ถาม : ................................
ตอบ: คือเราตั้งใจจะให้เสื่อม แล้วก็ไปลอด ถ้าอย่างงั้นก็เสื่อม แล้วเรามีโทษปรามาสพระรัตนตรัยด้วย แต่ขณะเดียวกันว่าถ้าหากว่าเป็นของสำนักที่ทำตามแบบของไสยศาสตร์เขาจะมีข้อห้ามของเขาอยู่ อย่างเช่นว่าห้ามลอดใต้ถุนร้าน ห้ามกินฟัก แฟง แตง น้ำเต้า ห้ามด่าแม่เขา ถ้าเราไปละเมิดข้อนี้ของเขาจะเสื่อมไปเลย
เพราะฉะนั้นไสยศาสตร์กับพุทธศาสตร์ต่างกัน พุทธศาสตร์นี้ส่วนใหญ่เป็นอานุภาพของพระ ของพรหม ของเทวดา มันจะยั่งยืนกว่า หลวงพ่อเดิมวัดหนองโพธิ์ ท่านทำเครื่องรางของขลังเอามาลูกศิษย์เอาไปใช้ มีลูกศิษย์คนหนึ่ง ถามว่า หลวงพ่อครับ วัตถุมงคลของหลวงพ่อลอดราวผ้าได้มั้ย? ลอดใต้ถุนร้านได้มั้ย? หลวงพ่อเดิมบอกว่างูเห่ามันเลื้อยลอดพระลอดราวผ้า แล้วลอดใต้ถุนร้านมากัดเอ็ง ๆ ตายมั้ย? คนถามบอกว่า ตายครับ หลวงพ่อเดิมบอกว่า ของ ๆ ข้าก็เหมือนกับงูเห่านั่นแหละ ลอดเท่าไรก็ไม่เสื่อม นั่นแสดงว่าเป็นพุทธานุภาพ
การฝึกปฏิบัติสำคัญที่สุดก็คือรักษากำลังใจของเราให้ทรงตัวต่อเนื่องกันให้ได้ ถ้ากำลังใจมันทรงตัวต่อเนื่อง รัก โลภ โกรธ หลง มันจะทำอันตรายเราไม่ได้ ส่วนใหญ่ของเราทำพอเลิกมาก็เอ้อระเหยลอยชายลืมไปเลย กำลังใจไม่ได้ รักษาต่อแล้วก็นั่งกลุ้มว่าทำมั้ย ทำไม ทำไม ตอนนี้มันวุ่น มันกลุ้ม มันทุกข์สารพัดสาระเพ ทำตัวเองทั้งนั้นเลย
ถาม: ..................................
ตอบ: หยอดตู้ไปเลย สังฆทาน วิหารทาน ธรรมทานน่ะ ธูปเทียน เอามานี่ ธูปเทียนของจำเป็นใช้อยู่ทุกวัน มา...ไว้บนนี้ ถ้าหากว่าพระที่เป็นพระจริง ๆ เครื่องบูชาเหล่านี้สำคัญ
คราวนี้ลูกศิษย์สายหลวงพ่อมักจะเคยชินเหมือนกันตัวทานบารมี ไปไหนก็ควักกระเป๋า ถึงเวลาก็ควักสตางค์วางลงไป ถ้าหากว่ามีดอกไม้ธูปเทียนไป พระที่เป็นพระจริง ๆ ท่านจะยินดีมากกว่าเงินทองเยอะ
อันดับแรกคือท่านยินดีในความดีของเรา การที่เรานำดอกไม้ธูปเทียนมาคือตั้งใจมาบูชาพระรัตนตรัย การบูชาพระรัตนตรัยคือเคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นกฏกติกาข้อแรกของการเข้าถึงพระโสดาบัน ถ้าท่านเห็นท่านจะดีใจว่าคุณใกล้พระโสดาบันแล้ว
แต่เห็นสตางค์เป็นคนละเรื่องเลย ไอ้สตางค์ในความหมายของท่านบางทีมันก็คือเศษกระดาษหรือเศษโลหะเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นถ้าไปหาพระที่เรามั่นใจว่าท่านเป็นพระดีแน่ ๆ ของเหล่านี้อย่าลืม ถึงมันจะเป็นอามิสบูชา บูชาด้วยสิ่งของก็ตาม แต่ว่าอามิสบูชาน่ะผลของมันจะเกิดในลักษณะว่าร่ำรวย ปฏิบัติบูชาผลมันจะเกิดในทางปัญญาดี ทำมันซะทั้งสองอย่างนั่นน่ะ จำไว้ให้แม่น ๆ บางคน เอ๊ะ...ทำไมต้องตั้งขันครู ต้องบูชาครูกันอยู่ตลอด จริง ๆ ทั้งหมดทำก็เพื่อตัวเราเองทั้งนั้น นั่นล่ะจำเอาไว้ให้แม่น เจตนาบริสุทธิ์ วัตถุทานบริสุทธิ์ ผู้ให้บริสุทธิ์ ผู้รับบริสุทธิ์ ทานนั้นมีผลเต็มร้อยส่วน คราวนี้ของเราเองเราเพิ่งทำกรรมฐานมากำลังใจมันต้องดีอยู่แล้ว
ถาม: ตอนนี้เริ่มอายุมากขึ้นค่ะ เริ่มไปวัดไปวานี่ก็จะเริ่มเจอคำถามแปลก ๆ หรือไม่บางอย่างที่ตอนเด็ก ๆ สงสัยน่ะค่ะ แล้วก็ยังไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ ก็เลยอยากเรียนถามหลวงพี่น่ะค่ะ ถามหลวงพี่เรื่องธูปเทียนดอกไม้ที่ถวายพระนี่หมายความว่าอย่างไร เทียนนี่จะจุดข้างไหนก่อนน่ะค่ะ ?
ตอบ: การถวายดอกไม้ธูปเทียนเป็นเครื่องบูชา คือเป็นการถวายแสงสว่างและของหอมเป็นเครื่องบูชา จัดเป็นอามิสบูชาอย่างหนึ่ง อามิสบูชาส่วนใหญ่ผลตอบแทนหรืออานิสงส์ของมันต่อไปในภายหน้ามันจะเกี่ยวกับเรื่องลาภผลเงินทอง แต่ถ้าเป็นปฏิบัติบูชามันจะเป็นด้านของปัญญา
คราวนี้การจุดธูปจุดเทียนน่ะ ตามความนิยมกัน เขาจะจุดด้านซ้ายของเราคือขวามือของพระก่อน จุดเทียนทางด้านซ้ายมือก่อนแล้วมาจุดทางด้านขวา แล้วธูปก็รวบปั๊บมาก็จ่อไปทางด้านซ้ายอีกเหมือนเดิม
ถาม: มีความหมายอะไรมั้ยคะ เป็นดอกไม้นี่ทำไมถึงนิยมถวายดอกบัวอะไรอย่างนี้ค่ะ ?
ตอบ: ดอกบัวส่วนใหญ่แล้วเขาถือว่าเป็นของสูง จริง ๆ แล้ว มันคล้าย ๆ กับปริศนาธรรมอยู่อย่างหนึ่งที่โบราณเขาถือกันมา อย่าลืมว่าดอกบัวต้นกำเนิดมันจริง ๆ คือยู่ที่โคลน แต่ว่าสามารถที่จะชูตัวเองจนกระทั่งพ้นโคลนขึ้นมา พ้นน้ำจนกระทั่งเบิกบานขึ้นมาได้
ท่านเปรียบในปริศนาธรรมที่ว่าคนเราทุกคนน่ะ ต่อให้มีชาติกำเนิดที่ต่ำต้อยหรือว่ามีการกระทำที่ย่ำแย่ขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้ามีความพยายามตั้งหน้าตั้งตาต่อสู้ฟันฝ่าทำความดีไว้สม่ำเสมอ ก็ย่อมมีโอกาสที่จะหลุดพ้นได้เหมือนกับดอกบัวที่ชูพ้นน้ำขึ้นมาเหมือนกัน
ถาม: แล้วการจบของน่ะค่ะ อย่างถ้าสมมติว่าถวายพระพุทธหรือว่าพระสงฆ์เป็นพวกอาหารหรือปัจจัยอย่างนี้น่ะค่ะ เวลาจบของควรจะจบแบบไหน จบอย่างไร ?
ตอบ: อธิษฐานเอานิพพานไว้ก่อน ถ้าขอนิพพานนี่อย่างอื่นได้หมดเองแหละ จะขึ้นยอดเขามันต้องละไปตลอดทางอยู่แล้ว
ถาม: แล้วอย่างที่เวลาเวียนเทียนที่เขานั่งเป็นวงกลม ๆ แล้วเวลาเวียนก็แบบอย่างนี้ ทำอย่างนี้ แล้วก็ปัดอย่างนี้ ?
ตอบ: นั่นถือตามแบบของพราหมณ์เขา คือมีการวนเข้าสามรอบ วนออกสามรอบ ตอนวนออกนั่นเขาเอาสิ่งไม่ดีออก ตอนวนเข้านั่นเขารับสิ่งดีเข้า เขาตั้งใจอย่างนั้น แต่คราวนี้วนออกแล้วไม่ทันจะไป เราไปวนเข้ามันก็กลับมาใหม่หรือเปล่านี่ไม่รู้ (หัวเราะ)
ถาม: แล้วเวียนยังไง เขาทำกันยังไง?
ตอบ: เขาเชื่อถืออย่างนั้นเขาทำกันอย่างนั้น มันเป็นรูปแบบของเขาของเราเองเราตั้งใจจุดถวายพระไปก็หมดเรื่องหมดราวไป
ถาม: การกรวดน้ำค่ะ อุทิศส่วนกุศลน่ะค่ะ สั้น ๆ น่ะค่ะ แล้วก็ให้ถึงทุกท่านทั้งที่มีกายเนื้อและก็ไม่มีกายเนื้อน่ะค่ะ ?
ตอบ: ถ้าอย่างนั้นเอาตามแบบของหลวงพ่อน่ะจ้ะ อิทัง ปุญญะผะลัง น่ะเคยท่องมั้ย? ผลบุญใดที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญแล้ว ณ โอกาสนี้ ข้าพเจ้าขออุทิศส่วนกุศลนี้ให้แก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย ที่เคยล่วงเกินมาแล้วแต่ชาติก่อนก็ดี ชาตินี้ก็ดี ขอให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายจงโมทนาส่วนกุศลนี้ ขอจงอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้า ตั้งแต่บัดนี้ตราบท้าวเข้าสู่พระนิพพานด้วยเถิด และขออุทิศส่วนกุศลนี้ให้แก่เทพเจ้าทั้งหลายที่ปกปักรักษาข้าพเจ้า เทพเจ้าทั่วสากลพิภพและพระยายมราช ขอเทพเจ้าทั้งหลายและพระยายมราชจงโมทนาในส่วนกุศลนี้ ขอจงเป็นสักขีพยานในการบำเพ็ญกุศลของข้าพเจ้าในครั้งนี้ด้วยเถิด และขออุทิศส่วนกุศลนี้ให้แก่ท่านทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้ว ที่เสวยความทุกข์อยู่ก็ดี เสวยความสุขอยู่ก็ดี เป็นญาติก็ดี มิใช่ญาติก็ดี ขอเธอทั้งหลายจงโมทนาในส่วนกุศลนี้ พึงได้รับประโยชน์ ความสุข เช่นเดียวกับข้าพเจ้าจะพึงได้รับ ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้เถิด และก็อธิษฐานปิดท้ายว่าผลบุญใดที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญแล้ว ณ โอกาสนี้ ขอผลบุญนี้จงเป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าเข้าถึงซึ่งพระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้เถิด
ถาม: แล้วการขอขมาพระรัตนตรัยล่ะค่ะ ?
ตอบ: การขอขมาพระรัตนตรัยนี่ เราพอทำความดีไปถึงระดับหนึ่ง ไม่ต้องมากหรอก แค่อุปจารสมาธิเท่านั้นตั้งใจทำจริง ๆ มารเขารู้ว่าเราจะพ้นมือเขาแล้ว เขาก็พยายามที่จะหลอกล่อเราทุกวิถีทาง ให้เราหลงผิดเป็นชอบ มีการปรามาสพระรัตนตรัยบ้างอะไรบ้าง
คราวนี้ถ้าหากว่าใครเป็นดังนั้นเขาให้ตั้งใจขอขมาพระ เพราะว่าการปรามาสพระรัตนตรัยนี่ แปลว่าเราไม่เคารพจริง ถ้าเราไม่เคารพในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จริง เราจะเข้าถึงความเป็นพระโสดาบันไม่ได้ ก็ให้ตั้งใจไว้ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เราล่วงเกินต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ไปแล้ว ด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจก็ดี จะโดยต่อหน้าหรือลับหลัง เจตนาหรือไม่เจตนาก็ดี ข้าพเจ้าขอกล่าวขอขมากรรมนั้นต่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าขอได้โปรดเมตตาอดโทษแก่ลูกตั้งแต่บัดนี้ ตราบท้าวเข้าสู่พระนิพพานด้วยเทอญ
ตั้งใจอย่างนี้แม้ว่าสิ่งนั้นเราไม่ได้เจตนาทำจะเป็นการดลอกดลใจของกิเลสมารหรือตัณหาอุปาทาน อกุศลกรรมใด ๆ ชักนำก็ตาม ถ้าเราเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์เรื่องเหล่านี้ เราไม่ทำอยู่แล้ว แต่เนื่องจากว่ามีการชักนำจากกิเลสมารหรือว่าตัณหาอุปาทาน อกุศลกรรมดลบันดาลให้เป็นไปก็ตาม ถึงไม่ใช่การกระทำของเรา เราก็เต็มใจขอขมา พยายามตื้อไว้บ่อย ๆ เจ้าพวกนี้มันกลัวคนหน้าด้าน ถ้าตื้อบ่อย ๆ สู้ไม่ได้มันถอยไปเอง ให้ขอขมาทุกครั้งเวลาจะสวดมนต์ไหว้พระ หรือว่าจะทำกรรมฐานอะไรให้ตั้งใจทำไว้ก่อน เพื่อกรรมส่วนนี้จะได้ขาดลง ไม่อย่างงั้นมันจะขวางอยู่เข้าไม่ถึงกระแสพระนิพพาน
ถาม: เวลาไปงานศพน่ะค่ะ แล้วเวลาขอขมาศพหรือเวลาที่ไปจุดธูปไหว้ศพให้พูดว่ายังไงคะ ?
ตอบ: ไม่ต้องพูดนะ ไหว้ไปหลายศพแล้วมันได้แต่ศพน่ะจ้ะ ให้ไปตั้งใจกราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ โดยเฉพาะพระธรรมตั้งโด่อยู่ตรงหน้าตายไปแล้ว ท่านบอกว่า ทุกอย่างไม่เที่ยง ทุกอย่างเป็นทุกข์ ไม่มีอะไรตั้งอยู่ได้เป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขา นั่นเขาก็ตายให้เราเห็นอยู่แล้ว อีกไม่นานเราก็ตายตามนั้น ตอนนี้สัจธรรมอันประเสริฐขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ตรงหน้าแล้ว น้อมกราบเคารพบูชาในความเป็นจริงที่พระองค์ท่านเห็น และลูกก็ทราบดีว่าอีกไม่นานลูกก็จะตายแหงแก๋ตามนี้ ถ้าตายเมื่อไหร่ขอไปอยู่กับพระองค์ท่านก็แล้วกัน เรามันไปไหว้แต่ศพ
ถาม: แล้วเวลาไหว้เจ้าที่เจ้าทางอย่างนี้ค่ะ จุดธูปกี่ดอก ?
ตอบ: จุดธูปกี่ดอก...มัดใหญ่ ๆ โรงงานผลิตธูปจะได้รวยมั้ง
ถาม: แสดงว่าเขาไม่มีกำหนดเหรอคะ ?
ตอบ: ไม่มีหรอกจ้ะ แล้วแต่เราชอบใจ จุดมัน ๕ ดอก ๗ ดอก ๙ ดอก ๑๖ ดอก แล้วแต่ที่เขาถือว่าเป็นตัวเลขที่ดี
ถาม: แล้วนั่งสมาธิกับเดินจงกรมน่ะค่ะ อย่างไหนดีกว่ากัน ?
ตอบ: ถ้าสามารถทำได้ก็เหมือนกัน เพราะว่าการที่เราทำสมาธิภาวนา จะเป็นอิริยาบถไหนก็ตามถ้าทำถึงมันมีผลเหมือนกันหมด แต่ว่าอานิสงส์ของการเดินจงกรมมันมีต่างหากออกมา คืออันดับแรกท่านบอกว่าธรรมะที่ได้จะไม่เสื่อมง่าย เพราะว่าได้ขณะที่เราเคลื่อนไหวอยู่ เวลานั่งภาวนาถ้าเราขยับลุกไปนี่กำลังใจมันอาจจะเคลื่อนไปได้ เพราะมันเปลี่ยนอิริยาบถ แต่ถ้าเราได้ในขณะที่อิริยาบถเคลื่อนไหวอยู่เป็นปกติอยู่แล้ว ถ้าเราไปนั่งก็กลายเป็นของง่ายไปเลย
อันดับที่สองทำให้อาหารย่อยได้ดี เลือดลมก็ปลอดโปร่งได้เร็ว ภาวนาได้ดีขึ้น อันดับต่อไปทำให้เป็นผู้มีความอดทนเดินทางไกลโดยไม่เหนื่อย ก็ลองเดินมันเช้ายันเย็นดูซิ พอชิน ๆ เข้าบ่อย ๆ ต่อไปพอไกลก็เป็นใกล้ไปเอง สิ่งทั้งหลายเหล่านี้จะเป็นอานิสงส์ต่างหากของเขา แต่ว่าจริง ๆ แล้วอิริยาบถไหนก็ตามถ้าทำถึงจริง ๆ มีผลเหมือนกัน แต่อานิสงส์จงกรมมันต่างหากออกมาหน่อยหนึ่ง
ถาม: ช่วงนี้ปฏิบัติพอสมควรค่ะ อย่างไม่ขาดทุกวัน ยังไงก็ทำ ?
ตอบ: จ้ะ
ถาม: มันเกิดการสับสนค่ะ ?
ตอบ: สับสนตรงไหน ?
ถาม: บางทีนึกไม่ออกค่ะ ว่าที่เราทำไปมันถูกหรือมันผิด ?
ตอบ: ถ้าหากว่ายังอยู่ในกรอบของทาน ศีล ภาวนา ไม่ผิดจ้ะ หลุดออกนอกกรอบของศีล ๕ มั้ย ? หลุดออกจากการภาวนามั้ย ? ก็ตรวจดูง่าย ๆ
ถาม: อย่างเวลาเราชี้แจงเหตุผลให้คนอื่นทราบน่ะค่ะ หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเหตุผลของเรามันไม่ถูกจิตถูกใจเขาน่ะค่ะ ถึงเป็นเหตุผลที่ถูก แต่บางครั้งคำพูดของเราอาจจะไปก่อกวนจริตของเขาได้ อย่างนั้นถือว่าเป็นการก่อกรรมเพิ่มมั้ยคะ ?
ตอบ: มันแล้วแต่ว่าเขาถือสามั้ย ถ้าเขาถือสาก็เป็น แต่อย่าลืมว่า ถึงแม้ว่าเราไม่เจตนาก็ตาม แต่บางอย่างมันก็เป็นกรรมได้ และ กตัตตากรรม กรรมที่ทำโดยไม่เจตนา ถ้ากรรมมวลอื่นไม่ได้ผลกรรม มวลนี้ก็อาจจะให้ผลได้ กตัตตากรรมนี้อย่าง
พระพุทธเจ้าไง ระหว่างที่ปลงอายุสังขารแล้วเดินจากปาวาลเจดีย์ไป เมืองกุสินารา อยากจะดื่มน้ำขึ้นมา เพราะว่ากระหายมาก ให้พระอานนท์ไปตักน้ำ ปรากฏว่า เกวียน ๕๐๐ เล่มเพิ่งลุยผ่านแม่น้ำไปขุ่นคลั่กเชียว พระอานนท์ก็กลับมากราบทูลว่าไม่มีน้ำ พระพุทธเจ้าตรัสว่าไปเถอะ มีอยู่ พอกลับไปน้ำขุ่น ๆ ไม่น่าเชื่อว่าเดินแค่นั้นมันใสแล้ว ท่านก็กรองน้ำถวายพระพุทธเจ้า พอฉันแล้วพระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าเป็นบุพกรรมที่ท่านทำไว้ ชาติหนึ่ง ท่านเป็นลูกชาวนา พ่อแม่ไถนาอยู่ทั้งวัน พอตอนเย็นปลดควายออกจากไถได้ ก็บอกให้จูงไปกินน้ำทีมันหิวน้ำแล้ว ท่านก็จูงไป ไอ้ควายหิวจนหน้ามืด เจอแอ่งน้ำมันก็พรวดเข้าใส่ ท่านเห็นว่าแอ่งน้ำนั้นมันขุ่นไปหน่อยหนึ่ง น่าจะให้มันกินน้ำใส ๆ จะได้ชื่นใจมากกว่า ท่านก็ดึงให้มันย้ายมาหน่อยเดียวแค่นั้นเอง เจตนาดีแท้ ๆ เขาเรียกว่ากรรมไม่ได้เจตนาทั้ง ๆ ที่เจตนาก็เจตนาดีแต่ว่ามันก็ยังอุตส่าห์ตามมาสนองท่านขณะที่เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว
ตรงจุดนี้ก็ให้ระวังไว้นิดหนี่ง บางอย่างเราหวังดี ปรารถนาดี แต่ใช้คำพูดผิด หรือว่าพูดผิดจังหวะ ผิดกาละเทศะ ผิดเวลา คนหนึ่งรับได้อย่างนี้ อีกคนรับไม่ได้ขึ้นมาก็บรรลัยเหมือนกัน เอาเหอะ อยู่ในโลกนี้มันต้องสร้างกรรมเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ยังไง ๆ ก็ให้มันจบลงแค่ชาตินี้ก็แล้วกัน
ถาม: ช่วงหลังนี่ทำไม... เขาว่านั่งสมาธิแล้วความจำจะดีขึ้น แต่ทำไมลืมอะไรง่ายกว่าปกติล่ะคะ ?
ตอบ: อันนี้ย้อนไปถึงก่อนถามเลย เราชราแล้วจ้ะ (หัวเราะ)
ถาม: คนอื่นเขายังไม่เป็นเลยค่ะ เรื่องชรายอมรับอยู่แล้วแต่ว่ามัน...?
ตอบ: พอเริ่มชราความจำมันก็ไม่ดีเป็นปกติ แต่คราวนี้ถ้าหากว่าเราจะตั้งใจจำอะไรนะ ถ้าเราสมาธิทรงตัว โดยเฉพาะทรงเป็นฌานเลย แล้วกำลังใจเรามุ่งมั่นอยู่กับสิ่งนั้น เมื่อถึงวาระถึงเวลามันจะนึกได้
คราวนี้ก็สำคัญอยู่ตรงที่ว่าสติสมาธิของเราเต็มที่แค่ไหน ถ้ามันไม่ได้ ถึงขนาดของเขาเราเองจำไม่ได้มั่งก็ช่างเหอะ มันเริ่มชราแล้วจ้ะ
ถาม: แล้วที่พูดบ่อย ๆ น่ะ รู้ทั้งรู้ทำไม่ได้ ไม่เข้าใจค่ะ ?
ตอบ: พยายามบ่อย ๆ คือเรื่องบางอย่างนี่เรารู้อยู่ว่าต้องทำอย่างไร แต่ว่ามันทำเท่าไรก็ยังทำไม่ได้ เพราะอันดับแรกกำลังของเรายังไม่เพียงพอ อันดับที่สองวาระและเวลามันยังมาไม่ถึง เหมือนเราปลูกต้นไม้ต้นหนึ่ง ดูแลรักษามาตั้งนาเนกาเลแต่มันยังไม่ออกดอก ออกผลซักที เพราะว่ายังไม่ถึงฤดูกาลของมัน
คราวนี้เราก็รู้ทั้งรู้ มันจะออกดอกออกผลแต่มันไม่ออกซักที ทำยังไงล่ะ รอ...รอ ด้วยความอดทนและใจเย็น ขณะเดียวกันสิ่งใดที่เคยทำเป็นความดีก็ย้ำแล้วย้ำอีก ทำแล้วทำอีกไปเรื่อย มันเหมือนยังกับว่า เราทวนแล้วทวนอีกจนกระทั่งมั่นใจ เหมือนก้าวข้ามจุดนั้นไป ผลก็จะเกิดแก่เรา ห้ามขี้เกียจ ต่อให้ย่ำเท้าอยู่กับที่ก็ต้องย่ำไม่งั้นแล้วมันจะถอยหลัง
ถาม: แล้วระยะเวลาที่รอประมาณแค่ไหนคะ ?
ตอบ: ประมาณแค่ไหน ?
ถาม: หมายถึงว่าต่อวันอย่างนี้ค่ะ ?
ตอบ: ๒๔ ชั่วโมงก็พอจ้ะ
ถาม: .........................................................
ตอบ: จริง ๆ ถ้าสำหรับนักปฏิบัติจริง ๆ ทิ้งช่องว่างแม้แต่นิดเดียวให้กิเลสมันแทรกเข้ามาได้ คราวนี้มันตีเราตายเลย แต่ว่าของเราเองนี่ เอาเป็นอันว่าถ้านึกได้เมื่อไหร่ก็รีบทำก็แล้วกัน
ถาม: อานาปานสติ?
ตอบ: จ้ะ ๒๔ ชั่วโมง อย่าให้มันขาดทุน ให้มันมีส่วนกำไรให้มากกว่าก็แล้วกัน
ถาม: ตอนนี้อยู่คนเดียวนานไป คราวนี้พอเราจะต้องมาพูดกับคนเยอะ ๆ ...?
ตอบ: สมัยหลังการอยู่ปริวาสน่ะ ...ไม่ทราบเหมือนกันว่าเขาไปปั่นข่าวเข้าจนกลายเป็นว่าถ้าได้ทำบุญกับพระออกปริวาสแล้วจะมีบุญมาก ตัวนี้น่ะมันพาบรรลัยเลย พระอยู่ปริวาสจริง ๆ เป็นพระที่ต้องอาบัติหนัก คือศีลข้อสำคัญขาดไปแล้ว ตัวเองขาดความเป็นพระไปแล้ว ต้องอยู่ปริวาสคือโดนกักบริเวณเป็นการลงโทษ ถ้าหากว่าโดนปุ๊บสารภาพปั๊บเลยก็โดนอยู่ ๖ วัน ๖ คืน ถ้าหากว่าโดนแล้วไม่สามารถที่จะกำหนดได้ว่าระยะนานเท่าไหร่...ลืม เขาให้นับตั้งแต่วันบวชมาจนถึงวันมาสารภาพ (หัวเราะ) ถ้าบวชมา ปีหนึ่งก็โดนปีหนึ่งกับ ๖ วัน เป็นการกักบริเวณเพื่อลงโทษ
คราวนี้พอครบแล้ว เก็บมานัตรัตติเฉท อะไรเรียบร้อยแล้ว ก็ให้พระสงฆ์ ๒๐ รูป เป็นอย่างน้อยสวดอัพภานคืนความเป็นพระให้ ถึงจะกลับมาเป็นพระอีกครั้งหนึ่ง ไอ้คนโดนหนักขนาดนั้นน่ะ มันสามารถสร้างข่าวจนกลายเป็นว่าทำบุญกับพระอยู่ปริวาสแล้วจะได้บุญมาก แล้วก็เลยมีการที่ว่าจัดเพื่อหาเงินกัน บางทีก็จัดหาคู่ โอ้โห...เป็นเรื่องที่มันมากเลย วัดคูหาสวรรค์ สุโขทัย เขาโดนปิดปริวาสไปเลย สั่งห้ามจัดตลอดชีวิตเลย เพราะว่าเขาจัดซุ้มปริวาสคือพระจะอยู่ในที่จำกัด ปรากฏว่าจะมีโยมเข้าไปแต่งซุ้มให้ให้อยู่ ลักษณะแบบว่าอยู่กึ่ง ๆ ป่า แขวนกลดอยู่อะไรอย่างนั้น คราวนี้ก็จะมีคนไปจอง ส่วนใหญ่ก็พวกสาวแก่แม่ม่ายนั่นแหละ ไปถึงก็ไปจอง เสร็จแล้วตกลงปลงใจกันได้ วันออกปริวาสก็สึกผูกข้อมือเพื่อนพระชยันโตให้เลย เป็นไง...คุณฟังแล้วน่าหวาดเสียวมั้ย ?
นั่นแหละ พอมันเละมาก ๆ เข้า ทางสุโขทัยก็เลยโดนสั่งห้ามจัดปริวาสไปเลย เพราะว่าลักษณะนั้นน่ะจะต้องโดนอาบัติซ้อนอาบัติไปแล้ว คือมีอยู่ข้อหนึ่งว่า ภิกษุเกี้ยวหญิงต้องอาบัติสังฆาทิเสส คราวนี้จะตกลงปลงใจกันได้มันต้องคุยกันแน่น่ะ ไม่คุยกันตีใบ้ก็โดน เขียนจดหมายก็โดน แสดงว่าโดนซ้ำเข้าไปแล้วแก้ตัวยังไงก็ไม่หลุด
ถาม: ..................................
ตอบ: คราวนี้เขาไม่เอาอย่างนั้น มันก็เอาแค่กำหนด ๗ วันนั่นแหละ พอออกมาเสร็จเรียบร้อยเขาก็ไปเลย
ถาม: พอโดนซ้อนต้องอยู่แบบ ...(ไม่ชัด)...?
ตอบ: มันก็ซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่นั่นน่ะ เสร็จแล้วพอมันจัดแล้ว เนื่องจากว่าโยมเข้าใจเสียแล้วว่าทำบุญกับพระอยู่ปริวาสจะได้บุญมาก เขาก็แห่กันไปทำ เจ้าของวัดได้กำไรก็เลยจัดกันบ่อย แต่ถ้าหากว่าจะจัดเอาอย่างเป็นอันเป็นธรรมจริง ๆ ต้องอย่างวัดซากสมอ วัดซากสมอนี่จัดเพื่อสงเคราะห์จริง ๆ สิบห้าวันนะ พระไปอยู่ต้องช่วยตัวเองตลอด ถึงเวลาวันนี้ฉันใช่มั้ย ? โต๊ะนี้มีหน้าที่เก็บกวาดเช็ดถูล้างอะไรก็ล้างไป ถึงเวลาคุณฉันเสร็จ คุณต้องไปนั่งกรรมฐานหนึ่งชั่วโมง เดินจงกรมหนึ่งชั่วโมง อะไรก็ทำไป จนถึงเวลาครบ ครบเวลาออกมาฉันน้ำปานะเสร็จแล้วต่างคนต่างเข้าที่ ภาวนาของตัวเองไป ถ้าอย่างนี้ละก็จัดแล้วได้บุญแน่ แต่ที่ทำ ๆ กันอยู่นี่ ไม่ค่อยแน่ใจว่าจัดแล้วจะได้อะไรกัน
ถาม: ..................................
ตอบ: คืออย่างน้อย ๆ ถ้าหากว่าคนที่ตั้งใจไปเพื่อแก้ตัวเองจริง ๆ มันก็ได้อยู่ แต่คราวนี้เจตนามุ่งหมายมันผิดไปซะแล้ว...ลำบาก ระยะหลัง ๆ นี้อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้น่ะ นานไปสัทธรรมปฏิรูป มันจะปรากฏมากขึ้นเรื่อย ๆ สัทธรรมปฏิรูปก็คือสิ่งที่แฝงคำสอนของท่านเข้ามา ยุ่งมากเลย เฮ่อ...ลำบาก
ถาม: ไม่เคยไป เพิ่งไป ไปที่นี่น่ะครับ ?
ตอบ: ดีจัง ผมเองน่ะก่อนหน้านี้คิดจะไปปริวาสเหมือนกัน เห็นเขาไปแล้วมันน่าสนุก แบกกลดแบกบาตรกันไปมันก็ธุดงค์ดี ๆ ปรากฏว่าได้แต่คิด รุ่นพี่เข้าไปกราบลาหลวงพ่อว่าขออนุญาตไปอยู่ปริวาส หลวงพ่อถามว่าแกโดนอาบัติข้อไหน ? ก็อึ้ง...บอกไม่โดนครับ ไม่โดนแล้วไปทำไม ? แกไปแล้วถึงเวลาแกไปอยู่ปริวาสแกก็ต้องมาสารภาพว่าแกผิดยังไง ในเมื่อไม่โดนแล้วไปบอกให้ตัวเองผิดก็โกหกเขาน่ะสิ ทางวัดท่าซุง ก็เลยไม่มีการปริวาสกับใครมาตลอด
ถาม: ที่ไปเพราะอยากรู้ว่าเป็นยังไง ?
ตอบ: ครับ ผมว่าถ้าไปลักษณะนั้นจะได้ประโยชน์มากเลย จะได้ศึกษารูปแบบเขาเอาไว้ และอีกอย่างหนึ่งว่าถ้าหากว่านาน ๆ ไป เราต้องไปเป็นเจ้าอาวาสจะต้องไปเป็นครูบาอาจารย์เขา ถึงเวลาถ้าลูกศิษย์เกิดจ้าก...เข้าไปโดนเข้ามันต้องแก้ได้ นั่นแหละครับตัวนั้นน่ะสำคัญที่สุด
ถาม: ไปศึกษาเอ่อ...เป็นยังไงนะอะไรนะ ?
ตอบ: แต่ว่าระยะหลังนี่มันมีรูปแบบอันหนึ่งที่ดี คือเขากั้นเขตต่างหากไปเลย ถ้าไม่กั้นเขตต่างหากนี่ พวกคุณเข้าไปเขาต้องมาคุกเข่าสารภาพทีละองค์เลย (หัวเราะ) เหนื่อยตายเลย
ถาม: ทำแค่ครึ่งคืนเช้าก็... ?
ตอบ: ก็เก็บรัตติเฉทเสร็จก็ออกมาทำโน่นทำนี่ไป ทำวัตรเย็นเสร็จกลับเข้าไปใหม่ แต่ถ้าหากว่าปริวาสแท้ ๆ ที่แบบอุกฤษฎ์นี่ประเภทแบบไม่ต้องเจอหน้าคนเลยจนกว่าจะพ้น
ถาม: ผมไปนี่แบบคืนก่อน ๆ นี่แหม...ก่อนที่ผมไป... (ไม่ชัด)... กลางคืนพระเข้ามาบ่อยเหลือเกิน ผมไปนี่ ...(ไม่ชัด)... หลวงพ่ออย่าให้มีพระเข้ามานะหลวงพ่อนะ ?
ตอบ: (หัวเราะ) ไม่งั้นไปสารภาพกับเขาแย่เลย
ถาม: บางทีเที่ยงคืนตีหนึ่งตีสองจะตีระฆังแม้ง ๆ ๆ ๆ แล้ว เขาว่าที่เขาว่ากันน่ะครับ ....(ไม่ชัด)... หลวงพ่ออย่าให้พระเข้ามา เข้ามาก็ได้ แต่ให้มาตอนเช้า ?
ตอบ: คือพระใหม่ ๆ น่ะ คุณฟังรูปแบบเอาไว้ให้ดี ถึงเวลามันจะได้ไม่ได้ไปทำผิด คือว่า พระที่โดนอาบัติสังฆาทิเสสนี่มันเท่ากับขาดความเป็นพระชั่วคราว ในเมื่อขาดความเป็นพระชั่วคราวนี่ ต่อให้เขาบวชก่อนกี่พรรษาก็ตามเขากลายเป็นพระใหม่ไป กลายเป็นคนที่อาวุโสน้อยกว่าเรา ถ้าเราเข้าไปเราเป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์เขาจะต้องมากราบเพื่อสารภาพว่าเขาทำผิดอะไร ตอนนี้ได้รับการลงโทษไปแล้วกี่วันกี่คืน ยังเหลืออีกเท่าไหร่ ต่อไปนี้จะไม่คิดไม่พูดไม่ทำอย่างนี้อีก เหมือนถ้าคุณเข้าไปซักสิบคนมันก็ตายแล้ว ต้องสารภาพเป็นสิบครั้ง เอ้อ...ลำบากครับ
เพราะฉะนั้นระวังให้หนัก หลวงพ่อท่านสอนผมตั้งแต่วันแรกที่บวช พออกจากโบสถ์ปั้บก็เอาพานดอกไม้ธูปเทียนไปกราบหลวงพ่อ หลวงพ่อท่านบอกว่าการบวชน่ะมันเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง คือมันเสี่ยงว่าเราเองจะเอาดีได้หรือว่าเราเองจะลงอเวจีไปเลย เพราะว่าพระโทษผิดทุกอย่างมันตั้งต้นที่อเวจีทั้งหมด อย่างเช่นว่าชาวบ้านถ้าฆ่าปลาวันละตัว ๆ ตลอด ๑๐๐ ปี คือเอาตั้งแต่เกิดยันตายเลยฆ่าทุกวัน สมมติอย่างงั้นน่ะนะ ปรากฏว่าตายแล้วลงอเวจี เขาเรียกว่า อาจิณกรรม แต่พระ...คุณทุบปลาตัวเดียวเท่านั้นแหละครับ ไปเลยที่เดียวกัน โทษของพระเราหนักกว่าชาวบ้านเป็นแสน
เนื่องจากว่าเราเป็นปูชนียบุคคล คุณลองนึกดูว่าคุณเอง...เอ้า...ถ้าสมมติว่าอายุ ๒๐ ปี พอคุณบวชเข้าไปปั้บพ่อแม่ปู่ย่าตายายต้องมาไหว้เราหมด ไอ้ของเราจะสูงกว่าท่านอยู่อย่างเดียวก็คือศีลล่ะครับ ถ้าเราไม่มีศีลมากกว่าเราจะเอาความดีอะไรไปให้ท่านไหว้ เลี้ยงดูท่านก็เลี้ยงดูเรามา อาวุโสท่านก็มากกว่า เรื่องทางโลกท่านก็รู้มากกว่า ในเมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วยิ่งออกไปบิณฑบาตนี่ยิ่งสะดุ้ง อะไร ๆ ก็ยกทูนขึ้นเหนือหัว เท่ากับว่าเราไปกินไปใช้อยู่บนหัวชาวบ้านเขา ทันทีที่คุณบวชเข้าไปเลือดเนื้อร่างกายไม่ใช่ของพ่อแม่แล้วครับ กลายเป็นของชาวบ้านที่เขาเลี้ยงคุณใส่บาตรให้คุณ ทุกส่วนมันเกิดจากอาหารที่เขาให้มาแล้วเรากินเข้าไป คุณเป็นหนี้เขาทันทีที่อ้าปาก กินข้าวคำแรกหลังจากที่บวชแล้วครับ
คราวนี้แหละใช้หนี้กันหัวโตละซิครับ ถ้าหากความดีไม่พอ ท่านบอกว่าการบวชถึงจะระยะเวลาน้อย แต่ถ้าตั้งใจทำดีก็เหมือนกับเพชร ถึงเม็ดเล็กก็ราคาสูง ถ้าบวชนานแต่ว่าทำชั่วมันก็เหมือนขี้ ยิ่งกองใหญ่ก็ยิ่งเหม็นมาก
|