ถาม:  การเป็นพระโสดาบันเป็นยากหรือไม่ ? แล้วต้องทำกันอย่างไรบ้าง ?
      ตอบ:   การเป็นพระโสดาบันขึ้นกับกติกา ๕ ข้อ ข้อที่หนึ่ง ต้องเคารพพระพุทธเจ้าจริง ๆ ข้อที่สองต้องเคารพพระธรรมจริง ๆ ข้อที่สามต้องเคารพพระสงฆ์จริง ๆ การเคารพจริง ๆ นี่ก็คือไม่ล่วงเกินด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจทั้งต่อหน้าและลับหลัง ข้อที่สี่ต้องเป็นผู้ที่รักษาศีลทุกสิกขาบทให้บริสุทธิ์ คำว่าศีลบริสุทธิ์นี่ไม่ทำให้ศีลล่วงด้วยตัวเอง ไม่ยุให้คนอื่นเขาทำ ไม่ยินดีเมื่อคนอื่นเขาทำ ข้อสุดท้ายให้ตั้งกำลังใจว่าตายเมื่อไหร่เราจะไปพระนิพพาน ถ้าเห็นว่า ๕ ข้อมันเยอะไปรักษายากก็คิดว่า เรารักษาศีลเพราะเราคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เรารักษาศีลเพราะเราต้องการไปนิพพาน เอาแค่ศีลอย่างเดียวก็ได้ พระโสดาบันกำลังใจมีแค่นี้ ถ้าเราสามารถรักษากติกานี้ได้เราก็คือพระโสดาบัน
      ถาม:  การเป็นพระโสดาบันท่านว่ากรรมเก่าตามไม่ทัน และถ้าเราจะทรงอารมณ์พระโสดาบันหนึ่งนาทีแต่ทำบ่อย ๆ อันนี้จะเกิดผลดีแก่เราหรือไม่อย่างไรครับ ?
      ตอบ:   การเป็นพระโสดาบันกรรมเก่ายังตามทันเป็นปกติ เป็นพระสกิทาคามีกรรมเก่าก็ตามทันเป็นปกติ พระอนาคามีกรรมเก่าก็ตามทันเป็นปกติ มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่เศษกรรมเท่านั้นตามได้ เพราะว่าคนเข้าถึงความบริสุทธิ์ถึงที่สุด กรรมทุกอย่างจะเป็นอโหสิกรรมไปเลย การที่เราสามารถทรงอารมณ์พระโสดาบันได้วันละนาทีสองนาทีจะเล็กน้อยขนาดไหนก็ตาม อย่างน้อย ๆ มันเป็นมรรคคือการที่เราเข้าไปถึง อานิสงส์ย่อมมีมากมหาศาล
              แต่ถ้าหากว่าเราพยายามย้ำบ่อย ๆ เข้า เดี๋ยวมันจะทรงตัวอยู่ มันก็จะเป็นผล คือเป็นสิ่งที่เป็นสมบัติของเราเลย ฉะนั้นต้องซ้อมบ่อย ๆ ยิ่งทำบ่อยมากเท่าไหร่ก็มีโอกาสเป็นได้มากเท่านั้น หัดเป็นเศรษฐีหัดไปหัดมาเดี๋ยวมันชำนาญมันก็เป็นเองจริง ๆ แต่คราวนี้หัดเป็นเศรษฐีต้องรู้ว่า เศรษฐีกว่าจะหาตังค์ได้มันเหนื่อยแค่ไหน (หัวเราะ)
      ถาม:  การที่พระเดชพระคุณท่านได้กล่าวไว้ว่า พระโสดาบันจะต้องได้พบพระพุทธเจ้าก่อน ท่านที่พบได้พบในทางมโนมยิทธิหรือระดับอภิญญาขึ้นไป ?
      ตอบ:   จริง ๆ ตัวนี้เป็นคำที่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า โยธัมมัง ปัสสติ โสมัง ปัสสติ ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา เห็นพระพุทธเจ้าในส่วนที่เป็นนามธรรม คือเป็นพุทธคุณแท้ ๆ ไม่ใช่องค์ท่าน บุคคลที่เข้าถึงธรรมจริง ๆ จะรู้เลยว่าพระพุทธเจ้าที่แท้จริงเป็นอย่างไร พระธรรมที่แท้จริงเป็นอย่างไร พระสงฆ์ที่แท้จริงเป็นอย่างไร ถึงได้บอกว่าต้องพบพระพุทธเจ้าก่อน
              แต่ว่าบุคคลที่ได้อภิญญา ได้ปฏิสัมภิทาญาณหรือว่าได้วิชชาสามนี่สามารถเห็นหรือไปพบพระพุทธเจ้าได้เป็นปกติอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าหากว่าเป็นในลักษณะนั้นก็เป็นลักษณะของคนที่ได้วิชชาสอง อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ หรืออะไรอย่างหนึ่ง แล้วก็เป็นบุคคลที่เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า รู้ว่าพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่แท้จริงเป็นอย่างไรอย่างหนึ่ง อีกประเภทหนึ่งก็คือเกิดทันพระพุทธเจ้า ได้รับฟังคำสอนจากท่านโดยตรง
              แต่จริง ๆ แล้วพระอริยเจ้าทั้งหมดถ้าได้รับคำสอนที่ถูกต้องไม่ว่าจากผู้ใดผู้หนึ่งก็ตามแล้วปฏิบัติตาม โอกาสที่จะได้เป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ยังมีเต็มที่ขอให้เป็นธรรมะที่ถูกต้องเท่านั้น
      ถาม:  ความอยากได้ฌานจะส่งผลในการปฏิบัติหรือไม่ครับ ?
      ตอบ:   รับรองว่าไม่มีวันได้เลยถ้ายังอยากอยู่ ตัวอยากมันเป็น อุทธัจจะ กุกกุจจะ คือความฟุ้งซ่าน จิตที่ยังฟุ้งซ่านแปลว่านิวรณ์ ๕ ยังกั้นอยู่เต็มที่ ถ้านิวรณ์มันกั้นจิตอยู่โอกาสจะทรงฌานมันไม่มี มีอยู่อย่างเดียวก็คือ ถึงเวลาเราภาวนาไปลืมความอยากนั้นเสีย คิดว่าเรามีหน้าที่ภาวนา มันจะเป็นอย่างไรเป็นเรื่องของมัน ถ้าตัดกำลังใจแบบนี้ได้จะเข้าถึงฌานได้เร็ว
      ถาม:  การสวดมนต์ตามหนังสือได้อธิบายถึงอานิสงส์หลายประการซึ่งเป็นเรื่องดีทั้งสิ้น คราวนี้มีการสวดมนต์ประเภทหนึ่งที่ว่าสวดแล้วต้องรวยแน่ ๆ ต้องดีแน่ ๆ ต้องเจริญขึ้นแน่ ๆ ขอให้รวย ๆ การตั้งกุศลและเจตนาในการสวดมนต์ของบรรดาพุทธบริษัททั้งหลายเราควรตั้งใจในการสวดมนต์อย่างไร ? และการตั้งใจข้างต้นเช่นว่ารวยแน่ ๆ หรือว่าจะได้จริง ๆ ไหม ? อันนี้จะเป็นผลในการปรามาสหรือไม่ ?
      ตอบ:   จริง ๆ แล้วการสวดมนต์ภาวนาทุกอย่างเป็นการทำความดี ให้เราตั้งใจว่าเราทำเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา อานิสงส์คือผลบุญที่ควรจะได้เราตั้งความปรารถนาไว้ที่พระนิพพานอย่างเดียว
              ส่วนเรื่องของบทสวดหรือว่าคาถาบางอย่างที่สวดแล้วจะรวย ต้องทำกำลังใจให้ถูกต้องด้วย ถ้าเราอยากรวยอยู่สวดให้ตายมันก็ไม่รวย เพราะว่ามันอยู่ในความฟุ้งซ่านที่ว่ามาเมื่อครู่นี้ เรื่องของคาถาหรือว่าบทสวดมันต้องใช้กำลังใจสูงมาก เป็นกำลังใจระดับอภิญญา
              คราวนี้คนที่เป็นอภิญญาได้จะต้องเป็นคนจริงจังและสม่ำเสมอ เราต้องสวดภาวนาอยู่สม่ำเสมอจริงจังไม่เหลาะแหละ และต้องไม่ตั้งใจว่าจะสวดเพื่อให้รวย ให้คิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราตั้งใจทำเพื่อสรรเสริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ส่วนผลพลอยได้จะพึงมีเพียงใดก็ตามเป็นเรื่องของมันไม่ใช่เรื่องของเรา เรื่องเหล่านี้เป็นไปได้จริงแต่ต้องวางกำลังใจให้ถูก คาถาทุกบทใช้ได้ผลจริงตามนั้นถ้ากำลังใจของเราวางได้ถูกต้อง
      ถาม:  เรื่องสัจจะ ถ้าเราตั้งใจว่าจะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งโดยได้ลั่นวาจาไว้แล้ว แต่มีคนอื่นทำให้เราต้องเสียเหตุในสัจจะ เราจะทำอย่างไรกับคนที่ไม่รักษาคำพูดกับเราบ่อย ๆ ก) เลิกคบ ข) ให้อภัย ค) ดูเป็นกรณีไป ง) เฉย ๆ
      ตอบ:   ดูเป็นกรณีไป คนที่ผิดพลาดบ่อย ๆ ผิดการนัดหมายบ่อย ๆ สัจจบารมีเขายังพร่องอยู่ ถ้าหากว่าเราเมตตาเขามีโอกาสก็สงเคราะห์เขา ถ้าหากว่าประเภทไม่เมตตากรุณาเขาเลยบางทีเขาก็เสียโอกาสเหมือนกัน ดังนั้นเลือกดูเป็นกรณี ๆ ไป ถ้าถึงขนาดเลิกคบเลย บางทีเขาเองต้องอาศัยเราเพื่อที่จะปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงขั้นสูงขึ้นไป เราเลิกคบเสียเขาก็หมดโอกาสนั้นไปเลย
      ถาม:  ครั้งหนึ่งประธานาธิบดีซัดดัมได้ครองประเทศ ต่อมาสหรัฐได้เข้ามายึดครองประเทศ ด้วยข้อหามีอาวุธทำลายล้างสูง และสุดท้ายก็ถูกจับไม่เหลือสภาพเดิมเลย เราควรทำใจอย่างไรเมื่อสภาพของการเปลี่ยนแปลงในทางลบเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ? คำพระท่านว่าในโลกนี้ประกอบไปด้วยความว่างเปล่า คำว่า “ว่างเปล่า” ว่างเปล่าจากอะไร ? และมีความหมายอย่างไร ? ในความเห็นที่ว่า ในโลกนั้นก็มีความสุข และความทุกข์อยู่เต็มโลกจะขัดแย้งกันหรือไม่ ? สภาพความไม่เที่ยงมีความหมายในเชิงความเป็นอนัตตาและความทุกข์อยู่ด้วยหรือไม่ครับ ?
      ตอบ:   ความว่างเปล่าตัวนี้ก็คือว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง และสลายไปในที่สุด ต่อให้สิ่งที่เราเห็นว่ามั่นคงที่สุดอย่างภูเขา มันก็ค่อย ๆ สลายตัวไปช้า ๆ มันอาจจะอีก ๕ ล้าน ๑๐ ล้านปีข้างหน้า มันก็หมดสภาพของมันไปกลายเป็นไม่มีอะไรเลย ดังนั้นว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องสลายไปแม้กระทั่งโลกที่เราอาศัยอยู่ ดังนั้นสภาพความเป็นจริงแท้ของมันคือไม่มีอะไรเลย
              คราวนี้พอทุกสิ่งทุกอย่างที่ไม่เที่ยง ถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นว่ามันต้องเที่ยงเราก็จะทุกข์ อย่างเช่นว่าคนเราต้องตายเป็นปกติ แต่พอตายแล้วเราไม่อยากให้ตายก็ร้องห่มร้องไห้คร่ำครวญกันอยู่ คือจริง ๆ แล้วว่าถ้าทุกสิ่งไม่เที่ยงมีสภาพยึดถือมั่นหมายไม่ได้ ก็เป็นอนัตตาเป็นปกติอยู่แล้ว ถ้าสามารถทำว่า เรามั่นคงไม่หวั่นไหว ได้เห็นสภาพความเป็นจริงของมันว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงไปในท่ามกลาง สลายไปในที่สุดเป็นปกติของมันอยู่แล้ว ถ้าหากว่าเราไปยินดียินร้ายกับมัน ทุกข์ก็จะเกิดขึ้นกับเรา ถ้าทำใจอย่างนี้ได้ก็ถือว่าประเสริฐสุด ถ้าหากว่าทำใจอะไรไม่ได้ก็โน่น ธรรมดา ช่างหัวมัน
      ถาม:  สามีภรรยาไปดูดวงคู่สมพงษ์ ถ้าใครดูดวงแล้วตกสมบัติพระอินทร์ ก็จะรู้ซึ้งใจซักหน่อย ถ้าไปตกสมบัติยาจกก็จะรู้สึกหนักใจ เรื่องการดูดวงว่าตนเองไม่ดีหรือจำต้องยากจนตามดวงกับการทำมาหากินในปัจจุบัน เราเชื่อดวงจะได้มากน้อยขนาดไหน ?
      ตอบ:   เรื่องของดวงเชื่อได้ประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้เต็มร้อยนะ ประมาณ ๖ ส่วน ๑๐ ส่วน เรื่องดวงเป็นโหราศาสตร์ เป็นศาสตร์คือความรู้แขนงหนึ่ง เกิดจากการที่เขาตั้งข้อสังเกตแล้วบันทึกเป็นสถิติต่อเนื่องมาเป็นพัน ๆ ปี จนกระทั่งมันสรุปออกมาเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งได้ จริง ๆ แล้วมันก็ตรงกับที่พระพุทธเจ้าท่านสอนคือว่า โหราศาสตร์นี่จะว่าไปแล้วเรื่องของดวงนั้นมันก็คือความดีความชั่วที่เราทำมา ถึงวาระถึงเวลาความดีอย่างนั้นจะส่งผล ความชั่วอย่างนั้นจะส่งผล เขาเอาวันเดือนปีเกิดของเราเป็นเกณฑ์ คนที่จะเกิดวันเดือนปีเกิดใกล้เคียงกันแสดงว่าทำบุญทำกรรมมาใกล้เคียงกัน ดังนั้นเมื่อถึงเวลาถึงวาระจะเกิดอะไรขึ้นกับคนเหล่านั้น มันก็เกิดไล่เลี่ยกันใกล้เคียงกัน เขาจึงสามารถที่จะสรุปลงมาแล้วก็กำหนดขึ้นมาเป็นหลักวิชาได้ โดยการอนุมานเท่านั้น มันไม่ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เต็ม ได้แค่ประมาณ ๖๐ เปอร์เซ็นต์
              คราวนี้ถ้าหากว่าคนดูมีทิพจักขุญาณคือมีตาทิพย์มีตาในที่ว่า ถ้าเขามีจริง ๆ และรักษาความแจ่มใสเอาไว้ได้ สามารถที่จะใกล้เคียงได้ถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก ๒๐ เปอร์เซ็นต์ที่เหลือขึ้นอยู่กับพวกเรา จำไว้ให้แม่น ๆ ว่า ถ้าเรามั่นคงใน ทาน ศีล ภาวนา กรรมเก่าให้ผลได้ไม่เกิน ๒๕ เปอร์เซ็นต์ พวกเราจะเป็นกลุ่มนอกเหตุเหนือผล พอถึงเวลาเขามาบอกต้องเป็นอย่างนั้นต้องเป็นอย่างนี้ ถ้ากำลังใจเรามั่นคงไม่หวั่นไหว ปฏิบัติในทาน ศีล ภาวนา เป็นปกติอย่างนี้ เรื่องเหล่านั้นอาจจะไม่เกิดกับเราเลยก็ได้
              เพราะว่ากำลังใจมันสูงกว่าเสียแล้ว กำลังบุญมันสูงกว่าเสียแล้ว อาตมาเองเขาดูว่าพรรษาที่ ๓ จะสึกนี่มันเกินสามจะยี่สิบปีอยู่แล้วก็ยังอยู่ได้ (หัวเราะ)
      ถาม:  ความเพียรในการประกอบอาชีพอย่างหนึ่ง ความอดทนต่อแรงบีบคั้นของกรรมอย่างหนึ่ง ความท้อถอยต่อปัญหาชีวิตเราท้อถอยได้แค่ไหนครับ ?
      ตอบ:   ท้อได้แต่ห้ามถอย (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นห้ามใช้คำว่าท้อถอยต้องแยกออก ท่อได้แต่ห้ามถอย ตราบใดที่ยังมีช่องทางอยู่แม้แต่ ๑ เปอร์เซ็นต์ เราก็ต้องดิ้นรนไป ถ้าดิ้นรนจนสุดกำลังกาย กำลังสติปัญญา กำลังคน กำลังทรัพย์แล้วไม่สามารถแก้ไขได้ ค่อยยอมรับว่าเป็นกฎของกรรม ถ้าเราไปยอมรับ ๆ อย่างเดียวอันนั้นมันขาดปัญญา มันประเภทยอมรับแบบควายที่หลวงพ่อชาท่านด่าลูกศิษย์ท่านน่ะ พายุมันพัดหลังคามันเปิดไป พระท่านก็นั่งตากแดดตากฝนภาวนาของท่าน หลวงพ่อชาทนดูไม่ได้ก็ไปเตือน คุณซ่อมหลังคาเสียหน่อยสิ พระลูกศิษย์บอกไม่ต้องหรอกครับ ผมปล่อยวางแล้ว หลวงพ่อชาบอกว่า ควายมันปล่อยวางได้ดีกว่าคุณอีก มันทนแดดทนฝน...มันโง่หรือมันฉลาด ถ้าปล่อยวางแบบคุณ เขาเรียกว่าปล่อยวางแบบความ (หัวเราะ)
              เพราะฉะนั้นท้อได้แต่ห้ามถอยนะ ไปข้างหน้าแล้วตาย เขาชมว่ากล้า ถอยหลังมาตาย เขาว่าขี้ขลาด เลือกเอา (หัวเราะ)
      ถาม:  (ไม่ชัด)
      ตอบ:   เหมือนกัน อย่าลืมว่านรลักษณ์ศาสตร์ นี่เริ่มต้นจากพระพุทธเจ้า โหงวเฮ้งนี่ พระพุทธเจ้าประกอบไปด้วยอะไร ? มหาปุริสลักษณะ ๓๒ อย่าง อนุพยัญชนะอีก ๘๐ อย่าง และตำราเขาแม่นมาตั้งแต่โบราณแล้วด้วย ถ้าใครมีอย่างนี้ครบ เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน เริ่มมาตั้งแต่โน้นเลยนะ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่มันแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นสภาพฐานะ รูปร่างหน้าตา อะไรก็ดี มันเกิดจากในอดีตที่เราทำทั้งนั้น มักโกรธเกิดมาก็ผิวพรรณทราม เป็นผู้มีศีลมีเมตตาจิตเยือกเย็นเป็นปกติ เกิดมาก็ผิวพรรณผ่องใส มีศีลทรงตัว เกิดมาหน้าตาก็สวยงาม ถ้ามีแต่ความโกรธมีแต่โทสะอยู่ หน้าตาก็ขี้ริ้ว ขี้เหร่อย่างนี้เป็นต้น
              เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ พอทำอะไร มันได้อย่างนั้น ก็เลยเหมือนกับว่า กำหนดตายตัวมาแล้วว่า คนที่มีลักษณะอย่างนี้ ๆ ต้องเป็นอย่างนี้ ส่วนเรื่องของฮวงจุ้ย จริง ๆ แล้วคุณต้องเข้าใจว่า เรื่องพลังงานต่าง ๆ ของโลกมันมีอยู่เป็นปกติแล้ว การดูฮวงจุ้ยเค้ายึดทิศเหนือเป็นหลัก วิทยาศาสตร์เขาก็บอกว่า แกนแม่เหล็กโลกมันวิ่งอยู่แกนเหนือใต้ ฮวงจุ้ยมันก็เอาเหนือใต้เป็นหลัก จะดูแนวเขามังกรก็ดี อะไรก็ดีมันก็ดูอย่างนั้น แต่ว่าที่สำคัญที่สุดคือว่าถ้าเราทำบุญไว้ดี ต่อให้คุณเปะปะส่งเดชขนาดไหน มันก็ไปอยู่ในที่ฮวงจุ้ยดีเอง บุญมันส่งให้ แต่ถ้าเราทำบุญไว้ไม่ดี เลือกให้ตายอาจจะโดนคนอื่นแย่งไปหรือไม่ก็สูญเสียไป โดนธนาคารยึดบ้าง ขายทิ้งไปบ้าง อะไรไปบ้าง จริง ๆ แล้วเรื่องทั้งหลายทั้งปวงนี่ มันขึ้นอยู่กับกรรม คือสิ่งที่เราทำ เราทำดีไว้ เราก็ได้รับในส่วนที่ดี ถ้าเราทำไม่ดีไว้ก็ได้ในส่วนที่ไม่ดี
      ถาม:  เด็กเขาพูดกันว่า ถ้าผู้ใหญ่เป็นผู้อาบน้ำร้อนมาก่อน ป่านนี้ผู้ใหญ่ทั้งหมดก็จะมีผิวหนังที่ผุพองเป็นแผลกันหมด พอดีได้ชมโฆษณาโทรศัพท์มือถือ เขาบอกว่า เราสนับสนุนให้ทุกคนคิดออกจากกรอบและมีรูปของกบอยู่ในกะลา ในโฆษณานั้น คำว่า “ออกจากกรอบ” น่าจะมาจากคำว่า criteria หรือ Rule ซึ่งหมายถึงการฉีกกฎหรือแหกกฎ ส่วนเรื่องกบในกะลา ตามความหมายในภาษาไทย ก็น่าจะมาจากกการเปิดโลกทัศน์ หรือหาความรู้เพิ่มเติม ๒ อย่างนี้ จะผิดถูกอย่างไร อันนี้ผมไม่ทราบ
              นักวิชาการเขาได้สรุปคนสังคมไว้ ๓ กลุ่มด้วยกันคือ ๑) ยุคเบบี้บูม เป็นยุคผู้คนที่เกิดในสมัยสงครามโลกและมีลูกกันมาก ยุคที่ ๒ จะเป็นเจนเนอร์เรชั่นเอ๊กซ์ หมายถึงก่อนยุคเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ยุคที่ ๓ เป็นยุคเจนเนอร์เรชั่นวาย หมายถึงยุคเด็กที่เกิดหลังเหตุการณ์ตุลาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ได้ให้พระบรมราโชวาทตอนหนึ่งความว่า คนรุ่นใหม่เป็นคนที่มีความก้าวหน้า หากจะกล่าวว่าคนรุ่นเก่าล้าสมัย ก็อาจจะว่าได้แต่การดูถูกดูหมิ่นเหยียดหยามคนรุ่นเก่าเป็นการไม่สมควร
              เพราะหากไม่มีคนรุ่นเก่าแล้ว คนรุ่นใหม่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าเราเป็นคนรุ่นใหม่จะแสดงความกตัญญูคนรุ่นเก่าคือพ่อแม่ ผู้มีพระคุณอย่างไรได้บ้าง?
      ตอบ:   สำหรับพ่อแม่พระพุทธเจ้าบอกไว้ชัดเลย ท่านเลี้ยงเรามาเราเลี้ยงท่านตอบ ช่วยเหลือแบ่งเบากิจการของท่าน ทำตัวให้สมควรให้ได้รับมรดกก็คือต้องเป็นคนดี ถึงเวลาแล้วธำรงรักษามรดกและชื่อเสียงวงศ์ตระกูลไว้ให้ได้ อันดับสุดท้ายคือ ถ้าท่านตายแล้วให้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้เขาตะกายทำเอง ความกตัญญูแสดงออกได้หลายอย่างด้วยกัน แต่ว่าในสิ่งที่ชาวบ้านชาวเมืองเขาเห็นอยู่ชัด ๆ ก็คืออย่างเช่นว่า ปฏิบัติต่อท่านด้วยดี อ่อนน้อมถ่อมตน ท่านเจ็บไข้ได้ป่วยเรารักษาพยาบาล เมื่อท่านแก่ชราขึ้นมาเราก็หาเลี้ยงดูท่านในลักษณะอย่างนี้ ไม่ใช่พอถึงเวลาก็เอาไปปล่อยบ้านบางแค ทำอย่างกับเอาหมาไปปล่อยวัด ทำตามพระพุทธเจ้าท่านสอนก็หมดเรื่องไป
      ถาม:  กตัญญูท่านว่าเป็นสัญลักษณ์ของคนดี เป็นคนกตัญญูแล้วจะเกิดประโยชน์อะไรแก่ตัวเองบ้างครับ ?
      ตอบ:   อันนี้สังเกตคนจีนเป็นหลัก คนจีนอยู่ที่ไหนลำบากไม่นานไม่ช้าก็จะตั้งตัวได้มีฐานะร่ำรวยเป็นเจ้าสัวไปตาม ๆ กัน เพราะเขามีความกตัญญู สังเกตมั้ยว่าคนจีนนี่เรื่องของบรรพบุรุษเรื่องของพ่อแม่นี่เขาให้ความเคารพ เคารพถึงขนาดเลยถึงเวลาประเภทบางทีตายมา ๕๐ – ๖๐ ปี ก็ยังมีการเซ่นไหว้ฮวงซุ้ยกันเป็นปกติ
              คำว่า กตัญญู แปลว่า รู้คุณท่านเฉย ๆ มันต้องมี กตเวที คือ ตอบแทนด้วย ต้องมีการกระทำที่ตอบแทนด้วย ไม่ใช่รู้เฉย ๆ แต่คราวนี้ภาษาบาลีบางทีเราแปลไม่ออก ในเมื่อเราแปลไม่ออกก็เลยตีความหมายรวม ๆ ไปซึ่งก็อาจจะไม่ตรงก็ได้ กตัญญูทุกอย่างเกิดผลดีแน่ ๆ คือเจริญทั้งในปัจจุบันอย่างพวกคนจีนเขา แล้วเจริญต่อไปในอนาคต เรื่องของกรรมนี่อาตมาดูมาเยอะต่อเยอะแล้ว กรรมที่คนทำกับพ่อกับแม่ขนาดไหนอย่าเผลอมีลูกนะ มีเมื่อไหร่เจอมากกว่านั้นอีก มันทันตาเห็นจริง ๆ เรื่องกรรมอื่นยังไม่เห็น เพราะฉะนั้นถ้าเราปฏิบัติดีต่อท่าน ถึงเวลาลูกหลานก็ปฏิบัติดีต่อเราด้วยไม่ต้องไปเสียเวลาเรียกร้องหรอก
      ถาม:  เมื่อคนรุ่นใหม่ไม่ได้ดั่งใจคนรุ่นเก่า ทำอย่างไรดีครับ ?
      ตอบ:   ต้องโทษคนรุ่นเก่า เพราะคนรุ่นเก่าทำไม่ดีอบรมไม่ดี คนรุ่นใหม่มันถึงออกไปลักษณะนั้น อาตมาเจอมาเยอะนะประเภทยุคไฮเทคอย่างนี้แหละ แล้วกลางกรุงด้วย มหาเศรษฐีมีเงินเป็นร้อยล้านถึงเวลาวันหยุด แทนที่จะพาลูกไปเที่ยวห้าง ไปเล่นวีดีโอเกมส์ เข้าสวนสนุกเปล่าหรอก แจกจอบแจกเสียมคนละอันหัดให้ลูกทำการเกษตร ขุดดินถางหญ้า ปลูกต้นไม้ปลูกผักไปตามเรื่อง นั่นเขาสอนได้ดีจริง ๆ เด็กเขาเอาด้วย มันสนุกน่ะ โอ้โห...เด็กขุดโน้นรื้อนี่มันมันส์นี่ เพียงแต่ว่าพ่อแม่จะมีวิธีการอย่างไร ที่จะทำให้เด็กเขาสนใจก็ต้องนำด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่ถ้าไม่นำ เขาไม่ไปด้วย แล้วคราวนี้เด็กพวกนี้สุขภาพจิตดีมากเป็นพิเศษ ถึงเวลาประเภทหมั่นไส้ใครมาก็สับดินมันแรงหน่อย (หัวเราะ) มีที่ให้ระบายแล้วสอนให้หัดกินผักหัดกินผลไม้อะไรไปเลย แล้วเขาปลูกเองอะไรเอง กางมุ้งเองทุกอย่างปลอดสารพิษหมด
              แต่แหม! ครูพาเสีย ถึงเวลาไปโรงเรียน ลูก ๆ เขาได้เงินไปโรงเรียนแต่เขาเก็บกลับมาหยอดออมสิน เขานี่เล่นเอากล้วยใส่ปิ่นโตไป พี่เลี้ยงทำให้อย่างดีเลยตัดหัวตัดท้ายใส่ปิ่นโตไปอย่างดี ถึงเวลาไปก็แค่ปอกใส่ปากเท่านั้น เด็กมันเคยชินกับรสของผลไม้นี่มันอร่อย แต่ถ้าหากไปเคยชินกับพวกกรุบกรอบอะไร มันก็จะหมดความสนใจทางด้านนี้ คราวนี้เขาเคยชินอย่างนี้เขาก็กินของเขา แล้วเขาก็เห็นว่าของเขาดี เขาก็จัดแจงเอาไปฝากครู พอฝากครู ๆ ก็อุตส่าห์ปั้นหน้ายิ้มรับไว้ทั้ง ๆ ที่ไม่อยากได้ เห็นครูเป็นลิงหรือไงเอากล้วยมาฝาก
              วันหนึ่งก็อยู่ตรงนั้น วันที่สามมันเริ่มดำ ๆ แล้วเด็กมันย่องกลับมา ถ้าครูไม่กินหนูขอคืนนะคะ หน้าแตก (หัวเราะ) เขาสอนได้ขนาดนั้น ดังนั้นมันสำคัญอยู่ที่ตัวเราเอง เด็กไม่ดีโทษเด็กไม่ได้ ต้องโทษผู้ใหญ่ อย่าลืมว่าบุพการีผู้ที่ทำคุณก่อนแล้วเขาว่าครูบาอาจารย์เป็นบูรพาจารย์คนแรก พ่อแม่นี่แหละไม่ใช่ใครหรอก พ่อแม่ครูบาอาจารย์นี่แหละที่จะต้องปั้นให้ดีให้ได้ ถ้าไม่ดีอาตมาไม่เคยโทษเด็กด้วยประการทั้งปวง นั่งอยู่ตรงนี้ พ่อแม่มาประเภทพูดถึงปัญหาของลูก เราว่าพ่อแม่ผิดไว้ตะบันเลย ถ้าพ่อแม่สอนถูกเด็กมันไม่ทำผิดหรอก
      ถาม:  มีคนเขาไปเห็นคนรวยเขามีความทุกข์เพราะต้องทะเลาะกัน และฆ่ากัน ด้วยเหตุนี้เขาจึงตั้งเจตนาว่าชาติหน้าขอเกิดเป็นคนจนจะดีกว่า เพราะเป็นคนรวยมีความทุกข์ การรำพึงรำพันและการตั้งใจแบบนั้นจะมีผลตามที่เขาตั้งใจคือไม่เกิดเป็นคนรวยสมใจหรือไม่ ?
      ตอบ:   การที่เราตั้งเจตนาอะไรแล้วจะให้ได้ผล เราต้องสร้างบุญใหญ่ก่อน เพื่อให้บุญนั้นเป็นกำลังนำส่งเราไปสู่จุดนั้น ไปนั่งรำพึงรำพันเฉย ๆ โอกาสจะเป็นมันยาก ถ้าเกิดสร้างบารมีมาทุกชาติ ๆ แล้วชาตินี้ก็ทำซะล้นเหลือเลย หวังว่าจะเกิดมาจนนั่นน่ะ มันก็คงจนมีประเภทซัก ๔ – ๕ หมื่นล้าน แต่ไม่ถึงแสนล้านอะไรทำนองนั้น (หัวเราะ)
              เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าไม่มีการทำบุญใหญ่ก่อนแล้วตั้งเจตนาว่าผลบุญี่ทำจะให้ส่งผลยังไงไม่มีทางได้หรอก อยากจะจนเดี๋ยวเงินทับตายพอดี อย่างกำนันเป๊าะไง เคยถามว่ากำนันมีเงินเท่าไหร่ ? ไม่รู้เหมือนกันครับ ผมก็นับไม่ไหวเหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่แกก็ไม่ใช่คนรวยมาก แล้วลองคิดดูคุณทักษิณแกนับไหวมั้ย ?