?
      ตอบ :  ใช่ ทุกอย่าง ถึงได้บอกว่าคนเราทุกข์เพราะความคิดตัวเอง ไอ้ตัวปรุงแต่งก็คือจิตสังขาร ก็คือความคิดแท้ ๆ เลย ฟังแล้วไม่ยาก (หัวเราะ) ทำจ้ะ ทำ อย่าท้อการเดินทางไปสู่นิพพานมันยาก เพราะว่าระยะทางนอกจากจะไกลแล้ว ยังเป็นการทวนกระแส เพราะฉะนั้นเราต้องมุ่งมั่นไม่ท้อถอย ค่อย ๆ ไปทีละนิดทีละหน่อย
              ก้าวหนึ่งก็คือ ใกล้เข้าไป ลมหายใจเข้าออกทีหนึ่ง ก็คือใกล้เข้าไปเรื่อย ถ้าเรานับมาได้ ระยะไกลเหลือเกินแล้ว เพียงแต่ว่ามันยังไม่ถึงจุดหมาย เราก็รู้สึกว่ามันเหน็ดเหนื่อยจนกระทั่งอยากจะท้อถอย แต่ถ้าลองมองไปข้างหลังดูซิ
              ถ้าสมมุติว่าเราขี่จักรยานอยู่อย่างนี้ เราอย่าไปมองคนขับรถสปอร์ต หรือขี่เครื่องบินอยู่ข้างหน้าเรา นั่นน่ะไม่ไหวหรอก เขาไปไกลแล้ว เรามองกลับไปข้างหลังดู คนที่เดินเท้าก็มี อาจขี่เกวียนก็มี อาจไม่ได้เดินเลย นั่งจุ้มปุ๊กอยู่กับที่ก็ตั้งเยอะตั้งแยะ เรามาขนาดนี้ก็น่าพอใจแล้ว แล้วถ้าหากว่ามองไปข้างหน้า ก็มองไประยะใกล้ ๆ มองจุดหมายใกล้ ๆ อย่างเช่นเราตั้งเป้าว่าเราจะละกิเลส คือสังโยชน์สามให้ได้ ก็มองแค่นี้ก่อน อย่าไปมองถึงสิบ แต่ว่าเป้าหมายของเราก็คือถึงสิบ ต้องทวนไว้บ่อย ๆ แต่ว่าตรงหน้านี่สามให้ได้ พอเรามองระยะใกล้มันก็จะเห็น ตอนนี้เรามีความก้าวหน้าแค่ไหน เราใกล้เป้าหมายเข้าไปเรื่อย เข้าไปเรื่อย
              เหมือนกับว่าเวลาเดินทางจะไปเชียงใหม่ก็ตั้งเป้าว่า เดี๋ยวแค่อยุธยาก่อน แป๊บเดียวก็ถึงอยุธยา เออ !..... ก็มีกำลังใจ ไปต่ออีกหน่อยก็อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท ไล่ขึ้นไปเรื่อยใช่มั้ย พอไปถึงนครสวรรค์ อ้าว !..... ได้ครึ่งทางแล้วใช่มั้ย มีกำลังใจ แต่ถ้าเราไปมองที่จุดหมายทีเดียว ถ้ากำลังใจไม่เข้มแข็งจริง บางทีมันท้อเหมือนกัน ท้อได้แต่ห้ามถอย เกียร์ถอยเขาถอดทิ้งไปแล้ว (หัวเราะ) ต้องขึ้นหน้าอย่างเดียว

      ถาม :  แต่ข้อสี่นี่มันจะลำบากหน่อย
      ตอบ :  ทุกคนของเรา เราอาจลำบากเพราะตัวนี้ผจญเรา แต่คนอื่นจะไปลำบากเพราะตัวอื่นน่ะ มันไม่แน่หรอก มันแล้วแต่จริตนิสัยของแต่ละคน ของใครคนนั้นก็หนักอย่างนั้น ไอ้ของเรา โอ้ย ! .... เอ็งจะโกรธไปทำไม ไม่เห็นน่าโกรธเลย เราใจเย้น เย็นใช่มั้ย ? แต่ปรากฏว่าของเขาไม่เย็นด้วยกระทบนิดหนึ่งเขาระเบิดตูมเลยอย่างนี้ มันคนละอย่างกัน อีกคนหนึ่งมันไม่ค่อยจะโกรธเลย รักก็ไม่ค่อยจะรักแต่ถือตัวเป็นบ้าเลย ใครว่าอะไรนิดหน่อยก็ไม่ได้อย่างนี้ คนละอย่างกัน
      ถาม :  คนละตัวใช่มั้ยคะ ที่ติดกันคนละตัว ?
      ตอบใครกำลังติดอยู่ตรงไหนจุดนั้นก็จะเป็นจุดหนักสำหรับเขา เพราะฉะนั้นเราเอาตัวเราเป็นบรรทัดฐานวัดความดีชั่วคนอื่นไม่ได้
      ถาม :  เราต้องเราที่ตัวเอง แก้ที่ตัวเอง
      ตอบดูที่ตัว แก้ที่ตัว ดูที่คนอื่นเมื่อไหร่ก็ผิด เพราะมันส่งใจออกนอก ดูที่ตัวเมื่อไหร่ใจมันก็ยังอยู่ข้างใน ถึงมันจะวางลงไปไม่ได้ ก็ยังควบคุมมันอยู่ภายในได้
      ถาม :  ถ้าเราปฏิบัติไปแล้ว การปฏิบัติสมาธิส่งผลถึงวันรุ่งขึ้นหรือเปล่า เมื่อเราปฏิบัติเสร็จจะต้องรู้สึกดี สดชื่น
      ตอบ :  ไม่จำเป็น เพราะว่าแต่ละวันกำลังใจของเราไม่เท่ากันนะ ร่างกายของเราถ้าหากว่ามันหิว มันเหนื่อย มันเจ็บไข้ได้ป่วย ร้อน หนาว อะไรเหล่านี้ มันจะมีผลกระทบต่อการปฏิบัติทางใจทั้งหมด แต่ว่าเราตัองรู้จักวางอุเบกขาในการปฏิบัติ คือได้มากเอามาก ได้น้อยเอาน้อย ไม่มีคำว่าขาดทุน วันนี้อาจได้เป็นหมื่นเป็นแสน พรุ่งนี้อาจเหลือเป็นสามพันห้าบาท มันก็จะเเหลือเป็นแสนหนึ่งกับห้าบาท แสนหนึ่งกับสามบาท เป็นต้น ต้องรู้จักพอใจแค่นั้น ถ้าเราไม่พอใจ ประเภทไปเร่งมาก ๆ ขณะที่นี่เร่งไม่ขึ้น เดี๋ยวมันจะเครียด พอเครียดแล้วผลมันจะเสียยาวไปเลย
              เพราะฉะนั้นแต่ละวันมันจะไม่เท่ากันหรอก วันนี้อาจประเภทใจเย้นใจเย็น ยิ้มให้กับหมู หมา กา ไก่ ได้ พรุ่งอาจเอะอะ เอ็ดตะโรวิ่งไล่เตะไปทั้งสำนักงานก็ได้ เป็นไปได้ทั้งนั้น แต่ว่าในแต่ละวันยี่สิบสี่ชั่วโมง อย่าให้มันขาดทุนเยอะ ให้มันอยู่ในส่วนของความดีอยู่บ้าง ถ้ามันเคยชั่วอยู่ยี่สิบสี่ชั่วโมง ก็เอาสักยี่สิบสามชั่วโมง ให้มันมีเวลาดีอยู่บ้าง ถือว่ากำไรแล้ว แล้วถ้ายิ่งทำได้มากเท่าไหร่มันก็กำไรมากเท่านั้น
      ถาม :  ........................
      ตอบ :  เขาว่าวันนั้นนี่สวรรค์ร้างเลยนะ ข้างบนนี่เทวดาที่เป็นผู้ใหญ่นี่ไม่เหลือเลย เขาเชิญไปหมด คนที่สามารถทำขนาดนั้นได้ จะต้องรู้จักเทวดาอย่างชนิดลึกซึ้งยังไม่เพียงพอนะ ยังต้องเป็นที่เกรงใจอย่างยิ่งด้วยเพราะฉะนั้น ไม่เจ๋งจริงทำอย่างนั้นไม่ได้หรอก ชนิดไปจนสวรรค์ร้างนี่เห็นชัด ๆ ก็ตอนที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สมเด็จองค์ปฐมไง
              ตอนที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุสมเด็จพระองค์ปฐมนี่ขนาดพระอรหันต์ยังไม่ได้ใกล้เลย พระพุทธเจ้าท่านอยู่วงในซะจนประเภทมองออกไปไม่เห็นพระอรหันต์เลย (หัวเราะ) ก็ลองนึกเอาแล้วกันว่า ท่านที่สามารถทำให้เทวดาเกรงใจชนิดไปจนเกือบเกลี้ยงสวรรค์นั่นเป็นใคร อยากจะรู้เหมือนกัน
      ถาม :  ไม่ใช่นายกใช่มั้ยครับ ไม่ใช่น้าชาติใช่มั้ยครับ ?
      ตอบ :  ผู้ที่ทำหน้าที่บวงสรวงด้านหน้า น่าจะเป็นพระสงฆ์หรือพราหมณ์อะไรยังงั้นล่ะ ถ้าเก่งขนาดนั้น ก็น่าจะเชื่อว่าท่านจะต้องมีดีทีเดียวล่ะ
      ถาม :  อยากจะทราบว่าเวลาฝึกสมาธิน่ะค่ะ แล้วสร้างพลังในตัว ให้สามารถนำไปใช้เป็นญานที่สามารถช่วยคนอื่นได้ ?
      ตอบ :  ไปช่วยคนอื่นได้ก็เอาอภิญญา ๕ เป็นอย่างน้อยล่ะลูก
      ถาม :  ต้องทำยังไงเจ้าคะ ?
      ตอบ :  เริ่มด้วยกสิณกองใดกองหนึ่ง รู้จักกสิณมั้ยจ้ะ ? มี ๑๐ กอง จะมีที่เป็นธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นสี ๔ อย่าง คือ ขาว เขียว แดง เหลือง แล้วก็เป็นอากาศกสิณ คือ ความว่าง กับ อาโลกกสิณ คือ แสงสว่าง รวมแล้ว ๑๐ กอง เราชอบอันไหนอันหนึ่งจับอันนั้นขึ้นมาฝึกให้ได้ก่อน
              กสิณทั้ง ๑๐ กองจะยากอยู่เฉพาะกองแรกเท่านั้น พอได้กองแรกแล้วกองอื่นกำลังเท่ากัน เพียงแต่ว่าเปลี่ยนนิมิตเท่านั้นเอง เปลี่ยนสิ่งที่มาเป็นนิมิต เช่นว่าจากดินก็ไปเพ่งน้ำแทน จากน้ำก็ไปเพ่งลมแทน จากลมไปเพ่งไฟแทน เหล่านี้เป้นต้น พอได้อันดับแรกแล้วอันอื่นง่ายหมด ยากอันดับแรกอันเดียว พอได้ขึ้นมาพอครบกสิณ ๑๐ พยายามฝึกให้คล่อง อธิษฐานใช้ให้คล่อง คราวนี้จะช่วยคนอย่างไรก็เชิญจ้ะ ชนิดตายแล้วจะให้กลับเป็นใหม่ก็ยังไหว
      ถาม :  แล้วจะได้กองแรกต้องทำยังไงเจ้าคะ ?
      ตอบ :  หาคู่มือปฏิบัติกรรมฐานของหลวงพ่อวัดท่าซุงดีกว่า ตั้งใจบูชาหน้าหิ้งพระแล้วก็อธิษฐานว่ากสิณกองใดที่ข้าพเจ้าเคยได้มาในชาติก่อน ขอให้อ่านแล้วชอบกองนั้นมากที่สุด ถ้าชอบหลายกองให้อธิษฐานใหม่อีกรอบหนึ่งว่า ถ้าหากว่ากองไหนที่ทำแล้วจะได้ง่ายและคล่องตัวมากที่สุดขอให้ชอบกองนั้นมากกว่าใคร
              เสร็จแล้วก็เริ่มหาอุปกรณ์มาทำ อุปกรณ์ของกสิณอย่างเช่นว่า ถ้าเป็นกสิณดินก็ต้องหาดินมาเลย โบราณท่านเรียกว่าดินสีอรุณ คือสีออกค่อนข้างจะเป็นเหลืองอ่อนหรือสีออกสีส้ม เอามาในขนาดที่เราเรียกว่าใช้จับภาพได้ง่าย จะปั้นเป็นก้อนกลมหรือจะทำเป็นสี่เหลี่ยม ๆ ก็ได้ แต่ว่าโบราณท่านใช้ผ้าขึงแล้วก็เอาดินละเลงเป็นวงกลมกว้างประมาณ ๒ คืบขึ้นไป คือให้เห็นชัด ๆ เสร็จแล้วเวลาจะภาวนาก็นั่งให้ห่างในระยะที่เห็นก้อนดินได้พอดี ๆ หรือว่าเห็นดวงกสิณนั้นได้ ไม่ก้มเกินไป ไม่เงยเกินไป อยู่ในลักษณะที่ไม่ใหญ่เกินไป ไม่เล็กเกิน แล้วก็ลืมตาจำภาพกสิณพร้อมกับภาวนา หลับตาลงนึกถึงภาพนั้นไว้พร้อมกับคำภาวนา
              พอภาพหายไปลืมตาดูใหม่ แล้วหลับตาลงจำเอาไว้พร้อมกับคำภาวนา หายไปลืมตาดูใหม่ ทำแบบนี้เป็นหมื่นเป็นแสนครั้ง แล้วภาพนั้นก็จะเริ่มติดตาไปนาน คือ ตอนแรกพอเรามองแล้วหลับตาลงจะนึกได้แป๊บหนึ่ง แล้วพอหายไปก็ลืมตาดูภาพใหม่ แล้วก็หลับตานึกถึงอีกพร้อมกับคำภาวนา คำภาวนาแต่ละกอง ใช้ไม่เหมือนกัน อย่างเช่นว่าเพ่งดินก็ใช้ปฐวีกสิณัง ปฐวีกสิณังพร้อมกับลมหายใจเข้า –ออก เพ่งน้ำก็อาโปกสิณัง อาโปกสิณังพร้อมลมหายใจเข้าออก อย่างนี้เป็นต้น
              จนกระทั่งพอภาพนั้นติดตาติดใจจะหลับตาหรือลืมตาก็เห็นได้เหมือนกัน นึกถึงได้เหมือนกัน คราวนี้ก็พยายามนึกถึงภาพนั้นพร้อมคำภาวนาอยู่เสมอ ตอนนี้ไปจะเป็นตอนที่ยากมาก เพราะว่าถ้าเราเผลอสติลืมภาพกสิณจะหายไป เอาใจจดจ่ออยู่เสมอ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม แบ่งความรู้สึกส่วนหนึ่งนึกถึงภาพกสิณเอาไว้พร้อมกับคำภาวนาอยู่ในใจของเรา ภาพนั้นก็จะค่อย ๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย จากทึบก็จะค่อย ๆ ขาวขึ้น ๆ พอขาวถึงที่สุดก็จะค่อย ๆ เริ่มใสสว่างขึ้น ๆ จนกระทั่งสว่างเหมือนกับกระจกสะท้อนแสง ถ้าสว่างเต็มที่แล้วลองอธิษฐานให้ใหญ่หรือว่าเล็กได้ให้มาหรือว่าหายได้ อย่างนี้ก็เริ่มอธิษฐานใช้ผลของกสิณได้
              พอได้เต็มที่กองหนึ่งแล้ว ก่อนจะทำกองใหม่ก็จับภาพกสิณให้เต็มที่ก่อนแล้วค่อยเปลี่ยนไปทำกองใหม่ ถ้าได้ ๒ กองก็จับกองที่ ๑ ที่ ๒ ให้เต็มที่ แล้วค่อยทำกองที่ ๓ ถ้าได้ ๓ กองก็ ๑-๒-๓ เต็มที่แล้วค่อยทำกองที่ ๔ ย้อนทวนอย่างนี้อยู่เสมอ ๆ เสร็จแล้วลองอธิษฐานใช้ผลดู
              ผลของกสิณแต่ละกองจะไม่เหมือนกัน ถ้าจะทำของอ่อนให้แข็งก็ใช้ปฐวีกสิณ พวกอยู่ยงคงกระพันนี่มักใช้ปฐวีกสิณ ทำของแข็งให้อ่อนก็ใช้กสิณน้ำ อย่างปฐวีกสิณนี่จะใช้เดินบนน้ำได้หรือจะเดินบนอากาศก็ได้ เดินเหมือนกับมีบันไดอยู่นั่นแหละ อธิษฐานว่าอากาศทุกจุดที่เราเหยียบขอให้แข็งเหมือนดิน แล้วก็เดินได้ในน้ำก็ได้ ถ้าทำของแข็งให้อ่อนใช้อาโปกสิณ ถ้าต้องการจะไปไหนเร็ว ๆ ก็ใช้วาโยกสิณ ลักษณะที่เรียกว่า เหาะไป ถ้าหากว่าไม่มีไฟต้องการให้ไฟติดขึ้นมาก็ใช้เตโชกสิณ ไม่มีอากาศจะหายใจใช้วาโยกสิณ ถ้าต้องการจะผ่านในที่ ๆ มันทึบมันตันจะให้ไปได้สะดวกก็ใช้อากาศกสิณ ในที่่มืดต้องการจะให้สว่างก็ใช้อาโลกสิณ เหล่านี้เป็นต้น
              ถ้าสว่างจะใช้มืดก็ใช้นีลกสิณ ถ้าสีอื่นไม่ชอบใจชอบใจแต่สีแดงก็ใช้โลหิตกสิณ ประเภทของธรรมดาใช้แล้วมันไม่สะใจ ใช้ของที่เป็นทองคำไปเลยก็ใช้ปีตกสิณ อย่างนี้เป็นต้นนะ กสิณจะมีอยู่ที่ผลพิเศษออกไปก็คือว่า อาโลกกสิณ เตโชกสิณ และโอทาตกสิณ – กสิณสีขาว กสิณ ๓ กองนี้ถ้าหากว่าทำไปแล้วผลพิเศษที่จะได้ก็คือ จะได้ทิพจัขุญาณแจ่มใส่มาก โดยเฉพาะอาโลกกสิณเป็นทิพจักขุญาณโดยตรง
              แต่ว่าถ้าทำเป็นจริง ๆ กระทั่งอาโปกสิณก็สามารถทำเป็นทิพจักขุญาณได้ จากอาโปกสิณเราเอาน้ำใส่ขัน เราตั้งใจจำภาพน้ำก็จะเป็นอาโปกสิณเฉย ๆ แต่ถ้าทำเป็นทิพจักขุญาณให้ตั้งใจให้แน่วแน่ถึงก้นภาชนะก็จะเป็นทิพจักขุญาณได้ อันนี้ต้องลองทำดูนะ ถ้าหากว่าไปอ่านตำราแล้วเขาบอกว่าอาโปกสิณ เป็นทิพจักขุญาณไม่ได้ก็อย่าเพิ่งไปเถียงเขา เราทำดูก่อน ถ้าเราทำได้ แสดงว่าเราเก่งกว่า
              พอทำจนคล่องอธิษฐานใช้ผลจนคล่องนึกปุ๊บปั๊บเป็นเลย ตอนนั้นจะทำอะไรก็ได้ อย่างคนเจ็บไข้ได้ป่วยอธิษฐานให้ธาตุ ๔ เขาประสานเสมอกันเขาก็หายป่วยเดี๋ยวนั้นเลย แต่ว่าเราจะต้องดูด้วยว่าในอดีตเขาทำกรรมอะไรมา ในปัจจุบันกรรมอันนั้นให้ผลนั้นเขาอยู่ ถ้าหากว่าไม่ใช่วาระบุญมาเสริมเราก็ช่วยเขาไม่ได้ ถ้าเราช่วยเป็นการฝืนกฎของกรรม กสิณหรืออภิญาที่ได้ก็จะเสื่อมไป แต่ว่าเสื่อมไปก็ไม่นานหรอก พอเราตั้งใจขอขมาพระรัตนตรัยตั้งใจทำใหม่กำลังใจรวมตัวได้ก็เป็นอีก