ถาม:  ภาวนาแล้วไม่ได้สนใจเสียงเทปหลวงพ่อที่เปิดไว้ ?
      ตอบ :  ให้ตั้งใจฟังแล้วพิจารณาด้วยว่าเนื้อความเป็นอย่างไร เคยหลายครั้งที่ผมฟังเทปเกิน บางครั้งที่ฟังไปด้วยภาวนาไปด้วย ของผมจะมีระยะเวลาของตัวเองอยู่ ว่าประเภทพลิกเท้ากี่คั้งเพราะนั่งพับเพียบอยู่ ถ้าพลิกเท้าเท่านี้นี่เทปต้องถึงตรงนี้ ๆ รู้เลยว่ากี่นาที
              คราวนี้พลิกไปแล้วยังไม่จบก็ฟังไปเรื่อย อีกพลิกหนึ่งแล้ว อ้าว...ก็ยังไม่จบ พอจะพลิกพลิกอีกครั้ง เฮ้ย...ยาวเกินไปแล้วเว้ย ลืมตาดู พอลืมตาดูจิตคลายออกมา เสียงหายวับไปเลย เทปหยุดไปนานเนกาเลแล้วครั้ง เป็นชั่วโมง ๆ แล้ว
              แต่ตอนที่ตั้งใจฟังอยู่นั้น เสียงหลวงพ่อวัดท่าซุงยังเทศน์อยู่ตลอด แล้วก็ฟังรู้เรื่องตลอดว่าท่านเทศน์เรื่องอะไร นั่นแหละ...ได้เกินอยู่เรื่อย แต่แหม...ของเราเคยพลิกซ้ายแล้วพลิกขวาอีกครั้งเทปก็จะจบแล้ว นี่ไม่จบหรอก สองพลิกก็แล้ว สามพลิกก็แล้ว ไม่จบสักที จนกระทั่งเอ๊ะ...พอจิตคลายออกมาก็เงียบฉี่ เพราะหยุดตั้งนานเนกาเลแล้ว
      ถาม :  ช่วงนั้นต้องกำหนดอานาปานุสติกรรมฐาน ?
      ตอบ :  ถ้าอยู่กับลมหายใจก็กำหนดไป ถ้าลมหายใจไม่มีแล้วก็ตั้งใจฟังเสียงเอา ถ้าเสียงไม่ได่ยินแล้วก็อยู่กับความสุขเฉพาะหน้า อยู่กับความสว่างเฉพาะหน้าตน กำหนดแต่ตัวรู้ แต่ตอนนั้นจิตละเอียดจึงยังได้ยินอยู่ ได้ยินอยู่ก็ฟังไปเรื่อย ๆ เนื้อหาก็ต่อเนื่องไปเรื่อย ไม่มีสะดุด ไม่มีการเปลี่ยนเรื่องใหม่ เทศน์เนื้อหาเดิมไปเรื่อย แต่ระยะเวลาที่จากครึ่งชั่วโมงกลายเป็นสี่สิบห้านาที กลายเป็นชั่วโมงหนึ่ง ถ้าไม่ลืมตาขึ้นมา ท่านอาจจะเทศน์ทั้งวันก็ได้
      ถาม :  ถ้าอย่างนั้นก็ต้องฟังทั้งวัน ?
      ตอบ :  ระยะหลังเรื่องเทปไม่ค่อยได้ฟัง ผมฟังเอาเฉพาะสี่เวลาที่เขาเปิด แต่การภาวนาผมจะมีกำหนดเวลาตายตัว ผมต้องภาวนาเท่าไร ในช่วงที่ฟังเทปมากที่สุดคือช่วงที่อออกจากวัดท่าซุงไปใหม่ ๆ ไปอยู่ที่เกาะพระฤๅษี มีเวลาเยอะ ซื้อเทปจากวัดท่าซุงไป ๑๕๐ ม้วน จะสวดมนต์จะทำวัตรจนเสร็จเรียบร้อย เวลาที่เหลือฟังล้วน ๆ ฟังจนยืดหมดทุกม้วน ฟังแล้วฟังอีก ย้ำแล้วย้ำอีก
              จนกระทั่งวันหนึ่งเสียงเทปหายไป ก็เอ...เทปเป็นอะไร เอาไปให้ร้านที่ในทองผาภูมิดูให้ เขาบอกว่า “หัวเทปหนาตื๊บเลยครับ ไม่เคยล้างเลย” ก็ ๑๕๐ ม้วนเปิดไปเปิดมาอยู่นั่นแหละ ตอนนั้นยังไม่รู้เลยว่าใช้เทปแล้วต้องล้างหัวเทป พอถึงเวลาสนิมพอกหนามาก ๆ เข้า ไม่สามารถที่จะอ่านข้อมูลได้ เสียงก็ไม่มีไปเฉย ๆ จะฟังจนเทปเจ๊ง ซีดีเจ๊ง นับจนประคำขาดอะไรก็ช่างเถอะ ขอให้ใจเราอยู่กับธรรมะในแต่ละวัน มีเวลามากกว่าตอนฟุ้งซ่านก็พอ
      ถาม :  (ไม่ชัด)
      ตอบ :  พยายามดูไว้ก็แล้วกัน ถ้ารู้สึกว่าไปไกลจากจุดมุ่งหมายของเรา ก็ละ ๆ วาง ๆ บ้าง เพราะผมเองไม่ยอมเรียนมาตั้งแต่แรก พอจบนักธรรมเอกแล้ว หลวงพ่อวัดท่าซุงท่านถามว่า “จะเรียนบาลีต่อไหม ?” ถ้าเรียนต่อท่านจะส่งมาในกรุงเทพฯ คือถ้าไม่ใช่วัดสามพระยา ก็วัดปากน้ำ ผมตอบว่า “ผมรู้ตัวว่าถ้าผมห่างหลวงพ่อ ผมต้องเลวแน่ ๆ เลย เพราะฉะนั้น...ผมไม่ไปหรอกครับ”
              ท่านว่า “เออ..ก็ตามใจแก” คือผมตอนนั้นเล็งเห็นเลยว่า ในวงการถึงเวลาเข้าไปมีการแข่งขันกัน พอจบมาแล้วจะมีการหายศหาตำแหน่งกัน ต้องช่วงชิงกันให้อุตลุดไปหมด วิสัยของผมไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ ทำได้แล้วโหดกว่าเขาด้วย
              ถ้าถึงเวลาพลัดเข้าไปอยู่ในวงจรนั้นเมื่อไร ผมจะไม่ยอมแพ้ใคร ในเมื่อไม่ยอมแพ้ใครก็จะไปดิ้นรนอยู่กับวงจรอุบาทว์ เรื่องยศช้างขุนนางพระ สักแต่ว่าเขาแต่งตั้งมา ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เป็นโลกธรรม...ใช่ไหม ? จะกลายเป็นขวนขวายหาโลกธรรมใส่ตัว เลยไม่ยอมไปเรียน เพราะฉะนั้น...หากว่าคุณพิจารณาเห็นว่าความรู้สึกเริ่มออกนอกลู่นอกทางแล้ว ก็หยุดเสีย
      ถาม :  การที่เราตกใจ ?
      ตอบ :  การที่เราตกใจ คือการที่เราส่งจิตออกนอก พอมีเหตุการณ์เกิดขึ้น จิตรีบวิ่งกลับเข้ามาในร่างกาย เพื่อที่จะรับรู้เหตุการณ์นั้น การที่จิตรีบวิ่งกลับมาเร็วเกินไปคือการตกใจ ตอนนั้นแสดงว่าเราต้องเผลอคิดอะไรที่ไม่ได้อยู่กับตอนนี้เดี๋ยวนี้
      ถาม :  บางครั้งเรามีแบบว่าไปลอง...(ไม่ชัด)...หมาก็เห่า จิตเราก็ ?
      ตอบ :  แสดงว่าตอนนั้นเราต้องเผลอไปคิดอะไรแล้ว แสดงว่าเราส่งจิตออกนอก ถึงเวลาพอหมาเห่า เสียงกระทบหูก็ต้องรีบดึงกลับมาเพื่อรับรู้ว่าคืออะไร นั่นคืออาการตกใจ ก่อนหน้านี้ผมก็ตกใจเหมือนพวกคุณนั้นแหล่ะ พอฝึก ๆ ไปแล้วก็ตายด้าน
              ครั้งล่าสุดที่เคยเล่าว่านอนภาวนาอยู่ แล้วแคร่นอนถล่มโครมลงไป ก็ยังภาวนาเป็นปกติ ไม่ได้สะดุ้งสะเทือน ไม่ได้หวุ่นไหว ไม่ได้ตกใจอะไรเลย คราวนี้แคร่พังทางหัวนอน ตัวก็ไหลลงไปเรื่อย ๆ จนหัวค้ำดินต้องลุกขึ้นมาเพื่อที่จะจัดแคร่ให้เข้าที่ใหม่ ตอนลุกขึ้นมา...อย่าลืมว่าผมอยู่กลางป่านะครับ
              พอผมลุกขึ้นมาได้ ผมเห็นพระรูปหนึ่งยืนอยู่ตรงหน้าใกล้กับผม แต่ว่าท่านห่มสีกรัก สีแก่นขนุนแบบนี้ ผมก็เอ๊ะ...พระอาคันตุกะรูปนี้ท่านมาถึงตั้งแต่เมื่อไร เดี๋ยวจะถามท่านสักหน่อย ปรากฏว่าเพื่อนพระที่ท่านนอนอยู่ไกลอีกทาง ท่านได้ยินเสียงแคร่พัง เลยส่องไฟมา
              พอเห็นผมเงียบไปเฉย ๆ ท่านก็แกว่งไฟ พอแกว่งไฟภาพพระรูปนั้นไหววูบวาบไปมา พอถึงเห็ฯว่าเป็นเงาของผมเอง คราวนี้ลองคิดดูว่า ถ้าคุณตื่นขึ้นมากลางดึกในป่า แล้วอยู่ ๆ มีพระแปลกหน้ามายืนอยู่ตรงหน้า คุณจะทำอย่างไร ? บางคนคงวิ่งป่าแตก แต่ตอนนั้นผมเฉยมาก เฉยจนตายด้านไปเลย
              จนกระทั่งบางครั้งเกิดตึงตังโครมครามขึ้นมา ชาวบ้านเขาตกอกตกใจกันหมด เขาก็แปลกใจว่าทำไมผมไม่ตกใจไปด้วย ถ้าใจของเราอยู่กับร่างกายจะไม่ตกใจหรอก เพราะพร้อมรับรู้กับเหตุการณ์ต่าง ๆ อยู่แล้ว แต่ถ้าใจส่งออกนอกแล้วต้องย้อนกลับมาเมื่อไร ถ้ามาเร็วเกินไปก็ตกใจเมื่อนั้น
      ถาม :  การที่ใจเราอยู่ระดับนั้นเป็นฌานสี่หรือเปล่าครับ ?
      ตอบ :  อันนี้บอกยากไม่รู้ว่าเกินหรือขาดอย่างไร มั่วมาเยอะเกิน แต่ผมว่าเอาแค่ปฐมฌานอาการรับรู้ก็ได้ขนาดนั้นแล้ว ให้ละเอียดหน่อยก็แล้วกัน
      ถาม :  (ไม่ชัด)
      ตอบ :  จริง ๆ คืออภิญญานั่นแหละ แต่มีพื้นฐานมาจากไสยศาสตร์ คือใช้พวกคาถาอาคมประกอบไปด้วย เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน มีคนถือมีดแหลมเปี๊ยบขาววับอยู่ตรงหน้า ตั้งใจจะจิ้มพุงของคุณ คุณหวาดเสียวไหม ? นั่นแหละ...แต่ว่าที่มานั่นต้องเงื้อดาบเข้าไปประจัญบานกัน ถ้าคุณไม่ภาวนาจนกำลังใจมั่นคงจริง ๆ ไม่ฝึกปรือจนกำลังใจมั่นคงจริง ๆ คุณทำไม่ได้หรอก
              ในเมื่อท่านทำได้ถึงขนาดนั้น เวลาที่ท่านใช้เครื่องรางของขลัง คาถา อาคม หรือว่าพวกว่านยา จึงเกิดสรรพคุณมากกว่าพวกเราเยอะ พวกท่านจึงเหนียวเป็นปกติ สะเดาะกลอนได้เป็นปกติ อย่างขุนแผน...ใช่ไหม ? หรือพระยาสีหราชเตโช ท่านกลั้นใจแล้วหายตัวได้ชั่วอึดใจหนึ่ง ตราบใดที่ยังไม่หายใจใหม่ศัตรูจะมองไม่เห็น เขาเรียกว่าคาถาวิรุฬจำบัง วิรุฬจำบังนี่เป็นลูกน้องทศกัณฐ์ หายตัวได้ชั่วอึดใจ นั่นแหละแล้วไปไล่ฟันไล่แทงพวกลิงจนยับเยิน หนุมานต้องตามไปปราบ วิรุฬจำบังรู้ว่าสู้หนุมานไม่ได้ หนีไปซ่อนอยู่ในฟองในมหาสมุทรโน่น หนุมานยังตามไปเก็บจนได้
      ถาม :  หลังปี ๒๕๔๕ อภิญญาใหญ่จะขึ้น ?
      ตอบ :  อาตมาไม่ได้บอกนะเว้ย แต่ก็เจอมาเยอะต่อเยอะแล้ว พวกเราได้เจอบ้างไหม ? ท่านเหล่านี้อยู่ ๆ เหมือนกับได้ขึ้นมาเอง เด็กเล็กก็ได้ คนแก่ ๆ ก็ได้ ทำไร่ทำสวนอยู่ก็ได้ ทหารก็ได้ ไปซุ่มตั้งใจจะยิงกบาลเขาแท้ ๆ ความมุ่งมั่นที่จดจ่ออยู่เบื้องหน้าทำให้ได้อภิญญาเฉยเลย
      ถาม :  (ไม่ชัด)
      ตอบ :  คล้าย ๆ กับว่าเป็นเองโดยอัตโนมัติ คุณป้าคนหนึ่งกรีดยางอยู่ในสวน กรีดไปกรีดมาได้อภิญญาเฉยเลย กรีดยางต้องใช้สมาธิเยอะ ไม่อย่างนั้นหนาหรือบางไปน้ำยางไหลไม่ดี เขาเองไม่รู้ตัวหรอกว่านั่นเป็นการฝึกสมาธิ แต่เมื่อกำลังพออภิญญาเดิมฟื้นคืนมาหมดเลย
              จนกระทั่งทุกวันนี้อาตมาอยู่ที่นี่ คิดอะไรเขาบอกได้หมด อยู่ที่วัดท่าขนุน ของเขาเองมาจากสงขลาโน่น มาถึงก็เอาข้าวตอกมาให้ถุงเบ้อเร่อ วันนั้นหาซื้อข้าวตอกไม่ได้ ข้าวตอกสำหรับเตรียมไว้บวงสรวง ไปอยู่ที่ท่านขนุนฝนตกบ่อยขึ้นราหมด ของฉุกเฉินจำเป็นจะต้องใช้แต่ไม่มี เพราะข้าวตอกต้องคั่วด้วยข้าว โดยเฉพาะข้าวเหนียว ไปเจอแต่ข้าวโพดคั่ว ไม่ใช่ข้าวตอกก็ใช้ไม่ได้ คุณป้าลงจากรถก็ส่งมาให้ถุงเบ้อเร่อ บอกว่า “รู้ว่าต้องใช้เลยเตรียมมาให้” ป้าอยู่สงขลาโน่น อาตมาอยู่เมืองกาญจน์ รู้ว่าต้องใช้ก็เลยเตรียมมาให้
      ถาม :  แสดงว่าคนที่ได้ ?
      ตอบ :  ส่วนใหญ่แล้วของเดิมเคยมีมาก่อน พอกำลังใจถึงก็กลับมาหมด แต่มีข้อแม้อยู่ว่า ตราบใดที่คุณยังไม่ยอมรับกฎแห่งกรรมจริง ๆ กำลังของอภิญญาจะคืนมาไม่เต็มที่ เพราะอภิญญามีอานุภาพสูงมาก นึกอยากจะให้เป็นอะไรก็เป็น นึกอยากจะแก้ไข้อะไรก็แก้ได้ ถ้าใจไม่ยอมรับ แล้วจะไปฝืนกฎของกรรม โลกจะปั่นป่วนวุ่นวายไปหมด
      ถาม :  .............................
      ตอบ :  ของนักธรรมนี่เขาจะเรียนสี่วิชา ธรรมศึกษาก็เรียนสี่วิชา คราวนี้มีข้อแตกต่างอยู่ว่านักธรรมตรีจะเรียนวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม วิชาธรรมวิภาค วิชาพุทธประวัติ วิชาพระวินัยคือศีลของพระ แต่ธรรมศึกษาตรีนี่จะเรียนกระทู้ธรรม ธรรมวิภาค พุทธประวัติ แต่วิชาวินัยจะเป็นเบญจคือ เบญจธรรม
              แล้วก็ไปธรรมศึกษาโทกับนักธรรมโทเรียนเหมือนกัน แต่วิชาพุทธประวัติจะเป็นอนุพุทธประวัติ คือเรียนประวัติพระอรหันต์ ๘๐ องค์ วิชาพระวินัยของธรรมศึกษาโทเขาเรียนศีล ๘ แล้วก็ไปนักธรรมเอก วิชาพุทธประวัติเป็นพุทธานุพุทธประวัติ นอกจากเรียนพุทธประวัติจากพระอรหันต์ ๘๐ องค์ แล้วยังเอาภิกษุณีอรหันต์อีก ๑๓ องค์ เข้าไปด้วย ส่วนวิชาพระวินัยของธรรมศึกษาเอก เขาเรียนกรรมบถ ๑๐
              หนังสือของนักธรรมเอกเลยแตกกอต่อยอดไปมาก แล้วก็วิชาธรรมวิภาคของนักธรรมเอกจะเป็นธรรมวิจารณ์ ธรรมวิจารณ์จริง ๆ เป็นการถามเกี่ยวกับหลักการปฏิบัติทั้งนั้นแหละ แต่สมัยนี้เล่นท่องแบบไป ไม่ได้ทำได้จริง
              สมัยที่สอบอาตมาจะหนักใจวิชานี้มากเป็นพิเศษ เพราะกลัวว่าถ้าตอบผิดจากความเป็นจริงแล้ว จะกลายเป็นการปรามาสพระรัตนตรัย ไปดูของปีนี้ที่เขาออกมา มีหลายต่อหลายข้อที่คำถามของเขาเข้าไม่ถึงจริง เสร็จแล้วคำตอบที่ต้องเลือกตามเขาที่ไม่ถูกต้องจริง แต่ก็ต้องเอาตามนั้น เพราะถ้าไม่เอาตามนั้น ก็ไม่มีข้อที่ถูกกว่านั้นให้เลือก
              วันก่อนโยมที่เขาสอบธรรมศึกษาเอาข้อสอบมาให้ช่วยเฉลยตรงนี้ ช่วยเฉลยแล้วรู้สึกว่าจะมีข้อสอบนักธรรมโทนี่เขาก็คิดมา อย่างปัญหานักธรรมโทวิชาธรรมวิภาพ ถามว่า “เทศนาสองมีอะไรบ้าง ? ทั้งสองอย่างแตกต่างกันอย่างไร ? จงอธิบาย” “ญาณสามในอริยสัจสี่มีอะไรบ้าง ? ญาณสามที่เป็นไปในทุกขนิโรธอธิบายไว้ว่าอย่างไร ?” อย่างนี้จะยากหน่อย
              เรื่องของหนังสือถวายพระนี่จัดเป็นธรรมทาน ของเราถวายอาหารเป็นวัตถุทานมาเยอะแล้ว มาเล่นธรรมทานกันบ้าง ซื้อมาสักอย่างละสามชุดก็พอนะ หมายความว่าพอเรียนสักสามคนก็พอ เพราะเฉพาะวัดหนึ่ง ๆ ไม่มากหรอก ไปรวมกันแล้วก็มากไปเอง
      ถาม :  สร้างหนังสือพระเวสสันดร สร้างหนังสือพระไตรปิฎก แล้วก็สร้างหนังสือสำหรับ ?
      ตอบ :  อันนั้นรู้สึกว่าจะมีตอนท้าย ๆ หน่อยเดียวจ้ะ แต่ในนักธรรมเอก เขาจะมีปฐมสมโพธิกถาเพิ่มมา มีมาสติปัฏฐานสูตรเพิ่มมา แล้วก็มีวิสุทธิ ๗ มีวิมุติ วิสุทธิ สันติ นิพพาน อะไรพวกนั้น จริง ๆ แล้วเขาต้องการให้คนทำได้จริง ๆ แต่ระยะหลังนี้มีแต่คนท่องได้
      ถาม :  คนทำเพราะไม่รู้ผิดมากกว่าคนที่ทำ เพราะรู้ใช่ไหมครับ ? เหมือนกับเวลาไปจับถ่าน คนที่ไม่รู้ว่าถ่านร้อนก็จับไปเต็ม ๆ มือเลยพอง แต่คนรู้ว่าถ่านร้อนก็จับถ่านเบา ๆ เลยทำให้มือไม่เจ็บมาก แต่อย่างไรคือไปจับถ่านเหมือนกัน ?
      ตอบ :  เฮ้ย...ผิดเว้ย คนไม่รู้ว่าสิ่งนั้นผิดแล้วทำ ถือว่าเขาทำโดยไม่รู้ แต่คนรู้ว่าสิ่งนั้นผิดแล้วทำ เป็นเพราะหน้าด้านใจด้าน ทำแบบไม่ละอาย โทษจะหนักกว่า ของเรามาดีความไม่รู้เข้ากับไม่ผิด แล้วไปยกตัวอย่างถ่านด้วยก็ยิ่งบรรลัย คนที่ไม่รู้เจตนาไม่เต็ม จะผิดน้อยกว่า กรรมเขาวันกันที่เจตนา ในเมื่อเจตนาไม่เต็มกรรมก็เลยน้อย
      ถาม :  การบวชพระในสมัยนี้ ?
      ตอบ :  การบวชนั้นมีทั้ง บวชซื้อรำคาญ บวชหนีสงสาร บวชผลาญข้าวสุก บวชสนุกตามเพื่อน บวชหนีสงสารตั้งใจบวชปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นหนีวัฏสงสาร บวชผลาญข้าวสุกมีแต่กินไปวัน ๆ หนึ่ง ประเภทไหว้ผ้าเหลืองห่มตอยังเข้าท่ากว่า บวชสนุกตามเพื่อนนี่ ถ้าเจอเพื่อนอย่างหลวงพ่อวัดท่าซุงก็ได้ดี บางครั้งก็เละไปเลย บ้านโน้นบวชมีโห่มีแห่กูเอาบ้างโว้ยอะไรอย่างนี้ บวชไปจะได้มีเพื่อน อยู่ไปอยู่มาถ้าเพื่อนปฏิบัติดีก็ดีไปด้วย ถ้าเพื่อนปฏิบัติชั่วก็ชั่วไปด้วย มีโอกาสขาดทุนมาก
              สมัยนี้เขาว่าบวชเพราะ “อกหัก หลักลอย คอยงาน สังขารเสื่อม เอือมเจ้านาย ยายให้บวชแก้บน” (หัวเราะ) อย่างหลวงพี่เหลิมนั่นบวชคอยงาน แกบอกว่ามีงานเมื่อไรก็สึก อกหักนี่รู้ใช่ไหม ? ช้ำอกขึ้นมาเออ...เข้าวัดดีกว่า หลักลอยคือไม่รู้จะทำอะไร เห็นเขาบวชอยู่ เฮ้ย...เข้าท่าเว้ย อย่างน้อย ๆ ก็มีกินทุกวัน สังขารเสื่อมนี่ แก่แล้วไม่รู้จะไปไหน ลูกหลานก็ไม่เอา บวชดีกว่า อย่างน้อย ๆ ก็มีคนคอยกราบไหว้ มีคนคอยให้การอุปัฏฐากค้ำจุนอยู่ เอือมเจ้านาย เบื่อขี้หน้าเจ้านาย ไปไหนไม่รอดก็หนีไปบวช อันสุดท้ายนี่น่าสงสาร ยายให้บวชแก้บน ประเภทนี้แทนที่จะบนตัวเองบวช กลับไปบนให้คนอื่นบวช
      ถาม :  ทุกรูปจะนั่งแบบมีสีหน้าเดียวกันหมด ท่านต้องทำอย่างนั้นหรือคะ ? ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นมารยาทของกษัตริย์หรือเปล่า ที่ไม่ต้องแสดงอารมณ์อะไรทั้งสิ้น ?
      ตอบ :  แสดงได้จ้ะ แต่ท่านที่อารมณ์ใจทรงเป็นสมาธิจะไม่ค่อยแสดงออก เพราะจิตกับประสาทแยกออกจากกัน อารมณ์กระทบไม่ค่อยจะเข้าไปปรุงแต่งใจได้ ส่วนอีกประเภทหนึ่งก็ต้องวางท่า อาการเลยออกมาเหมือนกัน
      ถาม :  วัดในกรุงเทพฯ พระลงปาฏิโมกข์บ้าง ไม่ลงบ้าง ?
      ตอบ :  ท่านไม่ได้ดูหัวแถวว่าอะไรเป็นอะไร หลวงพ่อสมเด็จฯ วัดปากน้ำ ท่านลงปาฏิโมกข์เป็นปกติ แต่ว่าลูกแถวไม่ค่อยจะลง พรรษาหนึ่งวัดปากน้ำพระจะล้นโบสถ์อยู่ครั้งสองครั้งเท่านั้น ไม่ใช่ปาฏิโมกข์ด้วย แต่เป็นการลงโบสถ์ตอนอธิษฐานพรรษาหรือตอนรับกฐิน นอกนั้นอย่าหวังเลยว่าจะเยอะอย่างนี้
              ที่วัดปากน้ำถ้าการปฏิบัติจริง ๆ ต้องหลวงพ่อเจ้าคุณราชพรหมเถร (วีระ คณุตฺตโม) ก่อนหน้านี้เป็นเจ้าคุณภาวนาโกศลเถระ หลวงพ่อสมเด็จฯ ท่านไม่เก่งเรื่องการปฏิบัติ แต่เรื่องระเบียบวินัยท่านเอาทุกอย่าง แต่พระใหม่ไม่ได้ดู อย่างของทางด้านวัดสระเกศนี่ หลวงพ่อสมเด็จฯ วัดสระเกศ ถึงจะเหนื่อยกับงานข้างนอกมาขนาดไหนก็ตาม สามทุ่มท่าต้องลงทำวัตร คนก็ไม่ดูเหมือนกัน ยิ่งวันพระนี่ได้ยินว่าท่านไม่รับกิจนิมนต์ เข้าอุโบสถอย่างเดียว ท่านที่ดีท่านก็รักษาระเบียบวินัยจนกลายเป็นภาระแบกไป ที่ไม่เอาไหนก็อาศัยเกาะกินไปวัน ๆ
              พระมหากัปปินะท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว วันนั้นเดินจงกรมอยู่เห็นว่าพระจันทร์ขึ้น พระจันทร์เต็มดวง อ้าว...วันอุโบสถนี่ วันพระจันทร์เต็มดวงนี่จริง ๆ แล้วพระอาทิตย์ยังไม่ทันตก พระจันทร์ก็ขึ้นไปครึ่งฟ้าแล้ว ไม่สว่างก็จริง...แต่มองเห็น ท่านก็เออ...วันอุโบสถต้องลงปาฏิโมกข์ แต่ตัวท่านอยู่ไกลถึงกลางป่า จึงคิดว่าเราเป็นพระอรหันต์แล้ว ไม่ต้องลงปาฏิโมกข์ก็ได้ พระพุทธเจ้าท่านทราบความคิด จึงเปล่งฉัพพรรณรังสีปรากฏเฉพาะนห้า เหมือนกับพระองค์ท่านเสด็จไปเอง ตรัสว่า “ดูก่อน...กัปปินะ ถ้าภิกษุทั้งหมดคิดแบบเดียวกับเธอแล้ว ศาสนานี้จะตั้งอยู่ได้อย่างไร” นั่นพระอรหันต์นะ พระพุทธเจ้าท่านยังไม่เว้นให้เลย
      ถาม :  ถ้าท่านเป็นพระอรหันต์ ทำไม่ท่านถึงไม่ต้องลงโบสถ์ ?
      ตอบ :  ของพระอรหันต์นี่ท่านมีสติวินัย คือสติท่านสมบูรณ์ เรื่องละเมิดด้วยความใจในศีลข้อต่าง ๆ ไม่มีสำหรับท่าน คือจะขยับตัวก็รู้อยู่แล้วว่าจะผิดศีลหรือเปล่า