สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
เดือนเมษายน ๒๕๔๖(ต่อ)
ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ

      ถาม:  พ่อแม่ควรถามลูกที่ยังอยู่ในวัยอนุบาลจนถึงประถมว่า มีแฟนแล้วหรือยังลูก หรือไม่ ?
      ตอบ :  ก็อยู่ในลักษณะที่ว่าบางทีก็เป็นการกระตุ้นความสนใจเด็ก ๆ แต่จริง ๆ ก็คือว่าเด็กสมัยนี้บางทีพ่อแม่ไม่ทันถามหรอก ไปโรงเรียนได้ ๓ วัน กลับมาบอกพ่อแม่เองว่ามีแฟนแล้ว เพราะว่าสิ่งยั่วยุจากสื่อต่าง ๆ มีเยอะ โดยเฉพาะเด็กสมัยนี้บางทีโทรทัศน์เลี้ยงมากกว่าพ่อกับแม่
              ดังนั้นถ้าหากผู้ผลิตสื่อต่าง ๆ ผู้ผลิตสิ่งบันเทิงต่าง ๆ ถ้าขาดจรรยาบรรณ ขาดคุณธรรมเสียหน่อยเดียวก็เป็นการมอมเมากันอย่างร้ายกาจ เป็นอันว่าจริง ๆ ก็คือ ไม่ควรไปถาม แทนที่จะชี้โพรงให้กระรอก ก็กลายเป็นชี้โพรงให้เหี้ยตัวน้อย ๆ
      ถาม :  การคิดถึงคำว่า อนิจจัง เป็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอน และการที่คนคิดถึงแต่ว่าไม่มีอะไรแน่นอน ไม่มีอะไรที่เป็นที่หวังที่ยึดเหนี่ยว หรือปรารถนาให้สมหวัง จนมองทุกอย่างเป็นความผิดหวัง ไม่มีหวังและจิตใจเศร้าหมอง เราควรตั้งอารมณ์ของการมองความไม่เที่ยงกับการประกอบอาชีพหน้าที่การงาน ?
      ตอบ :  ของเราจริง ๆ ก็คือ ควรให้เห็นว่ามันจะตายอยู่เสมอ เราพร้อมที่จะตาย แต่ขณะที่ก่อนจะตายควรจะทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เพราะฉะนั้นถ้าคุณมีหน้าที่ประกอบอาชีพการงานอะไร คุณก็จงทำหน้าที่ของคุณในวันนี้ให้ดีที่สุด แต่วันต่อไปไม่มีสำหรับเรา ลักษณะนั้นคิดผิด แทนที่จะเห็นว่าเบื่อมันกลับเห็นแล้วเศร้าหมอง
      ถาม :  การค้าขายหรือการประกอบอาชีพ เราได้กำไรเท่าไร เราซื้อมาเท่าไร จะบอกเขาก็ไม่รู้อย่างไรเหมือนกัน ครั้นจะบอกเขาว่าเราได้กำไรน้อยก็โกหกเขาอีก อย่างนี้แล้วจะทำอย่างไร ?
      ตอบ :  ก็บอกว่าเขาว่าได้กำไรน้อย เราอยากได้เป็นล้าน บังเอิญกำไร ๒๐ บาท ไม่ผิดหรอก ถ้ามีวงเล็บไว้ในใจบ้าง ของชิ้นหนึ่งจะเอากำไรเป็นล้าน มันเอาไม่ได้ก็เลยบอกว่าได้กำไรน้อย หมดเรืองไป ไม่ได้โกหกนี่ ก็ว่าต้องการสักล้านหนึ่ง แต่ดันได้ ๒๐ บาท
      ถาม :  หลวงพ่อท่านเคยบอกไว้ว่า เวลาเราเรียกสรรพนานมของพระพุทธเจ้า ไม่ควรเรียกชื่อจริงท่านบ่อยนัก เหมือนกับเราเคารพพ่อแต่ไม่ได้เรียกชื่อพ่อ อย่างกับเราเรียกชื่อของพระสงฆ์ด้วยความเคารพ แต่เราเรียกบ่อย อันนี้ถือว่าเป็นการไม่เคารพหรือเปล่า ?
      ตอบ :  ถ้าหากว่าเรียกนำหน้าอย่างไร เช่นเรียกพระโมคคัลลานเถระอย่างนี้ก็เรียกไปสิ ถ้าไม่เรียก เราก็ไม่รู้ว่าพระเถระองค์ไหนใช่ไหม เรียกหลวงพ่อ ๆ ถ้าหากคนอื่นไม่รู้เราก็ต้องบอกว่า หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ ลักษณะอย่างนี้เรียกด้วยความเคารพ แต่อีกอย่างหนึ่งเรียกในลักษณะของเพื่อน เคยเจอไหมสมัยก่อนเล่นแต่ชื่อพ่อจนจำชื่อเพื่อนไม่ได้ พอถึงเวลาตอนเช้ามึงไปเรียกกูด้วย ก็ตะโกนเรียกชื่อพ่อมัน ตะโกนไปตะโกนมาพ่อเปิดหน้าต่างมาบอกลูกชาย เฮ้ยมึงไปดูสิเพื่อนมึงหรือเพื่อนกู ลักษณะนั้นเรียกแบบจิกหัวเรียก
      ถาม :  ถ้าท่านที่มีบุตรเป็นอภิชาตบุตร หรือมีสัมมาทิฐิ ควรดูแลและเลี้ยงดูบุตรอย่างไร ?
      ตอบ :  ลักษณะนั้นก็ให้การเลี้ยงดู ให้การศึกษาตามหน้าที่ ถึงวาระถึงเวลาหาคู่ครองให้ มอบสมบัติให้ หน้าที่ของพระพุทธเจ้าท่านบอกไว้ชัดแล้ว อภิชาตบุตรที่ท่านดีออกจากภายใน ไม่ใช่ว่าสิ่งแวดล้อมดีแล้วถึงจะดี ต่อให้ไปตกในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี ท่านก็เหมือนเพชรตกอยู่ในโคลน อย่างไรมันก็เปล่งแสงตัวเองได้เสมอ เลี้ยงดูไปตามหน้าที่เท่านั้นแหละ พอให้การเลี้ยงดู ให้การศึกษา หาคู่ครองให้ ถึงเวลายกสมบัติให้
      ถาม :  อารมณ์ที่เป็นภวังค์ หรืออารมณ์ส่วนตัว มีลักษณะเดียวกับฌานหรือไม่ หรืออันไหนดีกว่ากัน ?
      ตอบ :  เอาให้ดี ๆ ภวังค์ ก็ภาวะของอารมณ์ปกติอย่างหนึ่ง ถ้าหากว่าทรงฌานอารมณ์ใจจะแน่นมากกว่านี้ คือว่าประสาทร่างกายต่าง ๆ เริ่มตัดออกจากจิตไปแล้ว หรือว่าจิตมันละจากประสาทร่างกายไปแล้วทีละน้อย จนถึงระดับสุดท้ายมันไม่เอาเลย คำว่า ภวังค์ นี่เข้าใจให้ถูกต้องเสียใหม่ ภวังค์ คืออารมณ์ปกติ
      ถาม :  ได้เห็นสัจธรรมอย่างหนึ่งว่า คนที่ด่าคนนั้นคนนี้ว่า เลวอย่างนั้น เลวอย่างนี้ ประพฤติผิดอย่างนั้นอย่างนี้ ต่อมาก็พอว่าคนที่ด่าเขากลับเป็นลักษณะที่ด่าไปนั้นเสียเอง อันนี้เกิดจากอะไร ?
      ตอบ :  โบราณเขาว่า ว่าเขาอิเหนาเป็นเอง คือว่าดีแต่ดูคนอื่น ติคนอื่น ไม่ได้แก้ที่ตัว พอถึงวาระถึงเวลาก็เลยไปจมปลักอยู่กับสิ่งที่เคยตำหนิคนอื่น เขามาก็หน้าแตกไปตามระเบียบ พระพุทธเจ้าท่านถึงได้สอนว่า อย่าดูจริยาผู้อื่น ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด
      ถาม :  การอธิษฐานตั้งใจว่า จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่ได้กล่าวทางวาจา และทำสิ่งนั้นให้เป็นรูปธรรมตามที่ตั้งใจไว้ อย่างนี้ถือเป็น....?
      ตอบ :  อย่างนั้นแสดงว่าเขาเป็นคนที่มีอธิฐานบารมีเต็มด้วย มีสัจบารมีเต็มด้วย แค่ตั้งใจเฉย ๆ ไม่ได้บอกเล่าเก้าสิบใคร ยังทำเสร็จเลย การบอกเล่าเป็นการผูกมัดตัวเองอย่างหนึ่งว่าต้องทำให้ได้
      ถาม :  โบราณเขาว่า อิทธิฤทธิ์นั้นมี ๔ อย่าง ว่านยา พลังจิต เลขยันต์ เทวดาฟ้าดิน ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ?
      ตอบ :  ว่านยา เลขยันต์ เทวดาฟ้าดิน พลังจิต ส่วนใหญ่อิทธิฤทธิ์ที่ยืนยงก็คือ พลังจิต แต่ว่าควรที่จะเป็นลักษณะพระอริยเจ้า ถ้าหากว่าเป็นโลกียฌานโอกาสเสื่อมก็มีเหมือนกัน จริง ๆ แล้วมีมากกว่านั้น แต่ว่าก็สงเคราะห์แล้วมันสามารถเข้าอันใดอันหนึ่งได้เหมือนกัน ไม่ใช่เทวดาฟ้าดินหรอก ฟ้าดินไม่เกี่ยว เทวดา พรหม หรือพระบนนิพพาน
      ถาม :  บางคนที่ถูกว่ากล่าวและสั่งสอนเขาไม่ยอมรับความจริง แต่ก็มีการตัดพ้อและประชดว่า ใช่สิฉันมันชั่ว ฉันมันเลว ฉันเป็นคนอย่างนี้ ตามที่เขาว่ากล่าว อารมณ์แบบนี้ถ้าเราจะเตือนสติเพื่อความเมตตา ควรใช้วิธีอย่างไร ?
      ตอบ :  เมตตาบางทีมากไป อุเบกขาก็ได้ พรหมวิหารท่านไม่ได้ให้มีแค่เมตตา ให้เขาพ้นทุกข์เหลือเกิน เมตตาในมุทิตา ยินดีเสียยิ่งกว่าตัวเองได้อีกเวลาเห็นคนอื่นเขาได้ดี เมตตาในอุเบกขา สงเคราะห์ไม่ไหว ทั้งรักทั้งอยากจะช่วย ก็ปล่อยวางได้ ประเภทผมไม่ดี ผมมันเลว ผมมันแตกปลาย ผมเลยไปตัดผมใช่ไหม ?
      ถาม :  การที่คนเราพูดกันไม่รู้เรื่อง อันนี้ด้วยเหตุผลของอะไรครับ ?
      ตอบ :  บารมีสร้างมาไม่เท่ากัน บุคคลที่จะเป็นคู่กันยืนยาว บารมีต้องทำมาใกล้เคียงกัน ท่านใช้คำว่า “มีทานเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน” ถ้าไม่อย่างนั้นก็ยุ่ง
      ถาม :  สมัยก่อนหลวงปู่ปานได้ไปขอผู้หญิงจับหน้าอกและคลำดู ท่านก็บอกว่า “มันเหมือนกับเนื้อหนังทั่วไป ไม่เห็นมีอะไร ?” ความรู้สึกต่าง ๆ ที่เราได้เห็นหรือสัมผัสอย่างเดียวกัน ทำไมจึงมีความเห็นไม่เหมือนกันครับ ?
      ตอบ :  เพราะว่าสติปัญญาของเรายังไม่เพียงพอ แต่ของท่านพอแล้ว แล้วก็เห็นทุกข์เห็นโทษ เห็นตามความเป็นจริง ๆ
      ถาม :  คอนโดแห่งหนึ่งเขาห้ามเลี้ยงสัตว์ โดยไม่ต้องการให้ก่อความรำคาญทางเสียง เจ้าของสุนัขอยากเลี้ยงหมาแต่ไม่ต้องการเสียง จึงเอาหมาไปตัดเส้นเสียงของหมา เพื่อที่จะได้ไม่รบกวนห้องข้างเคียง การกระทำอย่างนี้มีผลอะไรบ้างครับ ?
      ตอบ :  เกิดชาติใหม่ก็เป็นใบ้ เอาเถอะ...ถึงเป็นใบ้ก็คงมีคนช่วยสงเคราะห์หรอก เพราะว่าเลี้ยงเขาไม่ใช่หรือ ?(หัวเราะ)
      ถาม :  คนต้องการความรักให้คนอื่นมารักเรามาก ๆ คนต่าง ๆ ก็แสวงหาความรักกันมาก และผมได้เห็นเหตุการณ์
              ข้อ ๑ เวลาคนที่ชื่นชอบดาราไปดูคอนเสิร์ต ก็จะใช้การตะโกน เปล่งเสียงให้มีเสียงดัง ยกมือขึ้นให้นักร้องเห็น ทำให้ตนเองมีความสุข
              ข้อ ๒ แฟนเพลงเขากล่าวว่า “รู้สึกภูมิใจมากที่นักร้องได้กล่าวชื่นชมเขา ที่เป็นแฟนคลับว่า เป็นกำลังใจและแรงผลักดันให้เขาได้รับรางวัลนี้” นักร้องคนนั้นก็เป็นแบบอย่างที่ดีให้คนอื่นด้วย
              ข้อ ๓ นักร้องเพียงแค่กล่าวว่า “ชอบสร้อยข้อมือเพชรเส้นนี้ ว่าสวยดี” เขาจึงไปสั่งทำสร้อยข้อมือเพชรอีกอันหนึ่ง เพื่อให้นักร้องจะได้มีความสนิทสนม ใกล้ชิดกันมากขึ้นเป็นพิเศษ เรื่องของความรักนี้ เราจะทำอย่างไรให้มีคนรักเรามาก ๆ หรือตั้งใจอย่างไรดีครับ ?
      ตอบ :  ลักษณะที่ว่ามา เขาไม่ได้เรียกว่า “รัก” เราเรียกว่า “หลง” ถ้าจะให้คนรักจริง ๆ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า “ให้ปฏิบัติในสังคหวัตถุ ๔ คือ มีทาน รู้จักเสียสละ ให้ปันแก่เขาบ้าง มีปิยวาจา พูดแต่วาจาที่ดีที่ไพเราะอ่อนหวาน อัตถจริยา ช่วยเหลือประโยชน์ของเขาให้สำเร็จลง สมานัตตา ทำความดีเหล่านี้ให้เสมอต้นเสมอปลายกับเขา” ถ้าหากว่าทำอย่างนี้ รับรองว่าคนรักแน่นอน เป็นความรักที่ยั่งยืน แต่ว่า...ถ้าทำลักษณะอย่างที่ว่านั้น ไม่ใช่รัก มันหลง
      ถาม :  คำว่า “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” ถ้าคนที่เขากำลังมีความรักกันอยู่ เขาก็จะบอกว่า “ไม่เห็นจริงเลย เขากำลังมีความสุข” บางครอบครัว เขาก็บอกว่า “เขามีความสุข” แต่ถ้าครอบครัวไหนอัตคัดเรื่องเงินเรื่องทอง เขาก็บอกว่า “ครับครัวนั้นมีทุกข์มาก ทั้งในเรื่องบุตร ภรรยา สามี หรือเรื่องเงินทอง” บทสรุปของเรื่องความรักนั้นเป็นอย่างไรครับ ?
      ตอบ :  ถ้าหากว่าเป็นความรักทางโลกีย์อย่างเดียว ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์แน่นอน...! แต่ถ้าหากว่าเป็นความรักในลักษณะของพรหมวิหาร ทุกข์ก็เฉพาะร่างกาย เพราะสภาพจิตใจของท่านไม่ห่วงใย ไม่กังวล ไม่ทุกข์หรอก อย่างที่เมื่อครู่อธิบายว่า “เราเขาเหมือนกับตัวเรา สงสารเขาอยากให้เขาพ้นทุกข์ ยินดีเมื่อเขาอยู่ดีมีสุข แต่ถ้าหากว่าทำเต็มที่แล้วไม่สามารถสงเคราะห์เขาได้ ท่านจะอุเบกขา ปล่อยวางไม่ไปกังวลนะ ถ้าอย่างนี้เรียกว่า “รักที่แท้จริง” อันนี้รักมันทุกข์ เพราะว่าตัวเองมีทุกข์เป็นปกติอยู่แล้ว ไม่ใช่สภาพความทุกข์ที่เพิ่มมาจากใจส่วนรักในทางโลกีย์ มันทุกข์ล้วน ๆ ที่เพิ่มมาทางใจ
      ถาม :  สำนวนที่ว่า “ผู้ไม่รู้ย่อมไม่ผิด” คนเราทำทั้งดีและชั่ว คนหนึ่งรู้ผลอีกคนหนึ่งไม่รู้ผลของการทำความดีและการทำความชั่ว จะมีผลต่างกันหรือไม่ ?
      ตอบ :  ถ้าหากว่าไม่ทำกรรมหนัก คืออนันตริยกรรม ได้แก่ ฆ่าพ่อ ฆ่าแม่ ฆ่าพระอรหันต์ ทำร้ายพระพุทธเจ้าถึงห้อพระโลหิต ทำสังฆเภท คือยุสงฆ์ให้แตกกัน บุคคลที่ทำโดยไม่รู้ โทษจะน้อยกว่า เพราะเจตนาไม่มี คนที่เจตนาตั้งใจทำความผิด ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าผิดแล้วทำ โทษมากกว่า แต่ถ้าไปทำอนันตริยกรรมเข้า ต่อให้ไม่รู้ เขาปรับเท่ากัน...!
      ถาม :  การที่เราอยากเตือนคนบางคน แต่คิดว่าคนนั้นไม่มีสติพอที่จะรับฟังคำชี้แนะต่าง ๆ ได้ แต่ในใจก็อยากจะเตือนให้เขา ไม่ให้ไปสร้างความเดือดร้อนให้กับบุคคลอื่น ถึงเคยเตือนแล้ว ก็ยังไม่ยอมรับฟัง หรือมองเห็นถึงการที่ได้รับความเดือดร้อน จริงอยู่ว่าเราไม่ควรไปตัดสินใจความเลวของบุคคลอื่น แต่ถ้ากำลังนั้นสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้มีพระคุณแก่เราด้วย และเตือนแล้วไม่มีผล อย่างนี้ต้องอารมณ์ไหน ?
      ตอบ :  ใช้อุเบกขาในเมตตา อุเบกในเมตตา คือยังรักยังสงสารเขาอยู่ แต่ถ้าหากว่าไม่สามารถจะช่วยเหลือได้ เราต้องปล่อยวาง เพื่อรักษาสภาพจิตใจของเราให้ผ่องใสเข้าไว้ ขณะเดียวกันถึงปล่อยวางแต่ก็ยังประกอบด้วยความรักคือถ้ามีโอกาสเราก็จะสงเคราะห์เขาใหม่
      ถาม :  เมื่อมองดูสายพระเนตรของพระพุทธรูปที่ทอดยาวลงเบื้องล่างของพระพุทธรูป สายพระเนตรนั้นมีความหมายประการใด ?
      ตอบ :  คือโบราณเขาถือว่า พระเป็นผู้สงบ ลักษณะของการทอดตาต่ำ คือลักษณะของผู้สงบ ไม่วอกแวกไปสู่อารมณ์อื่น แต่ขณะเดียวกันบางทางก็ทำในลักษณะที่ว่า พระองค์ท่านทอดพระเนตรลงมาดูสัตว์โลกต่าง ๆ เพื่อที่จะได้รู้ว่าสมควรจะช่วยเหลือใคร สงเคราะห์ใครบ้าง อันนั้นถือว่าเป็นปริศนาธรรมส่วนใหญ่เขาตีความตามระดับกำลังใจของตัว กำลังใจสูงก็ตีความเป็นธรรมลึกซึ้ง กำลังใจต่ำก็ตีความเป็นธรรมที่ตื้นหน่อย
      ถาม :  เคยพบคนที่ทำความชั่วไม่ขึ้นบ้างหรือไม่ ?
      ตอบ :  เจอ...! คนประเภทชิงหมาเกิด ทำความชั่วไม่ขึ้นหรอก เมื่อครู่คุยกับโยมคณะหนึ่งว่า “มีคนบางประเภทเป็นเทวดา เป็นพรหมอยู่ข้างบน แล้วขอลงมาเกิดก่อน จะต้องแย่งโควตาคนอื่นเขาเกิด แล้วต้องผ่านการรับรองจากผู้ใหญ่ คือเทวดาชั้นผู้ใหญ่ข้างบน เพื่อจะได้เป็นผู้ควบคุมไว้มีอยู่เยอะ คนทำคุณคนไม่ขึ้นไม่พอ นี่ทำชั่วไม่ขึ้นด้วย
      ถาม :  การที่บางท่านมีความรู้ แต่ทำเหมือนไม่รู้ มีข้อดีอย่างไรบ้าง ?
      ตอบ :  อย่างน้อย ๆ คนไม่หมั่นไส้ (หัวเราะ)
      ถาม :  ผมสงสัยว่า “เวลาที่ยุงตายไปด้วยเหตุผลของเรา และในทันทีนั้นเราตั้งจิตว่า ยุงที่ตายไปนี้ บุญใดที่เรามี ขอให้ท่านมีส่วนในบุญของเราทั้งหมด เมื่อเขาตายนั้น เขาสามารถรับบุญได้ไหมครับ ?
      ตอบ :  ถ้าหากว่าเขาไม่ไปเกิดใหม่ทันที แล้วเขายินดี คือไม่มาโกรธว่า “เฮ้ย...มึงทุบกูตายนี่หว่า...! มันตบกูตายนี่หว่า...! มึงฉีดยาใส่กูนี่หว่า...!” ถ้าเขาไม่ไปเกิดใหม่ทันที แล้วมีโอกาสโมทนา เขาจะได้รับผลอันนั้น
      ถาม :  คำว่า “บุญพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นอัปมาโณ” บุญของสิ่งใดมีค่าสูงสุด ? และการนึกถึงบุญอย่างใดอย่างหนึ่ง จะมีผลพร้อมกับบุญอีกอย่างหนึ่งหรือไม่ ? หรือแล้วแต่กำลังใจที่ทำ ?
      ตอบ :  พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จริง ๆ เหมือนกับเชือกเส้นหนึ่ง ที่ประกอบจากเชือกเล็กอีก ๓ เส้น ควั่นเกลียวกันขึ้นมา พระพุทธเจ้ามาจากพระธรรม เมื่อรู้พระธรรมแล้วนำไปสั่งสอนผู้ปฏิบัติธรรมเป็นพระสงฆ์ พระสงฆ์คือสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ดำเนินตามรอยของพระธรรมที่ท่านตรัสสั่งสอนมา จริง ๆ แล้ว ๓ อย่างนี้ อันใดอันหนึ่งทิ้งกันไม่ได้
              แต่เนื่องจากว่า ถ้าหากว่าแยกแยะละเอียดแล้ว มีทั้งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า “ถ้าหากว่าปฏิบัติในพุทธานุสติ จะเข้าถึงพระนิพพานได้ง่ายที่สุด ที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุด คือพระพุทธเจ้าไม่อยู่ที่ไหน นอกจากพระนิพพาน” ถ้าใจเราเกาะท่าน ก็คือเราเกาะพระนิพพาน แต่ว่าต้องคิดให้เป็นนะ…! ถ้าคิดไม่เป็นก็พระพุทธเจ้าอยู่ในโบสถ์ พระพุทธเจ้าอยู่บนหิ้งใช่ไหม ? ต้องพระพุทธเจ้าอยู่บนพระนิพพาน
      ถาม :  “ค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน” ไม่ทราบว่า ใครเป็นคนแต่งขึ้นมา คำพูดนี้มีผลต่อแนวคิดของคนไทยมาก ทำให้คิดว่า “คุณค่าของคนสูงสุด อยู่ที่ใครทำงานมากที่สุด ถ้าใครทำงานหนักไม่มีวันหยุดเลย ๗ วัน ก็จะดูสูงค่ามาก และเป็นที่ชื่นชมมาก ทำให้มีบุคคลบางคนนำมาดูถูกดูหมิ่นซึ่งบุคคลในศาสนา คนมีศีล คนปฏิบัติธรรมว่า เป็นพวกไร้คุณค่า ไม่มีความหมาย เพราะไม่ยอมทำมาหากิน” โดยบทสรุปแล้ว เราควรยึดถือการทำมาหากิน ว่าเป็นสรณะอันสูงสุดของชีวิตหรือไม่ ?
      ตอบ :  ควรจะยึด ไม่ยึดก็ตาย พระพุทธเจ้าท่านก็สอนให้พระทำมาหากิน เขาเรียกว่า “สัมมาอาชีวะ” แต่เพียงแต่ว่าท่านสอนให้หากินด้วยการขอเขาให้เป็นขอทาน จะได้รู้จักเจียมในสถานะของตน ไม่ไปยึดมั่นถือมั่น ไม่มีทิฐิมานะ แต่ในขณะเดียวกัน คำว่า “ค่าของคน อยู่ที่ผลงาน” ใครเป็นคนกล่าวขึ้น ใครเป็นคนเขียนขึ้น อาตมาก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่ว่าเป็นคำที่เขากล่าวต่อ ๆ กันมานานแล้ว ส่วนปัจจุบันนี้ เขาบอกว่า “ค่าของคน อยู่ที่คนของใคร” ถ้าเส้นคุณใหญ่ คุณก็ได้ไปเร็วหน่อย
      ถาม :  มีคนเขาถามว่า “เมื่อก่อนเขาบูชาคาถาพระปัจเจกพุทธเจ้า วันละ ๙ จบ ต่อมาเขาเห็นว่าพร่องไปด้วยความโลภ และมีอารมณ์ฝืน” เขาเลยเปลี่ยนใจ เขาบอกว่า “อารมณ์ในพุทธานุสติมีความคล่องตัวมากขึ้น เป็นอารมณ์ไม่ฝืน อารมณ์ปกติ อารมณ์คงที่” เขาสงสัยว่า “การที่ไม่ได้ปฏิบัติในคาถาที่เคยทำนั้น จะผิดหรือไม่ ? และการปฏิบัติของเขาถูกต้องหรือไม่ ?”
      ตอบ :  คาถาจริง ๆ แล้วเป็นเครื่องโยงใจให้เป็นสมาธิทั้งนั้น แล้วอย่าลืมว่า คาถาพระปัจเจกพุทธเจ้า คือพระปัจเจกพุทธเจ้าท่านบอกมา ถือเป็นพุทธานุสติอย่างหนึ่ง ถ้าหากเขาเข้าใจว่า คาถานั้นพระพุทธเจ้าเป็นผู้บอก ถึงจะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านก็เป็นพระพุทธเจ้าเหมือนกัน ตอนท่องคาถาจิตใจก็ยึดเกาะพระพุทธเจ้าเป็นปกติจะง่ายกว่า เพราะว่าผลพิเศษของคาถามี แต่การที่เราภาวนาพุทธานุสติอย่างเดียว ได้ผลพิเศษที่นอกเหนือจากประเภทที่ว่าจิตใจสงบ ปัญญาเกิดหรือาจจะเข้าถึงความหลุดพ้นได้ ก็จะเกิดแค่นั้น แต่ถ้าเราทำพุทธานุสติในคาถาพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือคาถาเงินล้าน ก่อนที่จะบรรลุบางทีอาจจะรวยเสียก่อน สร้างความสะดวกสบายให้แก่ตนและครอบครัวได้ จริง ๆ แล้วเป็นพุทธานุสติเหมือนกัน เพียงแต่ว่าบางทีของเราไม่ได้นึกถึง