ช่วงแรกของเล่ม "เส้นทางพระโพธิสัตว์"

สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๕(ต่อ)
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

      ถาม:  ............(เรื่องเว็บ)..........
      ตอบ:   ทำเว็บก็อย่าไปเถียงกันกับเว็บอื่น (หัวเราะ) ...ดู ๆ แล้วมันน่าเบื่อเหมือนกัน มันมีอยู่ ๒ สถานด้วยกัน สถานแรกคือ พอคุยไปคุยมา ต่างคนเกิดทิฏฐิขึ้นมา อย่างที่สองคือว่า ความรู้ยังไม่ถึงจุดนั้น ก็ชี้แจงแสดงเหตุให้เด็ดขาดลงไปไม่ได้ เลยกลายเป็นที่ถกเถียงกันไปเรื่อย พระพุทธเจ้าท่านก็บอกเอาไว้แล้ว จงอย่าพูดในเรื่องอันเป็นเหตุให้เถียงกัน เรื่องอันเป็นเหตุให้เถียงกันจำเป็นต้องพูดมาก บุคคลที่พูดมากจิตใจย่อมฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านก็จะห่างจากสมาธิ ท่านบอกเอาไว้ชัดเลย
      ถาม :  พระโสดาบันยังมีการคิดผิดไหม ?
      ตอบ:   ผิดอย่างไร ก็ไม่ผิดจากคำสอนพระพุทธเจ้า
      ถาม :  ยังมีเห็นแก่ตัวไหม ?
      ตอบ:   มีเพียงแต่ว่า อยู่ในลักษณะที่ท่านควบคุมได้ มันจะมีกรอบของมันอยู่ อย่างน้อย ๆ ถ้าหากว่า จะออกนอกกรอบของศีลท่านก็ไม่ไปด้วย คิดได้ แต่โอกาสจะทำน้อยโอกาสจะพูดน้อย
      ถาม :  สัตว์ที่มีชีวิตทั้งหลายที่เราซื้อปล่อยไป ในอนาคตการณ์จะมาผูกพันกับเราหรือเปล่า ?
      ตอบ:   อันนั้นก็ไม่ทราบเหมือนกัน เราอย่าไปผูกกับมันแล้วกัน มันจะผูกกับเรา เรื่องของมัน คือในลักษณะเราช่วยเขา ถ้ากลับมาก็ในลักษณะตอบแทน
      ถาม :  ผมนึก ๆ ตอนปลาลงไป ๕๐ ตัว พอปล่อยลงน้ำ ชาตินี้มาช่วยมันหลุดจากการโดนเขาฆ่ามาปล่อยลงน้ำ ชาติต่อไปต้องมาช่วยอะไรมันอีกหรือเปล่าหนอ เราต้องช่วยมันไปอีกเมื่อไหร่ เมื่อไหร่เราจะต้องเลิกช่วย ?
      ตอบ:   มันอาจจะถึงเวลาที่มันช่วยเราก็ได้
      ถาม :  แล้วผมก็ เอ! หรือเราเคยเป็นปลามาก่อน แล้วเขาปล่อยเรามาก่อน เราก็มาปล่อยเขาคืน
      ตอบ:   อย่าลืมว่า กำลังใจของพระพุทธเจ้าที่ท่านตั้งความปรารถนาจะช่วยขนถ่ายสัตว์โลกข้ามวัฏฏสงสารนี่ ท่านไม่ได้จำกัดจำนวนไม่ได้จำกัดระยะเวลา เต็มกำลังกาย กำลังสติปัญญาของท่าน ท่านก็ว่าของท่านเต็มที่ เพราะฉะนั้นในเมื่อกำลังใจของท่านเป็นลักษณะนั้น ของเรามีหน้าที่เราก็ทำของเราไป
      ถาม :  หลวงพ่อสอนว่า เดี๋ยวเราเป็นน้ำที่เต็มบาตร สามารถคว่ำบาตรให้น้ำออกหมดบาตรได้ทันที แต่อย่างเวลาผมจะช่วยใครสักคน เอ! ลูกเมียเราจะเดือดร้อนหรือเปล่า แล้วเราจะยับยั้งอย่างนี้ แสดงว่าเรายังไม่เต็มหรือเปล่า ?
      ตอบ:   อันนี้มันจะมีส่วนตรงที่ว่า ของเรามันทำ มันทำด้วยปัญญา ถ้าหากว่ามันเป็นศรัทธา เป็นอธิโมกศรัทธา ก็คือมีแต่ศรัทธาอย่างเดียว ขาดปัญญาประกอบ ทำให้คนรอบข้างเดือดร้อน บางทีมันก็ไม่ใช่ตัวเมตตาที่แท้จริง
      ถาม :  นิพพานเราไปได้ทุกขณะจิตหรือเปล่า ?
      ตอบ:   มันก็อยู่ที่เราจะไปมั้ย ? ถ้าจะไป มันไปได้ทุกขณะจิตอยู่แล้ว ถ้ามีความคล่องตัวในมโนมยิทธิ หรือ อภิญญา แค่นึกจะไปมันก็ไปแล้ว แล้วมันทุกขณะจิตมั้ยล่ะ ?
      ถาม :  มันไม่ชัด
      ตอบ:   ไม่ชัดจะเป็นไรไป ขอให้มั่นใจก็แล้วกัน
      ถาม :  อย่างเมื่อกี้ให้พรปั๊บ ผมก็นึกเลยว่า ขึ้นไปเลยข้างบน แล้วเอาตัวข้างล่างฟังให้พร
      ตอบ:   ก็นั่นแหละ ฉลาดแล้วที่ทำอย่างนั้น หลวงพ่อท่านบอกว่า เรื่องของนิพพานพยายามไปให้มันมากที่สุดในแต่ละวัน เอากำลังใจจดจ่ออยู่ตรงนั้น เพราะว่าการไปนิพพาน เป็นการตัดกิเลสด้วยวิธีที่รวบรัดที่สุด ขณะเดียวกันกำลังใจที่ส่งออกไปในลักษณะนั้น จะเป็นกำลังของฌานสมาบัติเขา เป็นการพักผ่อนวิธีหนึ่ง ท่านบอกว่าบางทีเหนื่อย ๆ ขึ้นมาวินาที สองวินาทีท่านก็เอา บางทีหลอกให้โยมพูดประโยคยาว ๆ หน่อย ตัวเองเผ่นไปแล้ว ง่ายมั้ย ? หลอกให้เขาพูดยาว ๆ
      ถาม :  แล้วทำท่านบารมีอย่างไร ที่ถึงว่าจะเต็มภพเต็มภูมิ โดยที่ทำแล้วได้ผลมากที่สุด ?
      ตอบ:   คงจะยาก ถ้าเต็มแล้วมันจะวัดด้วยจำนวนอะไรได้ ต่อให้ขนของมาเต็มโลก มันก็ยังไม่พอใจ มันต้องเต็มที่ใจ เพราะฉะนั้นถ้ากำลังใจมันเต็มเมื่อไหร่ ก็แปลว่าใช้ได้แล้ว...
      ถาม :  ในระหว่างที่เราจะนั่งปฏิบัติ ตัวผมไม่ชอบมุ่งเน้น บางทีคิดเรื่องนี้...สังขาร...ไปมั่วไปหมด
      ตอบ:   ทำอะไรต้องทำอย่างเดียว ให้มันได้ผลซะก่อน กรรมฐานมี ๔๑ แบบด้วยกัน คือกรรมฐาน ๔๐ กับมหาสติปัฏฐานอีกหนึ่ง ๔๑ แบบนี่ แบบใดแบบหนึ่งก็ตาม ถ้าหากเราทำสำเร็จแล้ว อีก ๓๙ แบบ หรืออีก ๔๐ แบบนั้นมันก็จะตามไปด้วยกัน คือกำลังมันเท่ากัน เปลี่ยนวิธีแค่นั้นเอง ต้องเอาให้ได้จริง ๆ อันหนึ่งก่อน ถ้าได้อันหนึ่งแล้วอันอื่นจะง่าย แต่ว่าไม่จำเป็นต้องศึกษาทั้งหมดก็ได้ หัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง ถ้าตั้งใจทำจริง ๆ เป็นพระอริยเจ้าได้ เป็นพระอรหันต์ได้ทั้งนั้น เพียงแต่ว่า บางคนชอบศึกษาหลาย ๆ อย่างด้วยกัน ก็ต้องทำให้ถึงที่สุดของผลของมัน ก็คือว่าอย่างน้อย ๆ ทรงเป็นฌาน ๔ ของโลกียอภิญญาให้ได้ พอถึงตอนนั้นแล้วก็ค่อยเจริญวิปัสสนาญานต่อ กำลังของฌาน๔ มันสูงพอ จะตัดกิเลสได้
      ถาม :  (เรื่องเกี่ยวกับกรมหลวงชุมพร) ถ้าเกิดไม่ไปไหว้กรมหลวงชุมพรที่ศาลที่ชุมพรแต่ว่าไหว้หรือบวงสรวง....
      ตอบ:   ที่ไหนก็ได้ เพราะว่าถ้านึกถึงท่าน ท่านก็รับรู้ได้อยู่แล้ว
      ถาม :  การที่เราไหว้ เสด็จพ่อกรมหลวง ฯ กับไหว้ท่านท้าววิรุฬหก อานุภาพ...?
      ตอบ:   ก็องค์เดียวกัน (หัวเราะ) ถ้าหากว่าไหว้เสด็จในกรมฯ ก็ถือว่าเป็นกันเอง สมมติว่าเราไหว้พ่อในบ้านเรา แต่ว่าเวลาพ่อไปอยู่ที่กองบัญชาการกองทัพบก พ่อก็คือผู้บัญชาการทหารบก (หัวเราะ) ตกลงว่าเราจะไหว้ในตำแหน่งพ่อดี หรือว่าไหว้ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกดี ก็เลือกเอา....นั่นแหละตัวอย่างของผู้ปฏิบัติแล้วได้ผลจริง
            แม้กระทั่งในชีวิตฆราวาส โดยเฉพาะอย่างรัชกาลที่ ๕ ก็ดี เสด็จในกรมฯ ก็ดี คนจะยกในระดับเดียวกับพระเลย จะสังเกตดูความเคารพของคนจะเคารพท่านแบบเคารพหลวงปู่ หลวงพ่อที่มีคุณความดีสูง ๆ อย่างนั้นเลย คนที่ทำคุณความดีเอาไว้จริง ๆ แล้ว ท่านถึงได้บอกไว้...อะไรนะ...เพลงทหารเรือ เพลงเก่า ๆ ที่เสด็จในกรมฯ ท่านแต่งเอง ท่านบอกว่าเกิดมาทั้งที จะดีก็ตอนยังเป็น อีก ๔๐๐ ปี ก็ไม่มีใครเขาเห็น ก็คือพอพ้นระยะที่ยาวนานไป คนก็จะเริ่มเลิกนึกถึง ยกเว้นแต่ว่าถ้ายังมีคุณความดีอยู่ คุณความดีนี้จะส่งผลให้ยาวนานไม่รู้จบ ท่านเองท่านก็เสด็จทิวงคตไปนานแล้ว แต่คนก็ยังระลึกถึงความดี ยิ่งนานก็ยิ่งขลัง การนับถือก็กว้างไกลไปเรื่อย ๆ
      ถาม :  แม่เขาชอบพูดว่า เขาจะขอใช้กรรมให้หมดในชาตินี้ แต่ไม่รู้จะไปอธิบายอย่างไร ?
      ตอบ:   ไม่มีใครใช้หมด แม้กระทั่งพระอรหันต์ก็ดี พระพุทธเจ้าก็ดี ที่เข้านิพพานไป ไม่มีใครใช้กรรมหมด แต่ว่าท่านทำความดีจนถึงที่สุดแล้วหลุดพ้นไป กรรมไม่สามารถจะตามทันได้ เพราะฉะนั้นของเรา ก็ตั้งหน้าตั้งตาทำความดีของเราไป ถ้ากรรมอันอันไหนมันเข้ามา เราก็ทำใจให้ยอมรับซะ ยอมรับในลักษณะที่ว่ามันเกิดขึ้นเพราะเราเคยทำไว้ ในเมื่อเราทำไว้มันเกิดขึ้นเรารับมันได้ มันก็จะสบายใจ ไม่ไปดิ้นรนต่อต้านอะไร แก้ไขเต็มสติกำลังแล้วแก้ไม่ได้ ก็ยอมรับว่าเป็นกฎของกรรม
            ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ตั้งหน้าตั้งตาสะสมความดีไว้ ไม่ไปกลุ้มใจกับกฎของกรรมที่มันเกิดขึ้น ถ้าทำอย่างนี้ไว้เดี๋ยวก็ไปเร็ว ถ้าเราพ้นไปก็ถือว่าหมด ถ้าหากว่ายังไม่พ้นเมื่อไหร่ มันตามทวงไปเรื่อย
      ถาม :  ....(เรื่องทรงหลวงพ่อ)... แล้วนี่เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เป็นของจริงหรือไม่จริง ?
      ตอบ:   จริงหรือไม่จริง ? มันใจได้เลยว่าปลอมแน่ ถ้าเป็นหลวงพ่อมาเพราะมีเหตุจริง ๆ คงอยู่ไม่เกิน ๓ นาที ๕ นาทีหรอก นั่นหมายความว่า ท่านต้องการจะใช้งาน หรือต้องการจะช่วยใครอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งมันฉุกเฉินจริง ๆ แล้วเขาเองเขาไม่สามารถจะรับได้ ถ้าพวกทั่ว ๆ ไป ลูกศิษย์ของท่านได้มโนมยิทธิทั้งนั้น จะใช้ใครก็ไปหาลักษณะนั้นมันไม่ง่ายกว่าไปประทับทรงมันมันเหนื่อยเรอะ ? หลวงพ่อท่านบอกว่าแกรู้มั้ย ? ว่าข้ายังไม่ทันจะตายเลย สำนักทรงหลวงพ่อฤๅษีลิงดำมีไป ๖๐ สำนักแล้ว ยังไม่ทันตายเลยนะปีนั้น ไม่รู้ว่า ’๓๔ หรือ ’๓๕ ? เราฟังแล้ว แหมชื่นใจ พ่อเรายังไม่ทันจะตายเลย เขาทรงกันไปบานเบิกแล้ว
      ถาม :  อย่างนี้ถ้าทรงแล้ว ไม่ได้เทศน์เรื่องธรรมะอะไร ก็น่าจะไม่มีใช่มั้ยครับ ?
      ตอบ:   ก็ควรจะเป็นอย่างนั้น หลวงพ่อท่านจะเอาเฉพาะเรื่องที่เป็นอรรถเป็นธรรม ถ้าหากไม่ใช่เรื่องของธรรมะ ท่านไม่คบด้วยเลย
      ถาม :  ....(ไม่ชัด)....ที่เคยให้ไป ไปตำทีเดียวเลยใช้ที ๓ วันอย่างนี้เลยได้มั้ย ?
      ตอบ:   มันค่อย ๆ ทำไม่ดีเรอะ เรื่องของยาถ้ามันสด คุณภาพมันจะดีกว่า โดยเฉพาะยาตัวหนึ่งที่กินเข้าไปแล้วแย่ไปตาม ๆ กัน ก็คือ มะเกลือ ที่ใช้ถ่ายพยาธิ เขาจะใช้ผลมะเกลือเท่าอายุ แต่ไม่เกิน ๒๕ หมายความว่า ถ้าคุณอายุเกิน ๒๕ ก็ใช้ได้แค่ ๒๕ ลูกเท่านั้น พอตำเสร็จเขาไปคั้นน้ำไปผสมกับกะทิ แล้วก็กินเข้าไปจะถ่ายพยาธิได้หมด
            คราวนี้คนขี้เกียจ ตำเสร็จแล้วไปแช่ตู้เย็นไว้ กินเข้าไปตาบอดไปหลายคนเลย เพราะว่ามะเกลือคั้นแล้วทิ้งไว้ตกตะกอน มันจะเป็นพิษ ต้องคั้นสดกินสด
      ถาม :  ตกลงที่บอกว่า ที่เอาหญ้าแพรก....?
      ตอบ:   ควรที่จะทำครั้งหนึ่ง กินครั้งหนึ่ง จะได้ของสดและคุณภาพดีกว่า เอาไปคั้นคาตู้เย็นไว้ ถึงอันตรายมันไม่มีก็จริง คุณภาพมันคงจะด้อยลงไป
      ถาม :  แล้วน้ำที่คั้นในแต่ละครั้ง ต้องให้พอดีถ้วยหนึ่ง หรือว่าเกินได้มั้ยครับ ?
      ตอบ:   เกินหน่อยก็ได้ หรือว่าถ้าไม่รังเกียจฟาดมันซะแก้วใหญ่ ๆ ก็ได้ แต่ถ้าจะให้มีคุณภาพต้องไม่ต่ำกว่า ๓๐ ซีซี.
      ถาม :  ผมลองทำดูแล้ว ปรากฏว่าก็ไม่เห็น...คืออาจจะเป็นเพราะ...(ไม่ชัด).... ผมเข้าใจว่าได้น้ำเยอะ แล้วแบ่ง ๓ ถ้วย
      ตอบ:   ไม่ใช่ ครั้งละถ้วย กำมือหนึ่งกับขมิ้นเท่าหัวแม่มือนะคั้นถ้วยเดียว... หญ้าแพรกหนึ่งกำมือ ขมิ้นชันเท่าหัวแม่มือ โขลกให้ละเอียด ละลายด้วยน้ำปูนใส คั้นให้ได้หนึ่งถ้วยชา กินก่อนอาหารเช้าอย่างน้อย ๓๐ นาที ถ้ารักษาโรคมะเร็งต้องไม่เกินระยะที่สอง ให้กิน ๓ วัน เช้าละถ้วย ถ้าหากรักษาโรคเบาหวานให้กิน ๓ วัน เว้น ๗ วัน แล้วกินอีก ๓ วันเว้น ๗ วัน กินอีก ๓ วัน เว้น ๗ วัน รวมแล้ว ๙ วัน กิน ๓ ครั้ง ๙ วัน ระหว่างที่กินอยู่ ก็เท่ากับเดือนหนึ่ง ๓ เว้น ๗ มันก็ ๑๐ ใช่มั้ย ? ก็เท่ากับระหว่างที่กินเดือนหนึ่ง เขาห้ามกินของหวานกับกะปิ เพราะฉะนั้นจะรักษาโรคเบาหวานนี่ลำบากหน่อย ถ้าเป็นโรคอักเสบภายในประเภทตับอักเสบ กระเพาะอักเสบ ลำไส้อักเสบ อะไรพวกนี้ รักษาได้ทั้งนั้น กินลักษณะเดียวกับมะเร็ง ก็คือว่ากิน ๓ วันเท่านั้น
      ถาม :  แล้วจะมีอาการบอกมั้ยว่า กินถ้วยแรกแล้วจะมีอาการอะไรขึ้นมาแล้วมีสิทธิ์จะหาย ?
      ตอบ:   ไม่มี อาตมาเคยกินเข้าไป หวานเจี๊ยบเลย ยังสงสัยอยู่เหมือนกันว่าตัวเองเป็นโรคอะไร มันหวานเหมือนยังกับใส่น้ำตาลเลย ลองทำกินดู เพราะเห็นว่ายามันไม่มีอันตรายอะไร กินเปล่า ๆ ก็ได้
      ถาม :  ทีนี้หญ้าแพรก กลัวว่าจะสกปรก ก็เลยเอาน้ำร้อนลวกหน่อย อย่างนี้เป็นอะไรมั้ยครับ ?
      ตอบ:   ล้างน้ำเปล่าก็พอ ไอ้ลวกน้ำร้อนนี้ วิตามินในผักในหญ้ามันยังไปซะหมดเลย
      ถาม :  ...มาโทษผมว่า แทนที่จะรักษาโรคมะเร็ง กลายเป็นเพิ่มท้องเสีย
      ตอบ:   ถ้าคนประเภทกลัวท้องเสียมากกว่ามะเร็งปล่อยมันตายไปซะดีกว่า เมื่อไม่นานนี้เอง ฝรั่งเพิ่งทำวิจัยว่า ขมิ้นชั้นชะลอความแก่ได้ หลวงพ่อท่านก็บอกถ้าไม่มีโรคอะไร ๓ เดือนทำกินครั้ง ๆ จะแก่ช้า ฝรั่งมันเพิ่งจะวิจัยเจอประกาศออกทางอินเตอร์เน็ตกันครึกโครมเลย
      ถาม :  สมองหมูล่ะครับ! นี่ช่วย...?
      ตอบ:   ยังไม่รู้เลย แต่ว่าจริง ๆ หมูมันไม่เคยแก่ตาย พออายุได้เขาก็เชือดมันแล้ว เพราะฉะนั้นถ้ากินสมองหมู อาจจะไม่แก่จริง ๆ คือตายเลย (หัวเราะ)
      ถาม :  มีความเคารพในพระรัตนตรัย แต่บางครั้งมีความสงสัยในจริยาของพระสงฆ์ จะสงสัยอย่างไรไม่ให้ปรามาส ?
      ตอบ:   พูดง่าย ๆ คือว่า ถ้าหากสิ่งที่ท่านทำ มันค้านกับพระไตรปิฎก หรือศีลของพระ ก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าจะไม่ดีจริง
      ถาม :  แต่ถ้าเกิดเราไปพูดกับเพื่อนฝูง...
      ตอบ:   ลักษณะของการที่เรียกว่าปรามาสพระรัตนตรัย เขาหมายเอาโน่นเลยนะ พระอริยเจ้า แต่ว่าทั่ว ๆ ไปของเรา ถ้าเป็นสมมติสงฆ์ ถ้าเป็นปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ถึงไม่ใช่พระอริยเจ้า เราก็ให้ความเคารพอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าบางรายนี่ท่านออกนอกคอกไปเยอะ มันก็น่าสงสัยอยู่ ถ้าจะเอาปลอดภัยก็อยู่ในลักษณะไม่เชื่อแต่อย่าลบหลู่ ไม่รู้ไม่ชี้ไปซะเลย
      ถาม :  เรื่องของการให้พร พระที่ให้พรคนที่มาทำบุญ หรือที่เขาบอกว่า คนทั่วไปให้พรกันว่า ขอให้มีความสุข อันนั้นมีผลจริงหรือเปล่า ?
      ตอบ:   มีผลจริง ๆ อย่าลืมว่าแต่ละคนได้สร้างบารมีมาไม่ใช่น้อย สิ่งที่เขาบอกกล่าวออกไปด้วยความหวังดี ปรารถนาดี อย่าลืมว่าตัวเขาไม่ใช่ตัวคนเดียว แต่ละคนล้วนแล้วแต่มีเทวดาประจำตัว ผู้ที่รักษาตัวทั้งนั้น ในเมื่อเราตั้งใจส่งความปรารถนาดีให้คนอื่นเขา เทวดาประจำตัวของเรา ถ้าเห็นว่าไม่เกินวิสัย ก็จะช่วยสงเคราะห์ให้เขาด้วย
            ส่วนเรื่องของพระ ถ้าหากว่ารู้จัก จริง ๆ รู้วิธีจริง ๆ ท่านจะให้โดยลักษณะว่าท่านเป็นตัวแทนเท่านั้น อย่างของหลวงพ่อท่านสอนพระ ท่านบอกเวลาแกให้พร ท่านให้นึกถึงพระพุทธเจ้า ว่าพระพุทธเจ้าเป็นผู้ให้พร ตัวเราเป็นผู้ที่ผ่านจากพระองค์ท่าน โดยที่เป็นเสียงของเราเท่านั้นเอง ถ้าหากว่าขนาดพระพุทธเจ้าให้แล้วไม่มีผล ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้ว
      ถาม :  เรื่องของการสวดมนต์ อย่างในหนังสือสวดมนต์ที่เขาบอกกันว่า อย่างเช่นพระคาถา อาการวัตตสูตร สำหรับผู้ที่ชะตาขาด สวดครั้งหนึ่งหมดเคราะห์ไป ๔ เดือน อย่างนี้จริง เท็จ ประการใด ?
      ตอบ:   ก็ต้องดูว่าสวดเป็นมั้ย ? ถ้าหากว่าสวดเป็น กำลังใจทรงตัวจริง ๆ มันอาจจะเยอะกว่า ๔ เดือนก็ได้ ถ้าหากว่าสวดสักแต่ว่าให้มันจบ ๆ ไปดีไม่ดี ๔ วันยังไม่ได้เลย มันขึ้นอยู่กับคุณภาพของใจของเราตอนนั้น ถ้าคุณภาพของใจของเราขึ้นถึงสูงสุด เป็นต้นว่ายกจิตไปสวดถวายพระบนนิพพานเลย ตัวบุญมันก็จะมาก ตัวบุญที่มากกำลังมันสูง มันก็จะห่างบาปออกไป บาปไล่ไม่ทัน ในเมื่อบาปไล่ไม่ทัน ผลที่มันจะเกิด ที่เราเรียกว่าเคราะห์ มันก็ไม่เกิดกับเรา ถ้ายิ่งทำบ่อย ๆ ยิ่งดี ไม่ใช่สวดทีแล้วเว้นไป ๔ เดือน เดี๋ยวก็โดนไป ๓ เดือนครึ่ง
      ถาม :  เรื่องของอานิสงส์ของคาถา อย่างที่เขาระบุไว้ จริงอย่างที่เขาระบุไว้หรือเปล่า ?
      ตอบ:   ถ้ากำลังใจของเรายึดมั่นจริง ๆ มันจะเป็นไปตามนั้น ตัวของคาถามันขึ้นอยู่กับคุณภาพของใจของเรา ที่เมื่อกี้ว่าแล้วเหมือนกัน ใจยิ่งมีสมาธิสูงเท่าไหร่ ผลของคาถาก็ยิ่งเกิดมากเท่านั้น แต่มันเกิดในลักษณะมโนมยา สำเร็จด้วยใจ คือเราคิดให้มันเป็นอย่างนั้น ถ้ากำลังใจของเรามันถึง มันจะเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ต่อให้ใช้คาถาบทอื่นที่เขาบอกว่าใช้ในด้านอื่น แต่ถ้าเราตั้งใจให้เป็นอย่างนี้ ถ้ากำลังใจเราถึงมันก็จะเป็นอย่างนี้
      ถาม :  ถึงแม้ว่าเราจะมีเคราะห์กรรมก็ตาม ?
      ตอบ:   ถ้าหากว่าเราสามารถทำตรงจุดนั้นได้ เคราะห์มันก็เบาลงแน่ ๆ แล้ว เพราะเราไปนั่งภาวนาอยู่ มันเป็นการคลายไปอยู่แล้ว ส่วนเรื่องที่ว่าคิดให้เป็นอย่างไร มันก็เป็นอย่างนั้น ต้องดูตัวอย่าง หลวงพ่อเนียม วัดน้อย ท่านบอกว่าท่านโดนงูเห่ากัดเสร็จแล้วไปนั่งเป่า ๆ มันก็หาย หลวงปู่ปานท่านถามว่าใช้คาถาอะไรครับ ? ท่านบอกเจ็ดตำนานทั้งหัว ชอบบทไหนก็ว่าไปเถอะ แล้วอีกทีหนึ่งท่านก็บอกว่า ท่านท้องร่วงเพราะว่าโดนผีมันแกล้ง ท่านไปช่วยคนเข้า แล้วผีที่มันจะเล่นงานคนนั้น ทำเขาไม่ได้ก็ตั้งใจตามท่าน เผลอเมื่อไหร่กูเอาแน่ ปรากฏว่าท่านบอกท่านเผลอตอนเข้าส้วม ผีมันถือไม้แหลมอยู่อันหนึ่ง พอท่านเข้าส้วมก็พุ่งใส่ท้อง ท่านบอกว่าท่านถ่ายท้องโจ๊กเดียว หมดแรงเลย เพราะฉะนั้นลักษณะถ่ายท้อง ที่บางทีไม่ใช่อาการปกติ ผีมันแกล้งเอาเหมือนกัน เสร็จแล้วท่านบอกใจมันหวิว ๆ ไม่รู้เหมือนกันว่าจะแก้ไขอย่างไร ก็กลับกุฏิไปก็ว่าคาถาเป่าตัวเองไปเรื่อย แล้วก็หาย หลวงปู่ท่านถามว่าคาถาอะไรครับ ? ท่านก็บอกเจ็ดตำนานทั้งหัวนั่นแหละ ชอบบทไหนก็ว่าเอาบอกแล้วว่ามันขึ้นอยู่กับคุณภาพของใจ มโนมยา สำเร็จด้วยใจ ในเมื่อมันสำเร็จด้วยใจ คิดให้เป็นอย่างไรมันก็เป็นอย่างนั้น เพียงแต่ว่ากำลังใจของเรามันถึงมั้ย ? ถ้าถึงนี่คาถาอะไรก็ได้ผลเหมือนกัน
      ถาม :  เรื่องของคำว่าสำเร็จด้วยใจ รวมไปถึงทุกเรื่องเลยมั้ยครับ ?
      ตอบ:   ทุกเรื่อง ต้องดูตัวอย่างหลวงปู่ฝั้น ท่านบอก ถ้าใจดีอะไร ๆ ก็ดีหมด ถ้าใจไม่ดี อะไร ๆ ก็ไม่ดีทั้งหมด คือเท่ากับตัวเองไปแช่งตัวเอง มันก็ดีไม่ได้ แต่ถ้าหากเราคิดว่าดี แล้วกำลังใจเรามีคุณภาพสะอาดบริสุทธิ์จริง ๆ มันดีจริง ๆ
      ถาม :  คนโบราณเขาบอกห้ามพูดคำไม่มงคลกับตัวเอง ก็เพราะเหตุนี้
      ตอบ:   จริง ๆ คือถ้ายังถือสาอยู่มันมีผล กลายเป็นตัวเราแช่งตัวเราเอง พอพูดไปเสร็จแล้ว เอ๊ะ! ไม่ดีนี่หว่า ๆ ไปตอกย้ำอยู่ มันเลยไม่ดีซะจริง ๆ
      ถาม :  เกี่ยวกับจิตตกมั้ย ?
      ตอบ:   คือคนทั่วไปมันตกง่ายอยู่แล้ว ยิ่งไปทำผิดในสิ่งที่เขาห้าม ๆ ไว้ ก็คิดว่าตัวเองละเมิดในสิ่งที่ไม่สมควร ก็ยิ่งแช่งตัวเองหนักเข้าไป
      ถาม :  อย่างพวกท้อแท้ สิ้นหวัง อันนี้ใช่มั้ย ?
      ตอบ:   อันนั้นแสดงว่า กำลังใจมันแย่จริง ๆ ต้องอาศัยคนอื่นช่วยหน่อย