สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๖ (ต่อ)
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

      ถาม:  เขาถ่ายมาหนูยังงเลย เฮ้ย..ครึ่งหนึ่งเป็นปลาจริง ๆ ด้วย แต่ตรงคีบหลังจะขึ้นมาจนถึงตรงนี้ แต่ครึ่งหนึ่งหางเป็นปลา
      ตอบ :  เป็นจ้ะ แต่สังเกตฟันจะแหลมเฟี้ยว เหมือนกับฟันปลานั่นแหละ
      ถาม :  ใช่ ๆ ฟันแหลมเฟี้ยวเลย แต่หน้าเป็นคน ?
      ตอบ : หน้าเป็นคน ท่านบนเป็นคน แต่ดูก็รู้เลยว่าไม่ใช่คน
      ถาม :  หน้าแค่เหมือนคน ?
      ตอบ :  แต่ไม่แน่ใจ เพราะส่วนใหญ่จะประมาณสักแค่นี้แหละ คงราวเกือบ ๆ เมตรแหละ สัก ๗๐-๘๐ เซนติเมตร
      ถาม :  ยายที่ตายไปเคยเล่าให้ฟังว่า เงือกขึ้นมาตอนพระจันทร์เต็มดวง เขาเคยเจอ แล้วมีผมด้วย หน้าไม่เหมือนคนเท่าไร แต่ลักษณะเหมือนคน แต่แช่อยู่ในน้ำ เหมือนมานั่งอาบน้ำตอนพระจันทร์เต็มดวง ?
      ตอบ :  อยู่ในน้ำแล้วยังจะอาบน้ำอีก...!
      ถาม :  อาบน้ำเล่นแสงจันทร์ เขามาอาบแสง ?
      ตอบ :  แต่ในหนังสือพิมพ์เคยมีลงเอาไว้นะ ช่วงที่เขาปิดเขื่อนภูมิพล พวกนายช่างจับเงือกได้ แต่เงือกตัวนั้นหนักตั้ง ๒๐๐ กว่ากิโลกรัม
      ถาม :  อ้าว...ทำไมเขาไม่เอา ?
      ตอบ :  ตอนแรกที่เขาออกตรวจกัน เป็นลักษณะออกตรวจเขื่อนตามปกติ เขาแปลกใจว่าตรงนั้นเขาติดไฟอยู่ แล้วเห็นผู้หญิงมาว่ายน้ำอยู่ เลยเอาเรือเข้าไปใกล้ เห็นว่าท่อนร่างเป็นปลาเลยช่วยกันไล่ต้อน คราวนี้พอเขาไล่ต้อนก็จับได้ เขาบอกว่าน้ำหนักลองชั่งแล้ว ๒๐๐ กว่ากิโลกรัม ที่แปลก ๆ คือมีปุ่มกระดูกนูน ๆ ขึ้นมาตรงไหล่สองข้าง แต่ท่อนล่างเป็นเกล็ดปลาเหมือนกันสีเงิน ๆ หรือสีตะกั่ว แล้วมีผมสีแดงเหมือนอย่างกับขนหางม้า แต่ฝรั่งเขาไม่กลัว พอเอาขึ้นบกไม่นานก็ตาย คงเป็นช่วงประเภทพ้นน้ำขึ้นมา หรือไม่ก็ไล่ต้อนจนเหนื่อยจะตายอยู่แล้วอย่างนั้น พอขึ้นมาไม่นานก็ตาย ฝรั่งเลยเอาไปลองทำสเต็กกินดู เขาบอกว่ารสชาติเหมือนกับเนื้อหมู แต่คนไทยไม่มีใครกล้ากินเลย ที่แม่น้ำปิง เขื่อนภูมิพล แต่ตัวนี้สงสัยเป็นธิดาช้างของเงือกแน่ ๆ เลย ตัวหนักตั้ง ๒๐๐ กว่ากิโลกรัม
      ถาม :  ตัวเท่านี้ หนัก ๒๐๐ กิโลกรัมหรือคะ ?
      ตอบ :  เป็นไปไม่ได้หรอก เพราะตัวนี้ใหญ่ ต้องประมาณตัวคน แล้วต้องอ้วนด้วย แต่เขาไม่มีรูปให้ดู หนังสือพิมพ์สมัยนั้นเขาลงข่าวอยู่
      ถาม :  เป็นสัตว์น้ำหรือ ?
      ตอบ :  เป็นครึ่งคนครึ่งปลา ลูกครึ่ง...ไม่รู้เหมือนกันว่าครึ่งขนาดไหน แต่ครึ่งแน่ ๆ
      ถาม :  ทำไมเขาเห็นหน้าเป็นคน เขายังกล้ากินหรือ ?
      ตอบ :  ฝรั่งก็ประเภทไม่ค่อยใส่ใจหรอก
      ถาม :  ชอบของแปลกนะนี่ เขาน่าจะเอาสตัฟฟ์เก็บไว้ เหมือนในอินเตอร์เน็ตที่เขาส่งมา สตัฟฟ์ไว้แห้ง ๆ ?
      ตอบ :  หนังสือพิมพ์กรุงเทพรายวัน วันที่ ๓๐ ก.ค. ๒๕๐๕ ต้องไปดูในหอสมุดแห่งชาติ น่าจะยังมีเก็บต้นฉบับไว้ จะมีข่าวเรื่องนางเงือก เขาบอกว่าวันที่ ๑๑ ก.ค. มิสเตอร์เฮเลนหัวหน้าวัดระดับน้ำกับเจ้าหน้าที่สิบคน เจอผู้หญิงว่ายน้ำตรงที่โคมไฟติดอยู่ คิดว่าคนตกน้ำ เมื่อเอาลวดสลิงกว้านก็ดิ้นหนี กว่าจะจับได้ก็ตกสามสิบนาที กลายเป็นคนที่มีท่อนล่างเป็นปลา ผมแดงคล้ายหางม้า ยาวถึงเอว มีปุ่มกระดูกที่ไหล่สองข้าง ข้างหนึ่งประมาณสามนิ้ว ผิวขาวเหมือนกระดาษ คงขาวซีด ๆ มีนมเหมือนผู้หญิงทั่วไป ท่อนล่างเป็นปลา เกล็ดสีตะกั่วตัด น้ำหนัก ๒๖๒ กิโลกรัม อยู่ได้ประมาณสิบนาทีก็ตาย ฝรั่งเอาไปทำอาหาร บอกว่ารสเหมือนหมูสามชั้น แต่คนไทยไม่มีใครกล้ากิน
      ถาม :  ฝรั่งไม่รู้จักถนอม ของแปลก ๆ ก็กิน ?
      ตอบ :  ปี ๒๕๐๕ อาตมายังแก้ผ้าวิ่งอยู่เลย แต่กำลังซนสุด ๆ
      ถาม :  หลวงพ่อช่วยเล่าเรื่องผีอะไรก็ได้...อยากฟัง เอาที่หลวงพ่อเจอตอนเดินธุดงค์ ?
      ตอบ :  ธุดงค์ไปพม่าหรือ ? พวกนั้นไม่น่าจะผี อย่างพวกลับแลก็มี ว่าไปแล้วผีน่าสงสาร หลังจากเจอที่บึงลับแลครั้งสุดท้าย ไม่แน่ใจว่าเขาตั้งใจหลอกหรือว่าทดสอบกำลังใจ แล้วก็ไม่ได้เจอผีอีกเลยเป็นปี ๆ แล้ว คงตายด่านจนเขาหลอกไม่กระดิกแล้ว
              ตอนนั้นพาพระไป ๔-๕ รูป ก็ไปทำแคร่นอนกันรอบบึง อาตมานอนภาวนาไปเรื่อง แคร่ใหญ่ที่ทำไว้พระเขากลัวผี เขาไปสุมรวมกัน ๔-๕ รูป อาตมาเองนอนแยกไปต่างหากคนเดียว พระท่านไม่เคยทำ แคร่ก็เลยไม่แข็งแรง ภาวนาไปสักห้าทุ่มกว่า แคร่หักโครมลงไป คราวนี้แคร่หักก็หักด้านหัว ตัวก็ไหลลงไป แต่ใจนิ่งเพราะภาวนาอยู่ ไหลไป ไหลไปหัวจะค้ำพื้น อาตมาก็เออ...ยังอยากภาวนาอยู่ แต่ไหน ๆ ก็ลืมแล้ว ก็ลุกขึ้นมาจัดแคร่จัดอะไรใหม่
              ตอนที่ลุกขึ้นมานี่ ท่านกอล์ฟส่องไฟฉายมา ท่านสงสัยว่าอะไรเสียงดังโครม ตอนส่องไฟฉายมา ตรงด้านหัวนอนของอาตมาเป็นหินก้อนใหญ่มากเลย สูงขนาดท่วมหัวก้อนหนึ่ง อาตมาเห็นมีพระรูปหนึ่งนุ่งห่มสีกรัก สีกรักคือสีเหมือนแก่นขนุน กลางคืนมืด ๆ แต่เห็นชัดมากเลยว่ายืนประจันหน้ากับอาตมาอยู่ ก็เอ๊ะ...มีอาคุนตุกะมาจากไหน ? ต้องลองถามเขาดูหน่อย
              ปรากฏว่าท่านกอล์ฟที่ส่องไฟตะโกนถาม พอเห็นอาตมาเงียบ ๆ ก็เลยเขย่าไฟฉาย พอเขย่าไฟฉายเพิ่งจะเห็นว่าเป็นเงาของตัวอาตมาเอง แต่ตอนที่ยืนประจันหน้าอยู่นี่เป็นพระแน่ ๆ เป็นที่อาตมาไม่รู้จัก และเห็นชัดว่าห่มสีกรักด้วย เพียงแต่แปลกใจอยู่อย่างเดียวว่า กลางคืนมืดขนาดนั้นทำไมเห็นสีกรักชัดอย่างนี้
              แต่งานนั้นชอบใจอยู่อย่างหนึ่งก็คือ อันดับแรก แคร่พังลงไปแต่ใจของอาตมาก็ไม่ได้คลายออกมา ยังคงภาวนาอยู่เป็นปกติ อันดับสอง เจอหน้าสิ่งแปลก ๆ กลางค่ำกลางคืน ซึ่งถ้าเป็นคนอื่นต้องระแวง วิ่งกระจายไปแล้ว อาตมาเองก็ไม่ได้ตกใจ คิดอยู่อย่างเดียวจะถามว่า “มาจากไหน ?” หัลงจากนั้นยังไม่ได้เจอแบบนั้นอีกเลย เอ๊ะ...เจอเหมือนกัน แต่เจอประเภทที่เขามาหาเอง
      ถาม :  ใจนิ่งขนาดนั้นได้ เป็นเพราะใจเราฉลาดหรือว่าไม่มีภัย ?
      ตอบ :  ไม่ใช่ คือทรงอยู่กับอารมณ์ภาวนาตลอดเวลา ในเมื่อทรงอยู่ยังไม่คลายตัวมา จะนิ่งเป็นปกติ ไม่ว่าตัวจะเป็นอย่างไร ใจจะนิ่งอยู่ระดับนั้น
      ถาม :  ต่อให้มีภัย ก็จะนิ่ง ?
      ตอบ :  จะนิ่งอยู่อย่างนั้น มีอยู่อย่างเดียวคือคิดที่จะแก้ไขเหตุการณ์
      ถาม :  เด็กผีที่อยู่ในกุฏิหลวงพ่อยังอยู่ไหม ?
      ตอบ :  อยู่จ้ะ อีกแปดปีเขาถึงจะไปเกิด นี่เหลือเจ็ดปีแล้ว
      ถาม :  อ๋อ...เด็กที่ตกน้ำตายหรือคะ ? กลางคืนเขานอนที่ไหน ?
      ตอบ :  นอนที่ไหนไม่ได้ถามเขานะ ตอนลูกแพร ลูกพลับ ลูกแพรว ลูกพืชไปเล่นกันสนุก จับเอวต่อกันเล่นเป็นรถไฟกะฉึกกะฉักของเขาไปเรื่อย สักพักหนึ่งน้องมิ้นต์นี่ก็มาต่อเอวเป็นคนที่ห้า ก็กะฉึกกะฉักกันสนุกใหญ่ พออาตมากลับจากข้างนอกมา พวกเขามองซ้ายมองขวา อ้าว...หายไปไหนหว่า ? ก็ถาม “หลวงพ่อ ๆ เด็กผู้หญิงที่อยู่ในกุฏิหลวงพ่อหายไปไหนคะ ?” อาตมาได้ยินก็...ใช่เลย เผลอหน่อยเดียวออกมาเล่นด้วยซะแล้ว
      ถาม :  แล้วสี่คนเขาไม่...?
      ตอบ :  บอกเขาไปว่า “เขาคงกลับไปแล้วแหละ อีก ๘ ปีเขาจะไปเกิดแล้ว” เท่านั้นแหละกรี๊ดกันซะวัดเกือบถล่ม อายุเขาไล่ ๆ กัน เพราะรายที่ตกน้ำตายนั่นก็ ๑๒ ขวบ พวกเด็ก ๆ ก็ ๑๖ – ๑๔ – ๑๒ – ๑๐ ขวบ
      ถาม :  ใครอยู่ท้าย ?
      ตอบ :  ไม่ได้ถาม...เห็นเขาเล่นรถไฟกะฉึกกะฉัก น่าสนุก...เลยมาจับด้วยต่อท้ายเล่นด้วยคน แล้วพวกนี้เก่งมากเลยนะ เขาจะไม่ทำให้เราคิดว่าเขาเป็นผี ในขณะเดียวกันจะทิ้งให้สงสัยอยู่หน่อย ๆ อะไรอย่างนั้น แต่จะไม่ให้เราระแวง ไม่ให้เราถามอะไร จนกว่าเขาจะไปแล้ว
      ถาม :  ตอนมาไม่เห็นหรือคะ ?
      ตอบ :  เขาไม่ทันเห็น คิดว่าลงมาจากชั้นบนที่หลวงพ่ออยู่ เขาคิดว่าอยู่ชั้นบนอยู่แล้ว เพราะพวกนี้เข้าไปกันทีหลัง เขาก็มาเล่นด้วย เอาไหม รถไฟกะฉึกกะฉัก
      ถาม :  ไม่มีใครไปค้างอีกเลยหรือคะ ?
      ตอบ :  ไม่มีใครไปเลย...เข็ด...!
      ถาม :  หนูเล็กก็มานอนกับป้ามุก ไม่มีใครมาค้างอีกเลย ?
      ตอบ :  ตอนช่วงเขามาใหม่ ๆ บอกอีก ๘ ปีจะไปเกิด เป็นไปได้จะไปเกิดกับแม่คนเดิม เขาว่าอย่างนั้น อีก ๘ ปีแม่เขาคงแก่แล้วแหละ
      ถาม :  ถ้าเป็นพวกช้างแมมมอธ ตัวเล็ก ๆ นี่มีจริงไหมคะ ?
      ตอบ :  แมมอธไม่มีจ้ะ แต่ช้างน้ำตัวเล็ก ๆ นั้นมี ก่อนเรื่องนี้จะดัง อาตมาไปดูมาก่อนตั้งหลายปี
      ถาม :  เห็นเขาว่างามีพิษด้วยหรือคะ ?
      ตอบ :  น่าจะมีพิษ ไม่อย่างนั้นเขาคงไม่กลัวกันขนาดนั้น
      ถาม :  ไม่อย่างนั้นคงอยู่ไม่รอด ตัวเขาเล็กเท่าไหนคะ ?
      ตอบ :  ถ้าลูก ๆ ก็ใส่กล่องไม้ขีดได้
      ถาม :  ถ้าเป็นคนแบบไหนคะ ผีถึงจะมาหา ?
      ตอบ :  มีสองอย่าง อย่างแรกคือเราทำทิพจักขุญาณได้ ก็เห็นเขาได้ อันนี้เป็นเราปรับเข้าไปหาเขา อีกอย่างคือเขาเป็นฝ่ายปรับเข้ามาหาเรา เขาปรับเข้ามาหาเราชัดมาก หลับตาก็เห็นลืมตาก็เห็น
      ถาม :  คือเราไม่รู้ เขาจะมาเองใช่ไหมคะ ?
      ตอบ :  สังเกตได้อยู่อย่าง เวลาผีมาจะรู้สึกเย็นเยือก ๆ สันหลังขนลุกเกรียว ๆ อย่างไรไม่รู้
      ถาม :  นึกว่าต้องมีอะไรที่พิเศษ ?
      ตอบ :  ไม่ต้องพิเศษหรอกจ้ะ ขอให้มีบุญพอที่เขาจะขอได้ก็พอ เดี๋ยวมาแล้ว
      ถาม :  การตั้งศาลให้พระภูมิเจ้าที่จำเป็นไหม...?
      ตอบ :  เรื่องของการตั้งศาลพระภูมิ เราตั้งแล้วเทวดาท่านก็ไม่ได้อยู่ ท่านมีวิมานของท่านอยู่แล้ว แต่เป็นการแสดงออกซึ่งความเคารพของเรา ถามว่า “จำเป็นไหม ?” ถ้าถามอย่างนี้ก็ต้องบอกว่า “จำเป็น” แล้วจำเป็นมากด้วย เพราะที่ใดก็ตาม ถ้าเราไปอยู่ในสถานที่นั้น ไม่ได้ตั้งศาลแสดงออกซึ่งความเคารพบูชา สถานที่บริเวณใกล้เคียงไม่ได้มีศาลอยู่ให้เรา ไปไหว้ท่านเพื่อระลึกถึงท่านได้ ท่านจะช่วยสงเคราะห์ให้ไม่เกินสองปี หลังจากนั้นก็จะปล่อยไปตามเวรตามกรรม และตามเวรตามกรรมของเรานี่ บางอย่างถ้าท่านไม่ช่วย เจอแบบสาหัสสากรรจ์ก็ยุ่งหน่อย ไปดูแล้วกันว่าใกล้เคียงมีศาลไหม ถ้าเราอยู่ในหมู่บ้านจัดสรร จะไปไหว้ศาลที่หมู่บ้านสร้างไว้ก็ได้ แต่ถ้าอยู่เดี่ยวอย่างนี้ ก็ต้องตั้งเอง
      ถาม :  มีศาลอะไรบ้างคะ ?
      ตอบ :  ถ้าศาลพระภูมิก็เสาเดี่ยว ถ้าเป็นศาลอากาศเทวดาก็สี่เสาขึ้นไป จะเป็นสี่เป็นหกเป็นแปดก็ได้
      ถาม :  เล็กใหญ่ก็ได้ ?
      ตอบ :  เล็กใหญ่ไม่เป็นไร อยู่ที่เรา
      ถาม :  ตั้งศาลนี่วันไหนเหมาะ ?
      ตอบ :  ส่วนใหญ่ใช้วันพฤหัสสบดี ถ้าเป็นขึ้น ๔ ค่ำ ๗ ค่ำ ๘ ค่ำจะดีมาก เขาเลือกข้างขึ้น แล้วต้องเป็นเดือนคู่
      ถาม :  ถ้าอยากได้พระหลวงปู่ทวด ไม่ทราบว่าหาเช่าได้ที่ไหนคะ ?
      ตอบ :  จริง ๆ แล้วมีเยอะนะ แต่เราต้องไปตลาดพระ แล้วหาเอาเอง ส่วนใหญ่ถ้าทันหลวงปู่ทิมปลุกเสกก็จะแพงมาก เดี๋ยวนี้เนื้อว่านสวย ๆ องค์ละเป็นล้านแล้ว
      ถาม :  ถ้าเป็นภาพที่ใส่กรอบ คือจะเอาไปให้พี่ชายเขาจะขึ้นบ้านใหม่ จะหาเช่าค่ะ ?
      ตอบ :  ตามร้านถ่ายรูปทั่วไปส่วนใหญ่จะมี ร้านที่ทำกรอบรูปบางครั้งเขาก็ให้เช่าเหมือนกันหรือเราหาซื้อรูปมาเอง แล้วไปให้เขาใส่กรอบสวย ๆ
      ถาม :  การทำบุญรู้สึกเฉย ๆ ไม่รู่สึกอะไรมาก อยากจะให้รู้สึกชัด ๆ ทั้งที่บางครั้งรู้อยู่ว่าทำไปจะให้ผลดี ?
      ตอบ :  ถ้าชัดก็ถอยหลังเข้าคลองจ้ะ การที่เราทำบุญด้วยความปีติ ประเภททำไม่รู้จักเบื่อไม่รู้จักหน่าย จริง ๆ แล้วตอนนี้ให้ทานจนเป็นฌานแล้ว ปีตินี่ก่อนจะเป็นฌานเยอะเลย อยากจะปีติใหม่ก็ถอยหลังเข้าคลองสิ
      ถาม :  ทำบุญไปนาน ๆ จะเริ่มเฉย ๆ ?
      ตอบ :  ตอนนี้รู้ว่าดีก็ทำ เป็นฌานแล้ว ปีติยังไม่ถึงฌาน จากปีติต้องเป็นสุข เป็นเอกัคคตารมณืถึงจะเข้าถึงฌาน คราวนี้เราให้ทานจนเป็นฌานแล้ว
      ถาม :  เวลาเราให้ทาน เวลาที่มีคนบอกให้เราทำ ?
      ตอบ :  อันนั้นแสดงว่าจิตของเราไม่ได้ประกอบด้วยศรัทธาโดยเฉพาะอย่างเดียว ที่เขาเรียกว่า “อธิโมกข์ศรัทธา” แต่มีปัญญาด้วย พิจารณาสิ่งแวดล้อมด้วย สมควรไม่สมควรอะไรอย่างนั้น จะลงทุนทั้งทีต้องเอาให้คุ้ม
      ถาม :  แต่ไม่บาปใช่ไหมคะ ที่เขามาให้เราทำบุญ แต่เราเลี่ยง เห็นว่าไม่น่าจะทำ ?
      ตอบ :  บาปคือความชั่ว ไม่ได้ทำความดีไม่ถือว่าชั่ว ถ้าทำแล้วมานึกเสียดายภายหลัง เป็นการขาดตัวอุเบกขาในทาน ต้องเอาให้มากกว่านั้นหน่อย
      ถาม :  ขาดอะไรนะเจ้าคะ ?
      ตอบ :  อุเบกขาในทาน การทำทานจริง ๆ คือให้ ให้แล้วให้เลย รู้ว่าเขาต้องการเราก็ให้ หลังจากนั้นแล้วเขาจะเอาไปทำอะไรเราต้องคิด อันนั้นจะเป็นตัวอุเบกขาในทาน ถือว่าเป็นกำลังใจสูงสุดในการให้ทาน ในจาคานุสติกรรมฐานนั้น ไม่ต้องไปเสียเวลาคิด การตัดความโลภทำให้เราใกล้พระนิพพานเราก็พอแล้ว
      ถาม :  ถ้าทำบุญแล้วหวังผล ?
      ตอบ :  หวังผลนี่เป็นเรื่องปกติ
      ถาม :  อย่างเช่น เราช่วยคนแก่เพราะคิดว่าแก่ตัวไปอาจจะมีคนมาช่วยเราบ้าง ?
      ตอบ :  ตัวนี้แหละที่เราขาดอุเบกขา ยังหวังอยู่ ต้องทำ ๆ ไปจนถึงระดับที่รู้ว่าดีก็ทำ เราช่วยคนแก่แล้วก็ช่วยไป ถ้ากำลังใจยังไม่เต็มก็ยังต้องหวังผลอยู่ ไม่อย่างนั้นแล้วเรารู้ว่าดี เราอยากทำ ตัวอยากนี่จะต้องมีส่วนหวังผลอยู่บ้าง จนกว่าจะเฉย ๆ รู้ว่าดีก็ทำ นั่นแหละถึงจะก้าวข้ามจุดนั้นไป